ข่าว

นพ.วีระพันธ์ เตือนวิกฤตสาธารณสุขไทยเสี่ยงล่มสลาย “ปีหน้าหมอลาออกกันหมด!”

แพทย์-พยาบาลแบกระบบทั้งประเทศ แต่รัฐกลับผลักเขาออกมาเงียบๆ นพ.วีระพันธ์ เตือน วิกฤตสาธารณสุขไทย หากไม่แก้ ปีหน้าหมอลาออกกันหมด

นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภาและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทวิทยา ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความกังวลอย่างหนักต่อสถานการณ์บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะการลาออกของแพทย์ในระบบราชการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมเตือนว่า “หากไม่รีบแก้ ปีหน้าหมอลาออกกันหมด” พร้อมระบุว่าทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร จนถึงเจ้าหน้าที่เวรเปล ต่างกำลังแบกรับภาระงานมหาศาลโดยไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ

ในโพสต์ดังกล่าว นพ.วีระพันธ์ชี้ให้เห็นปัญหาหลัก 6 ประการที่ทำให้แพทย์จำนวนมากตัดสินใจลาออกจากระบบ อาทิ การจ่ายค่าตอบแทนล่าช้า งานเอกสารที่มากเกินความจำเป็น ระบบบริหารภายในที่ไม่เป็นธรรม นโยบายส่วนกลางที่ไม่เข้าใจบริบทของหน้างาน ภาระผู้ป่วยข้ามแดนที่ไม่มีงบรองรับ และการไม่มีสิทธิ์เลือกสถานที่ทำงาน ส่งผลให้แพทย์ขาดแรงจูงใจและหมดไฟจากการทำงาน

นพ.วีระพันธ์ เสนอแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจ่ายเงินผ่านระบบอัตโนมัติ สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพกัน ออกแบบนโยบายจากข้อมูลหน้างานจริง วางระบบค่ารักษาผู้ป่วยข้ามแดน ลดภาระงานเอกสาร และปรับระบบจัดสรรแพทย์ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยย้ำว่า หากไม่เร่งฟังเสียงคนหน้างาน ระบบสาธารณสุขไทยอาจเผชิญภาวะวิกฤตจากการสูญเสียบุคลากรสำคัญอย่างเงียบ ๆ ในไม่ช้า

นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภาและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทวิทยา

ข้อความฉบับเต็มระบุว่า “หากไม่รีบแก้ ปีหน้าหมอลาออกกันหมด ไม่เชื่อผมก็รอดู!

บุคลากรสาธารณสุขไทยทุกคน… กำลังเหนื่อย

ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล เภสัช เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่เวรเปล จนถึงหมอทุกคนล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบสุขภาพไทยทุกคนล้วนเจอกับ “ภาระที่เพิ่มขึ้น” แต่ “แรงสนับสนุนกลับลดลง”

แต่ในโพสต์นี้ ผมขอเริ่มต้นจากกลุ่มที่หลายคนอาจคิดว่า “ดูแลตัวเองได้” อย่างแพทย์ ทั้งที่ความจริงแล้ว หมอก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังเหนื่อย ท้อ และ… “ลาออก”

หมอลาออกเพราะอะไร?

ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เป็นเพราะระบบทั้งระบบ “ไม่เห็นหัวคนทำงาน”

1. ทำงานแต่ไม่ได้รับเงินตรงเวลา
• ค่าตอบแทนที่ควรได้ เช่น เบี้ยกันดาร พตส.ค้างจ่าย 3-6 เดือน
• ต้องทำเอกสารซับซ้อน รอกรม รอจังหวัด
• ขณะที่หมอเอกชน เงินเดือนเข้าอัตโนมัติทุกสิ้นเดือน

