ข่าว

10 อันดับ แผ่นดินไหวรุนแรงที่สุด ในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ

ย้อนรอยโศกนาฏกรรมในประวัติศาสตร์ เปิด 10 อันดับ เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุด คร่าชีวิตมวลมนุษย์หลายแสนราย บทเรียนจากอดีตสู่ปัจจุบัน เตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ

แผ่นดินไหว หรือภาษาอังกฤษ Earthquake เป็นกปรากฏการณ์การสั่นสะเทือนของเปลือกโลก อันเนื่องมาจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน (Fault) หรือตามแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก (Tectonic Plates) เมื่อแรงเครียดที่สะสมมานานถูกปลดปล่อยอย่างฉับพลัน พลังงานมหาศาลจะถูกส่งผ่านเนื้อหินในรูปของคลื่นไหวสะเทือน (Seismic Waves) แผ่ออกไปในทุกทิศทาง ซึ่งหากพื้นที่ใดไม่ได้เตรียมพร้อมหรือมีโครงสร้างอาคารที่ไม่สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือน ผลที่ตามมาอาจเป็นความเสียหายครั้งใหญ่

ตลอดหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มีการบันทึกหลักฐานการเกิดแผ่นดินไหวทั้งในจดหมายเหตุโบราณ วัตถุโบราณคดี ไปจนถึงข้อมูลเครื่องมือวัดในยุคปัจจุบัน หลายครั้งก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่โหดร้ายเกินจินตนาการ อาทิ การคร่าชีวิตผู้คนนับแสนหรือแม้กระทั่งเกือบล้านก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ ทีมงาน เดอะ ไทยเกอร์ จึงขอพาผู้อ่านทุกท่านย้อนรอย “10 อันดับ แผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ” โดยวัดจากเกณฑ์จำนวนผู้เสียชีวิตโดยประมาณ และความรุนแรงในแง่ผลกระทบทางกายภาพและสังคม เพื่อยึดถือเป็นบทเรียนในการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต

1) แผ่นดินไหวส่านซี (Shaanxi Earthquake), ค.ศ.1556 – ประเทศจีน

จำนวนผู้เสียชีวิตโดยประมาณ : 830,000 คน

แผ่นดินไหวเกิดเมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ.1556 ได้รับการบันทึกว่าเป็นแผ่นดินไหวที่ “คร่าชีวิตมนุษย์” มากที่สุดในประวัติศาสตร์ โลกตะวันตกเคยเรียกว่า “แผ่นดินไหวมฤตยูแห่งจีน” ขณะที่คนจีนในยุคศตวรรษที่ 16 จดจำในนาม “แผ่นดินไหวเจียจิ้ง” (ตามรัชศกของจักรพรรดิเจียจิ้งในราชวงศ์หมิง)

แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นแถบหุบเขาและที่ราบสูงในมณฑลส่านซี กินบริเวณใกล้เคียง ผู้คนสมัยนั้นหลายล้านอาศัยอยู่ใน “ถ้ำดินลู่ว์” (Loess Caves) ซึ่งเจาะบนหน้าผาดินที่อัดแน่น เมื่อตัวดินยุบตัวลงมา หลายหมู่บ้านจึงพังทลายราวกับถูกกลืนไปในชั่วข้ามคืน การสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่องยาวนานและอาฟเตอร์ช็อกรุนแรง ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่มีที่หลบภัย รายงานโบราณบรรยายว่าวัด โบสถ์ ทางเดิน ล้วนถูกถล่มลงมา

ในช่วงเวลาดังกล่าว ราชสำนักหมิงกำลังเผชิญกับปัญหาทางการเมืองและการทหารในหลายด้าน รวมถึงการป้องกันชายแดนจากกลุ่มชนเผ่าทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้รัฐบาลกลางต้องแบ่งกำลังทรัพยากรไปดูแลความมั่นคงของรัฐเป็นจำนวนมาก

แม้จะมีรายงานว่าราชสำนักหมิงได้ส่งขุนนางและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อบรรเทาทุกข์ แจกจ่ายเสบียง และให้การช่วยเหลือ แต่การประเมินสภาพบ้านเมืองในศตวรรษที่ 16 นั้นมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งเส้นทางยาวไกลและระบบขนส่งที่ยังไม่ทันสมัย ทำให้การกู้ภัยและการฟื้นฟูเป็นไปได้ล่าช้า

