ข่าวต่างประเทศ

ภรรยาช็อก สามีวัย 40 ปวดหู เข้านอนไม่กี่ชม. ก่อนดับสลด เหตุเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

เรื่องจริงสุดสลด สามีวัย 40 ปวดหู เสียชีวิตในไม่กี่ชั่วโมงจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภรรยาเศร้าหนักจนร่างกายเป็นอัมพาตชั่วขณะ ก่อนลุกขึ้นสู้อีกครั้ง ผันตัวเป็นนักบำบัดช่วยผู้อื่น

สำนักข่าวต่างประเทศ mirror รายงานถึงเรื่องราวอันน่าสะเทือนใจที่เกิดขึ้นครอบครัวหนึ่ง เมื่อ “ลู ไฮนส์” (Lou Hynes) คุณแม่ลูกสามชาวอังกฤษ วัย 48 ปี ได้ออกมาเปิดเผยประสบการณ์ใจสลาย หลังจากต้องสูญเสีย “พีท” (Pete) สามีอันเป็นที่รัก ในวัยเพียง 40 ปี ไปอย่างกะทันหัน ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เพียงเพราะอาการ “ปวดหู”

ก่อนที่อีกราว 15 เดือนต่อมา ความเศร้าโศกที่สะสมได้ส่งผลต่อเธออย่างรุนแรง จนทำให้ร่างกายของเกิดภาวะ “อัมพาต” ชั่วขณะ

เหตุการณ์อันน่าเศร้าเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 2022 เมื่อ ‘พีท’ สามีของลู บ่นว่ามีอาการปวดหู ก่อนจะจึงขอตัวไปนอนพัก แต่แล้วอาการของเขาก็ทรุดลงอย่างรวดเร็วและหมดสติไป จากนั้นภรรยาจึงรีบเรียกรถพยาบาล เพื่อนำตัวเขาส่งโรงพยาบาล น่าเศร้าที่สายเกินไป แพทย์ไม่สามารถยื้อชีวิตเขาไว้ได้ และประกาศว่าพีทอยู่ใน “ภาวะสมองตาย” ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา โดยสาเหตุเกิดจาก “โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียเมนิงโกค็อกคัส” (Bacterial Meningococcal Meningitis) ชนิดที่พบได้ยาก ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงและมีของเหลวสะสมรอบสมองและไขสันหลัง

ภรรยาช็อก สามีวัย 40 ปวดหู เข้านอนไม่กี่ชม. ก่อนดับสลด เหตุเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ภาพจาก : mirror

โลกทั้งใบของครอบครัวไฮนส์พังทลายลงในวันเดียว ลูต้องกลายเป็นแม่ม่าย และลูก ๆ ทั้งสามคน อย่าง ‘วิล’ วัย 14 ปี ลูกติดของเธอกับสามีเก่า ‘ชาร์ลี’ วัย 8 ปี และ ‘มาทิลดา’ วัย 6 ปี ต้องกำพร้าพ่อไปตลอดกาล

หลังการจากไปของพีท ลูพยายามฝืนความรู้สึกและทำหน้าที่แม่ต่อไปอย่างเข้มแข็ง ดูแลลูก ๆ ให้ไปโรงเรียนตรงเวลา จัดการโปรเจกต์ต่อเติมบ้านที่ค้างอยู่ เธอยอมรับว่าเหมือนอยู่ในภาวะช็อกนานถึง 15-16 เดือน พยายามกดทับความเศร้าของตัวเอง และแบกรับความเศร้าของทุกคนในครอบครัว

จนกระทั่งสุดสัปดาห์วันแม่ (Mother’s Day) ในปีถัดมา ซึ่งเป็นวันแม่ครั้งแรกที่ไม่มีพีทอยู่เคียงข้าง ความเศร้าโศกที่เธอพยายามเก็บกดไว้ก็ปะทุออกมาอย่างรุนแรงในรูปแบบที่เธอไม่เคยคาดคิด ร่างกายของเธอเกิดภาวะ “อัมพาตทางจิตใจ” (Psychological Paralysis) โดยไม่มีสาเหตุทางระบบประสาท

“งานก่อสร้างเสร็จพอดี ฉันได้อยู่บ้านคนเดียวไม่กี่สัปดาห์ ตอนนั้นแหละที่มันถาโถมเข้ามา สุดสัปดาห์วันแม่นั้น ฉันลุกจากเตียงไม่ได้เลย ไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน ลูก ๆ เข้ามาคุยกับฉัน ปากพวกเขาขยับ แต่ฉันไม่ได้ยินคำพูดเลย และที่แย่คือ ฉันขยับตัวไม่ได้จริง ๆ” ลู เล่าเช่นนั้น

ลูกชายคนโตของเธอรีบโทรหาคนรู้จักให้มาช่วย ในขณะที่คุณแม่ของลูก็เข้ามาช่วยดูแลหลาน ๆ “ทุกคนเป็นห่วงฉันมาก พยายามเข้ามาพูดคุยให้ฉันลุกขึ้น แต่ฉันทำไม่ได้จริง ๆ ลูก ๆ กลัวมาก เพราะเพียง 15 เดือนก่อน พ่อของพวกเขาก็ป่วยอยู่บนเตียงเดียวกันนี้ พวกเขาไม่อยากเสียฉันไปอีกคน”

