ข่าวต่างประเทศ

เรื่องใหญ่มาก ผู้ป่วยติดเชื้อพิษสุนัขบ้าตาย จากการปลูกถ่ายอวัยวะ ในสหรัฐอเมริกา

ช็อกวงการแพทย์ ผู้ป่วยในสหรัฐฯ เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า หลังได้รับบริจาคอวัยวะเมื่อธันวาคมปีก่อน CDC ยืนยันติดเชื้อจากอวัยวะ “จริง” เคสหายากวงการแพทย์

สำนักข่าวสหรัฐอเมริกา รายงาน หน่วยงานสาธารณสุขของรัฐมิชิแกน แถลงพบ ผู้ป่วยรายหนึ่งในรัฐเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า หลังรับการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่ติดเชื้อโดยไม่ทราบมาก่อน ด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) ยืนยันว่าเป็นกรณีแพร่เชื้อพิษสุนัขบ้าผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งพบได้น้อยมากแต่เกิดขึ้นได้จริง

ผู้เสียชีวิตได้รับการปลูกถ่ายไตในเดือนธันวาคม 2567 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมือง โตเลโด รัฐโอไฮโอ และเสียชีวิตในเดือนมกราคม 2568 ภายหลังเริ่มมีอาการป่วยอย่างรุนแรง โดยเจ้าหน้าที่ CDC ตรวจสอบย้อนหลังพบว่าผู้บริจาคอวัยวะเคยสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ป่าขณะอยู่ที่รัฐไอดาโฮก่อนเสียชีวิตประมาณ 5 สัปดาห์ คาดว่าเป็น “สกั๊งค์” ที่เป็นพาหะนำเชื้อ

แม้ผู้บริจาคจะไม่แสดงอาการชัดเจนของโรคพิษสุนัขบ้า แต่หลังผู้รับไตป่วยรุนแรงจนเสียชีวิตจึงมีการตรวจสอบโดยละเอียด และพบการติดเชื้อในภายหลัง

CDC เปิดเผยว่า ผู้บริจาครายเดียวกันนี้ยังได้บริจาคเนื้อเยื่อตา (กระจกตา) ให้กับผู้ป่วยอีก 3 รายในต่างรัฐ ซึ่งขณะนี้ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (post-exposure prophylaxis – PEP) แล้ว ยังคงมีสุขภาพดี

โชคดี ทีมแพทย์ยังสามารถยับยั้งการปลูกถ่ายกระจกตาชิ้นที่ 4 ได้ทันเวลาก่อนนำไปใช้กับผู้ป่วยในรัฐมิสซูรี หลังจากเกิดความสงสัยเกี่ยวกับอาการของผู้รับไตที่เสียชีวิต

ทางการสหรัฐฯ ยอมรับว่าปัจจุบันไม่มีการตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้าในผู้บริจาคอวัยวะตามขั้นตอนมาตรฐาน เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก ทั้งการตรวจต้องใช้เวลานานเกินกว่าช่วงเวลาที่อวัยวะจะยังใช้งานได้ การคัดกรองเบื้องต้นจึงต้องอาศัยข้อมูลทางคลินิกบวกกับพฤติกรรมเสี่ยงของผู้บริจาค

ทั้งนี้ CDC ระบุว่า ตั้งแต่ปี 1978 มีการสอบสวนกรณีเชื้อพิษสุนัขบ้าแพร่จากอวัยวะผู้บริจาคมายังผู้รับเพียง 4 ครั้ง โดยในปี 2004 เคยเกิดกรณีที่มีผู้เสียชีวิตถึง 3 รายจากผู้บริจาครายเดียวกันในรัฐอาร์คันซอ และอีก 1 รายในปี 2013 ที่ฟลอริดา

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคร้ายแรงที่แพร่ผ่านน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยอาการเริ่มแรกคล้ายไข้หวัด เช่น ไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ แต่เมื่อเข้าสู่ระยะลุกลาม ผู้ป่วยจะมีอาการกลัวน้ำ กลืนลำบาก น้ำลายไหลมาก และอาจเกิดภาพหลอน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีภายในไม่กี่วันหลังสัมผัสสัตว์ติดเชื้อ โรคนี้จะถึงแก่ชีวิตในเกือบทุกกรณี

รู้จัก โรคพิษสุนัขบ้า ภัยร้ายถึงชีวิต

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคไวรัสร้ายแรงที่สามารถติดต่อสู่คนผ่านการสัมผัสน้ำลายหรือเลือดของสัตว์ที่ติดเชื้อ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย อาการก็จะแสดงความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ จากคล้ายไข้หวัดใหญ่ ไปสู่ภาวะประสาทหลอนและกลืนลำบาก ซึ่ง หากผู้ป่วยแสดงอาการแล้ว โอกาสรอดชีวิตแทบจะเป็นศูนย์ กล่าวคือ แทบไม่มีผู้รอดชีวิต

เคสติดเชื้อจากการปลูกถ่ายอวัยวะ แม้หายาก แต่เคยเกิดขึ้น

ข้อมูลจาก CDC ระบุว่า ในแต่ละปี สหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าไม่ถึง 10 ราย และการติดเชื้อผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะนั้น เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่งยวด แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีรายงานมาก่อน โดยในปี 2013 เคยมีผู้ป่วยที่ได้รับปลูกถ่ายไต เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในลักษณะคล้ายกันนี้มาแล้ว

ทั้งนี้ กระบวนการคัดกรองผู้บริจาคอวัยวะในสหรัฐฯ ตามปกติ จะมีการซักถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางจิตของผู้บริจาค รวมถึงการตรวจหาเชื้อไวรัสและการติดเชื้อต่าง ๆ ด้วย ซึ่งกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้อาจเกิดจากความผิดพลาดที่พบได้ยาก หรือการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการในผู้บริจาค)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button