อย่ากด! อีเมลปลอม Netflix ขู่บล็อก หลอกโอนเงิน แนะวิธีสังเกต

เพจดัง Drama-addict เตือนภัย มิจฉาชีพใช้ชื่อ Netflix หลอกลวง ส่งอีเมลข่มขู่ หากไม่กดลิงก์จ่ายเงินด่วนจะระงับบัญชี ห้ามกดลิงก์ที่แนบมาเด็ดขาด
ภัยออนไลน์มามุกใหม่ไม่หยุดหย่อน ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้ออกมาโพสต์ข้อความเตือนภัยประชาชนอย่างเร่งด่วนวันนี้ 10 เม.ย. 68 ให้ระมัดระวังกลลวงล่าสุดของมิจฉาชีพ หรือ สแกมเมอร์ ที่กำลังใช้ อีเมลปลอม แอบอ้างชื่อบริการสตรีมมิ่งยอดนิยมอย่าง Netflix เพื่อหลอกลวงผู้ใช้บริการ
“ใครได้รับอีเมลแบบนี้อ้างว่าส่งจาก Netflix ขู่ว่าจะบล็อกการให้บริการถ้าไม่รีบจ่ายเงิน อย่ากด ลิงค์ที่มันแนบมาเด็ดขาด พวกนี้คือมิจฉาชีพ”

เนื้อหาในอีเมลปลอมดังกล่าว จะมาในรูปแบบการแจ้งเตือนปัญหาบัญชี และใช้ ข้อความในเชิงข่มขู่ เช่น อ้างว่าหากผู้รับอีเมลไม่รีบดำเนินการ กดลิงก์ที่แนบมาเพื่อชำระเงินโดยด่วน บัญชี Netflix จะถูกบล็อกหรือระงับการใช้งาน ซึ่งสร้างความตกใจและอาจทำให้ผู้ที่ได้รับหลงเชื่อและกดลิงก์เข้าไป
ทางเพจ Drama-addict ได้ย้ำว่า อีเมลลักษณะนี้เป็นของ แก๊งมิจฉาชีพอย่างแน่นอน และ ห้ามกดลิงก์ที่มันแนบมาเด็ดขาด เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะนำไปสู่เว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกเอารหัสผ่าน ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลบัตรเครดิต หรืออาจติดตั้งมัลแวร์ลงในเครื่องได้

เปิดนโยบายและวิธีตรวจสอบ
ปกติแล้ว Netflix จะไม่ส่งอีเมลเพื่อข่มขู่ หรือบังคับให้ผู้ใช้คลิกลิงก์เพื่อชำระเงิน หรืออัปเดตข้อมูลการชำระเงินโดยตรงในอีเมล เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกระงับบัญชี
แม้ Netflix อาจมีการแจ้งเตือนหากเกิดปัญหาการชำระเงินจริง (เช่น บัตรเครดิตหมดอายุ) แต่จะแนะนำให้ผู้ใช้ ล็อกอินเข้าสู่บัญชีของตนเองโดยตรง ผ่านเว็บไซต์ทางการ หรือผ่านแอปพลิเคชันที่ปลอดภัยเท่านั้น เพื่อตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลการชำระเงิน
วิธีสังเกตอีเมลปลอมที่แอบอ้างเป็น Netflix
1. อีเมลหลอกลวงมักใช้คำทักทายกว้างๆ เช่น “Dear Customer” แทนที่จะระบุชื่อบัญชีของคุณ
2. มิจฉาชีพมักใช้ภาษาที่ไม่เป็นธรรมชาติ มีข้อผิดพลาดทางไวยากรณ์ หรือการสะกดคำผิด
3. การใช้ข้อความที่สร้างความกลัว บีบบังคับให้ต้องดำเนินการทันที เป็นสัญญาณอันตราย
4. การขอข้อมูลส่วนตัว/การเงินผ่านลิงก์ Netflix จะไม่ทำเช่นนี้เด็ดขาด
5. หากได้รับอีเมลน่าสงสัย อย่าคลิกลิงก์ใด ๆ ให้เข้าเว็บไซต์ netflix.com หรือเปิดแอป Netflix ด้วยตนเองโดยตรง แล้วล็อกอินเพื่อตรวจสอบสถานะบัญชี การชำระเงิน หรือการแจ้งเตือนต่าง ๆ จะปลอดภัยที่สุด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โดนแล้ว! นายกฯ ลงบันทึกประจำวัน “ไฮโซเก๊” ใช้ไลน์ปลอมแอบอ้าง
- ข่าวปลอม อย่าแชร์มั่ว ห้ามเที่ยวทะเล ผวาสึนามิ ชี้ เดาสุ่มเลื่อนลอย
- ข่าวปลอม ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ทุกอาชีพ ไม่เช็กบูโร วงเงินสูงสุด 2 แสน