ศาลสูงสุดอังกฤษ ชี้ขาดนิยาม เพศหญิง=เพศกำเนิด ไม่กระทบสิทธิคนข้ามเพศ

ศาลสูงสุดสหราชอาณาจักรชี้ขาดนิยาม ผู้หญิง ตามกฎหมายความเท่าเทียมปี 2010 ต้องอิงเพศกำเนิด กระทบการเข้าถึงพื้นที่เฉพาะเพศ ยืนยันไม่ลิดรอนสิทธิคนข้ามเพศด้านอื่น – EHRC ขานรับ เตรียมปรับแก้แนวปฏิบัติ
วันที่ 16 มกราคม 2568 ศาลสูงสุดแห่งสหราชอาณาจักรมีคำตัดสินครั้งประวัติศาสตร์ กำหนดนิยามคำว่า “ผู้หญิง” ภายใต้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมปี 2010 (Equality Act 2010) ว่าต้องอ้างอิงตามเพศทางชีววิทยาโดยกำเนิด คำวินิจฉัยนี้ส่งสัญญาณถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางต่อการตีความกฎหมาย การเข้าถึงบริการ และพื้นที่สำหรับเพศเดียว (single-sex services and spaces) ในประเทศ
ในการตีความกฎหมายสำคัญฉบับนี้ ผู้พิพากษาได้ชี้ขาดว่า คำว่า “เพศ” (sex) ที่ใช้ใน พ.ร.บ. ความเท่าเทียมฯ นั้น มีความหมายในลักษณะ “ทวิลักษณ์” (binary) คือมีสองเพศ และถูกกำหนดโดยปัจจัยทางชีววิทยาเมื่อแรกเกิด ซึ่งหมายความว่า บุคคลที่ไม่ได้เกิดมาเป็นเพศหญิงโดยกำเนิด ไม่สามารถได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายที่ พ.ร.บ. นี้มอบให้แก่สถานะผู้หญิงได้ เพียงแค่การมีใบรับรองการรับรองเพศสภาพ (Gender Recognition Certificate – GRC)
คำตัดสินฉบับสมบูรณ์ซึ่งมีความยาวถึง 88 หน้า ได้ถูกอ่านสรุปโดย ลอร์ด ฮอดจ์ (Lord Hodge) ประธานคณะผู้พิพากษา ใช้เวลาประมาณ 17 นาที ถือเป็นการยุติข้อถกเถียงทางกฎหมายในประเด็นนี้ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตาม ศาลย้ำว่าคำวินิจฉัยนี้ไม่ได้เพิกถอนหรือลดทอนความคุ้มครองที่ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมฯ มอบให้แก่บุคคลข้ามเพศ (transgender people) จากการถูกเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่าง ๆ พวกเขายังคงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้เช่นเดิม
นอกจากนี้ ศาลยังระบุว่า ศาลไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินหรือให้น้ำหนักคำนิยามเหล่านี้ในบริบทของการถกเถียงสาธารณะที่กว้างกว่าตัวบทกฎหมาย แต่เป็นการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มีอยู่
ดร. ไมเคิล ฟอแรน (Dr Michael Foran) อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชนจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ซึ่งงานเขียนของเขาถูกอ้างอิงในศาล กล่าวว่า คำตัดสินนี้ “พยายามตอบคำถามเกี่ยวกับความหมายของคำว่า เพศ ชาย และหญิง ใน พ.ร.บ. ความเท่าเทียมฯ” เขาชี้ว่าศาลสูงสุดได้ระบุอย่าง “เป็นเอกฉันท์และหนักแน่น” (resoundingly and unanimously) ว่าคำเหล่านี้ในบริบทของกฎหมายฉบับนี้ ผูกโยงกับชีววิทยา ไม่ใช่ใบรับรอง GRC
ดร. ฟอแรน ย้ำถึงความสำคัญว่า “นี่ไม่ได้หมายความว่าคนข้ามเพศสูญเสียความคุ้มครองทางกฎหมายไป… พวกเขายังได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายความเท่าเทียมของเรา”
เขากล่าวเสริมว่า “คำตัดสินนี้ทำให้ชัดเจนว่า การกีดกันชายทางชีววิทยาออกจากบริการสำหรับผู้หญิงเท่านั้น (female-only services) เช่น ห้องน้ำสาธารณะส่วนใหญ่ เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หากบริการเฉพาะเพศหญิงเหล่านั้นเป็นไปตามเงื่อนไขข้อยกเว้นที่ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมฯ กำหนดไว้”
ด้านคณะกรรมการความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชน (Equality and Human Rights Commission – EHRC) โดย บารอนเนส คิชเวอร์ ฟอล์คเนอร์ (Baroness Kishwer Falkner) ประธานคณะกรรมการฯ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีต่อ “ความชัดเจน” (clarity) ที่คำตัดสินนี้นำมา และระบุว่าจะส่ง “ผลกระทบสำคัญต่อการตีความกฎหมายความเท่าเทียมของสหราชอาณาจักร” (significant implications for the interpretation of Britain’s equality laws)
เธอกล่าวว่าคำตัดสินนี้ “ช่วยแก้ไขปัญหา” ที่ EHRC เคยหยิบยกและให้คำแนะนำต่อรัฐบาลมาก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึง “ความท้าทายในการรักษาพื้นที่สำหรับเพศเดียว และสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความรักต่อเพศเดียวกัน (same-sex attracted persons) ในการรวมกลุ่มสมาคม” EHRC จะเร่งดำเนินการ “อย่างรวดเร็ว” (at pace) เพื่อนำผลจากคำตัดสินนี้ไปปรับปรุงประมวลแนวปฏิบัติ (code of practice) ฉบับใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ให้บริการ หน่วยงานสาธารณะ และองค์กรต่างๆ เข้าใจและปฏิบัติตามหน้าที่ภายใต้ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมฯ ได้อย่างถูกต้อง โดยคาดว่าจะเสนอต่อรัฐสภาก่อนปิดสมัยประชุมฤดูร้อน

ดังที่ได้รายงานไปแล้ววานนี้ ข้อพิพาททางกฎหมายนี้มีจุดเริ่มต้นจากการที่รัฐบาลสกอตแลนด์ได้ออกนโยบายกำหนดโควตาตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารของหน่วยงานภาครัฐ โดยรวมเอาผู้หญิงข้ามเพศเข้าไปด้วยเพื่อสร้างความสมดุลทางเพศ
ซึ่งนโยบายดังกล่าวถูกคัดค้านและนำไปสู่การฟ้องร้องโดยกลุ่ม For Women Scotland ซึ่งยืนยันว่าการคุ้มครองตามเพศที่กฎหมายระบุไว้ ควรจำกัดเฉพาะผู้ที่เกิดมาเป็นเพศหญิงโดยกำเนิดเท่านั้น ประเด็นการตีความคำว่า ผู้หญิง ในกฎหมายจึงถูกส่งต่อมาจนถึงการพิจารณาของศาลสูงสุดในที่สุด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ศาลฎีกาอังกฤษ จ่อชี้ขาดนิยาม ‘ผู้หญิงแท้’ ตามกฎหมาย หวั่นกระทบสิทธิหญิงข้ามเพศ
- ทำเนียบขาวเผย “ทรัมป์” สุขภาพแข็งแรง สติปัญญาเยี่ยม ชนะกอล์ฟบ่อย
- ช็อกเยอรมนี หมอฆ่าคนไข้ 15 ศพ ฉีดยาให้ตาย เผาอำพราง ตร.หวั่นเหยื่อเพิ่ม
อ้างอิง: BBC