ข่าว

สตง. ยัน ไม่รู้บริษัทจีน สร้างตึกให้จนถล่ม โต้คนด่าไม่รู้จริง ทำไมต้องสร้างตึกสูง

สตง. ยัน ไม่รู้บริษัทจีน สร้างตึกให้จนถล่ม อิตาเลียนไทย ออกหน้ามาตลอด โต้ คนด่าไม่เข้าใจ ทำไมต้องสร้างตึกสูง

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 คณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ และกองทุนของสภาผู้แทนราษฎร มี นายสัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธาน ได้เชิญตัวแทนจาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณี อาคารสำนักงานแห่งใหม่ของ สตง. ถล่มระหว่างก่อสร้าง ซึ่งกำลังเป็นที่จับตาอย่างกว้างขวางในสังคม

แม้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะไม่ได้มาร่วมชี้แจงด้วยตนเอง แต่ได้มอบหมายให้ นายสุทธิพงษ์ บุญนิธ และ นางพิมพา วภักดิ์เพชร รองผู้ว่าฯ สตง. พร้อมคณะ มาร่วมชี้แจงต่อกรรมาธิการ โดยถือเป็นครั้งแรกที่ สตง. ออกมาเปิดข้อมูลเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในที่ประชุมว่า สตง.เต็มใจมาชี้แจงเพื่อเปิดข้อเท็จจริง เพราะมั่นใจในกระบวนการทุกขั้นตอน พร้อมเปรียบเปรยว่า “ถนนสุดสายวิ่งมาที่ สตง. แมลงวันบินผ่านก็โดนด่า” ก่อนจะเล่ารายละเอียดโครงการว่า เป็นโครงการขนาดใหญ่พิเศษ ต้องมีการจ้างออกแบบและควบคุมงานอย่างมืออาชีพ โดยการออกแบบก็ได้พิจารณารองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ออกแบบโดยตรง

สตง.ยังตอบโต้คำวิจารณ์ที่ว่าทำไมต้องสร้างอาคารใหญ่โต ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่ไม่มากนัก โดยระบุว่า “คนพูดแบบนี้ไม่มีความรู้จริงๆ เพราะ สตง. มีพนักงานทั่วประเทศรวมกว่า 4,000 คน ไม่ใช่แค่ 500 คน” พร้อมยืนยันว่า ทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมายและโปร่งใส

นายสุทธิพงษ์ ชี้แจงว่า มีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกบริษัทออกแบบและควบคุมงานโดยเปิดกว้างให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการเชิญบริษัทถึง 24 ราย แต่มีผู้เสนอราคา 3 ราย โดยผู้ชนะคือ บจก.ฟอ-รัม อาร์คิเทค และ บจก.ไมนฮาร์ท ประเทศไทย ที่ได้คะแนนสูงสุด 91.12 คะแนน จึงได้รับการว่าจ้างในวงเงิน 73 ล้านบาท

สำหรับผู้รับเหมาก่อสร้าง ตัวแทน สตง. ระบุว่า มีผู้เข้าร่วมประมูล 16 ราย และผู้ชนะคือ กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งไม่มีหลักฐานการฮั้ว และเป็นบริษัทที่มีทุนและเทคโนโลยีจากจีน “อิตาเลียนไทย” เป็นผู้ดำเนินงานหลัก ซึ่งเป็นบริษัทอันดับต้น ๆ ของประเทศ และ สตง. มั่นใจในมาตรฐาน

นอกจากนี้ ยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) เพื่อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบด้วย

ผู้แทน สตง. กล่าวต่อว่า โครงการมีกำหนดก่อสร้าง 3 ปี แต่มีการขยายเวลา 2 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และมีการปรับแบบเพิ่มเติม กระทั่งล่าสุดผ่านมา 4 ปีแล้ว แต่สร้างได้เพียง 33% เพราะผู้รับเหมามีปัญหาเรื่องทุน ทำให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุมีมติให้ ยกเลิกสัญญาเมื่อ 15 มกราคม 2568 และกำลังเสนอผู้มีอำนาจดำเนินการ ก่อนเกิดเหตุอาคารพังถล่ม

ย้ำว่า ไม่เคยรู้เรื่องบริษัทจีนที่มาร่วม เพราะอิตาเลียนไทยออกหน้ามาตลอด สตง.ยังดีใจด้วยซ้ำที่ได้บริษัทระดับประเทศมาเป็นผู้ดำเนินการ

สรุปไทม์ไลน์เหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่ม

  • 28 มีนาคม 2568: เกิดแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ ส่งผลให้อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่ม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

  • 29 มีนาคม 2568: เจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งค้นหาผู้สูญหายใต้ซากอาคาร

  • 30 มีนาคม 2568: สตง. ชี้แจงว่าการก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมาย

  • 31 มีนาคม 2568: มีการปรับตัวเลขผู้เสียชีวิตและสูญหายอย่างต่อเนื่อง

  • 1 เมษายน 2568: ดราม่าทัวร์ลงสตง หลังว่อนจดหมายภายในองค์กร สูดลมหายใจลึกๆ

  • 2 เมษายน 2568: เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าเก็บวัตถุพยานในจุดเกิดเหตุ

  • 3 เมษายน 2568: การค้นหาผู้สูญหายยังคงดำเนินต่อไป โดยมีการใช้เทคโนโลยีและสุนัขกู้ภัยช่วยในการค้นหา

  • 4 เมษายน 2568: มีการวิเคราะห์และสรุปปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของการถล่ม เช่น การออกแบบอาคาร การควบคุมงานก่อสร้าง คุณภาพวัสดุ และผลกระทบจากแผ่นดินไหว

  • 5 เมษายน 2568: สื่อมวลชนและสังคมยังคงติดตามความคืบหน้าของการสืบสวนและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างใกล้ชิด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button