ผลตามมาทำให้ ชาวบ้านจำนวนมากสูญเสียที่อยู่อาศัย ต้องอพยพออกจากพื้นที่ หรือต้องอยู่กลางแจ้งในสภาพอากาศหนาวเย็นช่วงปลายฤดูหนาว ยิ่งทำให้พื้นที่เกษตรกรรมและเส้นทางลำเลียงเสบียงถูกตัดขาด การเพาะปลูกเสียหาย ประกอบกับประชาชนพลัดถิ่น ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารในวงกว้าง

2) แผ่นดินไหวถังซาน (Tangshan Earthquake), ค.ศ.1976 – ประเทศจีน

จำนวนผู้เสียชีวิตโดยประมาณ : 242,000 – 655,000 คน

เป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 20 แผ่นดินไหวเมืองถังซาน ขนาดประมาณ 7.8 แมกนิจูด แต่มีรายงานบางแหล่งบันทึก 7.5 – 7.6 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1976 ช่วงราว 03.00 – 04.00 น. ขณะที่ผู้คนกำลังหลับสนิทในเวลากลางดึก ทำให้ไม่สามารถอพยพออกมาได้ทันท่วงที เกิดความสูญเสียจำนวนมาก

ตัวเลขอย่างเป็นทางการที่ทางรัฐบาลจีนเปิดเผยในช่วงแรกระบุผู้เสียชีวิตราว 242,000 คน แต่รายงานอื่น ๆ ในเวลาต่อมาชี้ว่าอาจมีมากกว่านั้นถึง 655,000 คน สาเหตุที่แตกต่างกันมากมาจากการเก็บข้อมูลซ้ำซ้อน ความโกลาหลหลังเกิดเหตุ และข้อจำกัดของระบบราชการ

ส่วนผู้รอดชีวิตนหลายล้านคนไร้ที่อยู่อาศัยทันทีในคืนเดียว คนเหล่านี้ต้องมาพักในกระโจมเต็นท์ หรือสร้างที่พักชั่วคราวกลางแจ้ง

ส่วนหนึ่งของความสูญเสียรุนแรงเป็นเพราะ อาคารที่พักคนงานและชุมชนอยู่ในสภาพแออัด ทำให้เมื่ออาคารพังลงมา มีคนติดอยู่ใต้ซากจำนวนมาก และเมืองอุตสาหกรรมในจีนยุคนั้นยังขาดมาตรฐานการก่อสร้างป้องกันแผ่นดินไหว เพียงพอแต่เพียงให้รองรับสภาพการใช้งานประจำวัน

หลังเกิดเหตุความช่วยเหลือทจากทางการเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราถนน ทางรถไฟ และระบบสาธารณูปโภคเสียหาย ขัดขวางการเข้าถึงพื้นที่ของกองทัพและอาสาสมัครที่พยายามเข้ามาช่วยเหลือ รัฐบาลจีนจัดตั้งกองกำลังทหารและประชาชนอาสาเข้ามาในพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพื่อนำผู้บาดเจ็บออกจากซากปรักหักพัง ช่วยปฐมพยาบาล จัดหาอาหารและน้ำดื่ม

ด้วยความหายนะระดับนี้ ทำให้ในภายหลังรัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและมาตรฐานการก่อสร้างต้านแผ่นดินไหวมากขึ้น นำไปสู่การออกแบบอาคารในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว ให้ได้มาตรฐานสูงขึ้น

3) แผ่นดินไหวแอนติออก (Antioch Earthquake), ค.ศ.526 – จักรวรรดิไบแซนไทน์ (ปัจจุบันคือซีเรีย-ตุรกี)

จำนวนผู้เสียชีวิตโดยประมาณ : 250,000 – 300,000 คน

บันทึกโบราณหลายแหล่งยืนยันว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.526 อาจคลาดเคลื่อนเล็กน้อยในแต่ละเอกสาร แม้ว่าจะยังไม่มีการวัดแมกนิจูดอย่างเป็นทางการในยุคนั้น แต่นักธรณีวิทยาสมัยใหม่ประเมินว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจมีขนาดประมาณ 7.0 – 7.5 แมกนิจูด และเมื่อแรงสั่นสะเทือนปะทุ อาคารก่อด้วยหิน อิฐ หรือไม้ในยุคโบราณที่ไม่มีโครงสร้างเหล็กจึงพังทลาย

หากประมาณการจากเอกสารโบราณหลายฉบับและการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ พบว่าความสูญเสียและยอดผู้เสียชีวิต อยู่ราว ๆ จำนวนตั้งแต่ 250,000 – 300,000 คน ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในศตวรรษที่ 6