“ตอนนั้นฉันรู้สึกเหมือนใครจะพูดหรือทำอะไรฉันก็ไม่สนใจแล้ว ฉันหลุดลอยไปหมด ร่างกายบังคับให้ฉันนอนนิ่งอยู่บนเตียงตลอดสุดสัปดาห์นั้น”

หลังจากฟื้นตัวจากภาวะอัมพาตทางจิตใจ ลูได้เรียนรู้จากประสบการณ์อันเลวร้ายและหาทางนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เดิมที ลูเคยทำงานที่ Unilever ซึ่งเป็นที่ที่เธอพบกับพีทในปี 2012 ก่อนจะลาออกในปี 2020 เพื่อไปเรียนเป็นโค้ชด้านอาชีพ (Careers Coach) ซึ่งพีทคือผู้ที่สนับสนุนเธอมาตลอด

ประสบการณ์การสูญเสียครั้งใหญ่นี้ ได้จุดประกายให้เธอต่อยอดความรู้เดิม โดยการผันตัวเองไปศึกษาและกลายเป็น “นักบำบัดการศึกษาด้านความสูญเสีย” (Grief Edu-Therapist) ที่มีความเข้าใจในหัวใจของผู้ที่เผชิญความโศกเศร้าอย่างลึกซึ้ง

ภรรยาช็อก สามีวัย 40 ปวดหู เข้านอนไม่กี่ชม. ก่อนดับสลด เหตุเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ภาพจาก : mirror

เข้าใจ “ความเศร้า” ที่แก้ไขไม่ได้ แต่รับมือได้

ลู อธิบายว่า “ความเศร้าโศก (Grief) ไม่เหมือนภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ที่เราจะ ‘แก้ไข’ ให้หายขาดได้ แต่แน่นอนว่าเราทุกคนพยายามจะแก้ไขมัน ซึ่งนั่นทำให้คนมักพูดปลอบใจด้วยความตั้งใจดีแต่ผิดประเด็น เช่น อย่างน้อยเขาก็ไม่ทรมาน หรือ อย่างน้อยเขาก็ไปสู่ภพภูมิที่ดีแล้ว แต่สิ่งแรกที่เราต้องตระหนักคือ “มันไม่มีอะไรแก้ไขได้”

“ประการที่สองคือ อารมณ์ต่าง ๆ ที่มาพร้อมความเศร้า ทั้งความเจ็บปวด โกรธ ไม่พอใจ รู้สึกผิด โศกเศร้า อาลัยอาวรณ์ สังคมมักบอกเราว่าอย่าแสดงมันออกมา เราอึดอัดใจอย่างมากเมื่ออารมณ์เหล่านี้ผุดขึ้นมา และไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไร”

“ฉันเปรียบเปรยว่า เรามีกระเป๋าใบหนึ่งที่เราใส่ความเจ็บปวด ความโกรธ ความรู้สึกผิด ความกลัว ความละอายใจ และความรู้สึกอื่น ๆ ลงไป แล้วแบกมันไปไหนมาไหน กระบวนการของฉันคือการพาผู้คน ‘แกะสัมภาระ’ ในกระเป๋าใบนั้นออกมา ฉันได้เห็นความรู้สึกเบาสบายปรากฏขึ้นบนใบหน้าของพวกเขา มันอาจไม่ได้ขจัดทุกอย่างออกไปหมด แต่จะมอบเครื่องมือให้พวกเขาสามารถ ‘ลดน้ำหนัก’ ของกระเป๋าลงได้ และหากต้องเผชิญความสูญเสียอีกครั้ง พวกเขาจะพร้อมรับมือได้ดีขึ้น”

แม้ว่าวันแม่อาจกลายเป็นวันแห่งความทรงจำที่ยากลำบาก แต่ลูเรียนรู้ที่จะรับมือกับมัน เธอยังคงรู้สึกถึงการไม่มีอยู่ของพีท แต่ก็มองเห็นความสุขเล็ก ๆ จากความตั้งใจของลูก ๆ ที่จะทำให้เธอรู้สึกพิเศษ เธอยอมรับว่าการเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นเรื่องยาก แต่คำขอบคุณเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็มีความหมายอย่างยิ่ง

ลูยังคงรู้สึกถึงแรงสนับสนุนจากพีทผู้ล่วงลับในงานที่เธอทำอยู่ “เขาคือเชียร์ลีดเดอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฉันเสมอ ฉันได้ยินเสียงเขาพูดกับฉันตลอดเวลา และตอนนี้กับงานที่ฉันทำอยู่ ฉันรู้สึกได้ว่าเขาอยู่กับฉัน เขาช่วยฉันตัดสินใจ เขาสนับสนุนเต็มที่ และคงพูดว่า ‘พระเจ้า มีแต่คุณเท่านั้นแหละที่สร้างสิ่งดี ๆ จากเรื่องแบบนี้ได้'”

เรื่องราวของ ลู ไฮนส์ เป็นเครื่องย้ำเตือนถึงความเปราะบางของชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงพลังใจอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ในการเผชิญหน้ากับความสูญเสีย และเปลี่ยนความเจ็บปวดให้กลายเป็นพลังในการเยียวยาตนเองและผู้อื่นต่อไป

ภรรยาช็อก สามีวัย 40 ปวดหู เข้านอนไม่กี่ชม. ก่อนดับสลด เหตุเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ภาพจาก : mirror

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button