2. ถูกกดทับจากภายในเอง
• แพทย์เฉพาะทางบางคนเลือกเคส ไม่รับคนไข้หนัก
• Intern แบกรับงานหนัก เครียด ขาดระบบพี่เลี้ยงที่แท้จริง
• ผู้บริหารโรงพยาบาล สสจ.ไม่สนใจดูแลน้อง

3. นโยบายส่วนกลางไม่เคยฟังเสียงจากพื้นที่จริง
• บังคับให้ รพ. 30 เตียงต้องมีหมอ 5 คน แต่ไม่ดูภาระงานจริง
• เทศกาลใหญ่หมอขึ้นเวร 72 ชั่วโมง ไม่มีคนเสริม

4. ภาระผู้ป่วยข้ามแดน ที่ไม่มีงบหรือแผนรองรับ
• รพ.ชายแดนต้องแบกภาระผู้ป่วยต่างด้าว
• รัฐไม่เจรจาหรือสนับสนุนอย่างจริงจัง

5. งานเอกสารมากเกินความจำเป็น
• HA, ตัวชี้วัด, paperless ที่กลับทำให้ “นิ้วล็อก”
• เอกสารล้นมือ จนไม่มีเวลารักษาคน

6. ไม่มีสิทธิเลือกที่ทำงาน
• แพทย์ข้าราชการถูกกระจายแบบสุ่ม อยู่ห่างบ้านโดยไม่มีแรงจูงใจ
• บางคนอยู่ไกลครอบครัวนานหลายปี จนหมดไฟ

แล้วเราจะแก้ยังไง?

1. จ่ายค่าตอบแทนตรงเวลา โปร่งใส ใช้ง่าย
• ผ่านกรมบัญชีกลางโดยตรง
• ใช้ระบบโอนอัตโนมัติ ไม่ผ่านระบบซับซ้อน

2. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพกัน
• แพทย์เฉพาะทางต้องรับผิดชอบจริง
• Intern ต้องได้รับการปกป้องและพัฒนา ไม่ใช่แบกงาน
• ผู้บริหารต้องฟังเสียงผู้ปฏิบัติงาน

3. นโยบายต้องออกแบบจาก “พื้นที่จริง”
• ใช้ข้อมูลประชากรแฝง ภาระงานจริง ไม่ใช่แค่ทะเบียนบ้าน
• ก่อนประกาศใช้นโยบาย ควรทดลองและฟังเสียงจากหน้างาน

4. วางระบบดูแลผู้ป่วยข้ามแดนให้เป็นธรรม
• มีระบบประกันหรือเจรจาค่ารักษาข้ามแดน
• ไม่ปล่อยให้ รพ.ชายแดนทำงานฟรี

5. ลดภาระงานเอกสารที่ไม่จำเป็น
• เหลือเฉพาะตัวชี้วัดที่สะท้อนคุณภาพชีวิตจริง
• ให้ระบบช่วยงาน ไม่ใช่ให้หมอเป็นคนกรอกทุกอย่าง

6. ปรับระบบสรรหาแพทย์แบบมีแรงจูงใจ
• ให้เลือกพื้นที่ได้มากขึ้น พร้อมสิทธิประโยชน์ เช่น วันลา, คะแนนวิชาชีพ, สวัสดิการพิเศษ
• เขตกันดารต้องได้มากกว่าคำชม ต้องได้ “สิ่งที่คนอื่นไม่ได้”

บุคลากรสาธารณสุขทุกคน… กำลังทุ่มเทสุดแรง
แต่ระบบที่เขาอยู่… กำลังผลักให้พวกเขาถอยออกมาเงียบๆ

อย่าปล่อยให้ “คนรักษาคน” ต้องออกจากระบบ
เพราะรู้สึกว่าไม่มีใครรักษาเขา

ถึงเวลาฟังเสียงคนหน้างาน
ถึงเวลารักษาระบบให้รักษาคนได้อย่างยั่งยืน

ผมในฐานะแพทย์และวุฒิสมาชิกยืนยันว่าจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ครับ”

อ่านข่่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button