เนื่องจากยุคนั้นยังไม่มีระบบขนส่งและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเหมือนปัจจุบัน กองทัพไบแซนไทน์และข้าหลวงพื้นที่จึงเข้ามาให้ความช่วยเหลือได้เพียงบางส่วน

นอกจากการสูญเสียชีวิตจำนวนมหาศาลแล้ว แอนติอกยังสูญเสียโบราณสถานและวัตถุศิลปะล้ำค่าของอารยธรรมกรีก-โรมัน เช่น จิตรกรรมฝาผนัง โมเสก หรือประติมากรรม ซึ่งบางส่วนไม่อาจซ่อมแซมได้อีก และด้วยความที่เมืองเป็นศูนย์กลางการค้าจึงสูญเสียสินค้าฟุ่มเฟือยและทรัพย์สินมีค่าร่วมด้วย เหตุการณ์ครั้งนี้จึงนำมาสู่ปัญหาด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่

4) แผ่นดินไหวอะเลปโป (Aleppo Earthquake), ค.ศ.1138 – ซีเรีย

จำนวนผู้เสียชีวิตโดยประมาณ : 230,000 คน

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นในเมืองอะเลปโป (Aleppo) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศซีเรีย เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางยุคกลาง บันทึกโบราณระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1138 และเพราะว่าประเทศซีเรียและตุรกีเป็นบริเวณที่มีรอยเลื่อนหลายแนว ทำให้มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้บ่อยครั้ง และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ประกอบกับการพังทลายของอาคาร เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงอย่างมาก

อาคาร บ้านเรือน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และตลาดกลางเมืองพังทลาย กลายเป็นซากปรักหักพัง ภายในเวลารวดเร็ว พื้นที่ค้าขายจึงต้องปิดตัวลงทันที ขณะที่เมืองต้องหยุดกิจกรรมการค้าขาย สินค้าหลายอย่างถูกทับหรือเผาทำลาย เกิดภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุที่เส้นทางคมนาคมและระบบขนส่งยังไม่พัฒนา การจะนำกองกำลังหรือทีมช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหนักเป็นเรื่องลำบาก อาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยิ่งเพิ่มความเสี่ยง

แม้อะเลปโปยังคงอยู่บนเส้นทางการค้าในเวลาต่อมา แต่การฟื้นตัวจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ใช้เวลาไปมากถึงหลายสิบปี ซึ่งก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากตัดสินใจย้ายไปยังเมืองใกล้เคียงที่ปลอดภัยกว่า โครงสร้างประชากรของอะเลปโปและภูมิภาคโดยรอบจึงเปลี่ยนไปนับแต่นั้น

5) แผ่นดินไหวไห่หยวน (Haiyuan Earthquake), ค.ศ.1920 – ประเทศจีน

จำนวนผู้เสียชีวิตโดยประมาณ : 234,000 คน

ศตวรรษที่ 20 ของจีนมีเหตุการณ์เปลี่ยนผ่านครั้งยิ่งใหญ่มากมาย หนึ่งในนั้นคือแผ่นดินไหวในบริเวณไห่หยวน มณฑลกานซู่-หนิงเซี่ย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.1920 ซึ่งเป็นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ยุคที่จีนกำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบราชวงศ์และเผชิญความปั่นป่วนทางการเมืองและสังคม

หลักฐานทางธรณีวิทยาและการบันทึกในสมัยต่อมาระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้อาจมีขนาดอยู่ระหว่าง 7.8 – 8.5 (บางแหล่งระบุ 8.5) และเนื่องจากบ้านเรือนส่วนใหญ่ก่อสร้างจากดินอัดหรืออิฐดิบ ซึ่งไม่อาจต้านแรงสั่นสะเทือนระดับสูงได้ อาคารหลายหลังจึงพังทลายลงในทันที

แนวเขาและพื้นที่บนที่สูงเกิดการทรุดและถล่มลงมาเป็นจำนวนมาก บางบริเวณก่อให้เกิดหินกองมหึมา (Rockslide) หรือดินโคลนถล่ม (Mudslide) ซึ่งไหลทับหมู่บ้านหรือพื้นที่ทำเกษตร พื้นดินมีสภาพแตกร้าว หรือถูกทับด้วยเศษหินดิน เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด

ประกอบกับในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จีนยังขาดระบบขนส่งและสาธารณูปโภคที่เพียงพอ ถนนส่วนใหญ่เป็นเส้นทางลูกรังหรือทางภูเขาคดเคี้ยว ทำให้กองทัพหรือเจ้าหน้าที่ราชการเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัยได้ล่าช้า รัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่นพยายามจัดส่งข้าวสาร ผ้าห่ม และเวชภัณฑ์ แต่การกระจายเสบียงไม่ทั่วถึง บางหมู่บ้านอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือนานนับสัปดาห์ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงถึงหลักสองแสน สุดท้ายหลายครอบครัวต้องอพยพย้ายถิ่นเพราะหมู่บ้านไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไป

6) แผ่นดินไหวและสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย, ค.ศ.2004

จำนวนผู้เสียชีวิตโดยประมาณ : 227,000 คน (กระทบกว่า 14 ประเทศ)

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดนอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.2004 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘คลื่นยักษ์สึนามิ’ ที่สร้างความสูญเสียไปทั่วมหาสมุทรอินเดีย

การเคลื่อนที่ของเปลือกโลกบริเวณบริเวณนอกชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้เกิดการยกตัวของแผ่นดินใต้ทะเลอย่างฉับพลัน คลื่นสึนามิได้ถาโถมเข้าชายฝั่งหลายประเทศรอบมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย เมียนมา ศรีลังกา อินเดีย มัลดีฟส์ บังกลาเทศ ตลอดจนประเทศในแถบแอฟริกาตะวันออก

การดันและมุดซ้อนของแผ่นเปลือกโลก (Subduction) ระหว่างแผ่นอินเดีย (Indian Plate) และแผ่นไมโครเบอร์มิส (Burma Microplate) ก่อให้เกิดแรงเครียดสะสมในชั้นหิน เมื่อปลดปล่อยอย่างฉับพลัน จึงเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1 แมกนิจูด ส่งผลให้มวลน้ำมหาศาลเคลื่อนที่เป็นระลอกคลื่นความเร็วสูง เมื่อลูกคลื่นเข้าหาชายฝั่งที่ระดับน้ำตื้น คลื่นจึงยกตัวสูงขึ้นหลายเมตร

สำหรับในประเทศไทย จังหวัดฝั่งอันดามัน เช่น ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง สตูล และตรัง เผชิญความเสียหายอย่างหนัก เนื่องจากมีประชาชนและนักท่องเที่ยวกำลังใช้เวลาพักผ่อนในช่วงเทศกาลสิ้นปี

จากการประเมินรวมทั่วภูมิภาค จำนวนผู้เสียชีวิตโดยประมาณอยู่ที่ราว ๆ 227,000 คน โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ตามด้วยศรีลังกา อินเดีย และไทย

ภัยพิบัติครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่นานาชาติให้ความสนใจอย่างเร่งด่วน รัฐบาลและองค์กรช่วยเหลือจากทั่วโลก ระดมกำลังและทรัพยากร อาทิ เจ้าหน้าที่กู้ภัย ทีมแพทย์ และหน่วยบินเฮลิคอปเตอร์ เพื่อเข้าถึงพื้นที่ประสบภัย ในช่วงแรก เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและอาสาสมัครต้องแข่งกับเวลาในการค้นหาผู้รอดชีวิต อย่างไรก็ตาม หลายพื้นที่ถูกตัดขาด ทำให้ความช่วยเหลือล่าช้า

หลายประเทศและองค์กรเอกชนจัดตั้งกองทุนและโครงการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย สร้างที่พักชั่วคราว และฟื้นฟูสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งผลลัพธ์ของภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้ชุมชนชายฝั่งในหลายพื้นที่ต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ ขณะเดียวกันก็ได้กระตุ้นให้เกิดการสร้างระบบเตือนภัยสึนามิและการบริหารจัดการภัยธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นด้วย

7) แผ่นดินไหวเฮติ (Haiti Earthquake), ค.ศ.2010

จำนวนผู้เสียชีวิตโดยประมาณ : 217,000 – 300,000 คน

ประเทศเฮติบนเกาะฮิสปานิโอลา ในทะเลแคริบเบียน เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในซีกโลกตะวันตก แผ่นดินไหวขนาด 7.0 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2010 ได้สร้างความเสียหายมหาศาล ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากเมืองหลวงปอร์โตแปรงซ์ไปทางตะวันตกประมาณ 25 กิโลเมตร ส่งผลให้พื้นที่ซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุดของประเทศได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง โครงสร้างพื้นฐานของเฮติที่เปราะบางอยู่แล้วไม่อาจทานแรงสั่นสะเทือนได้ พังทลายทับประชาชนจำนวนมาก

อาคารต่าง ๆ ในปอร์โตแปรงซ์พังทลายอย่างรวดเร็ว เนื่องจากส่วนใหญ่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กที่ไม่แข็งแรง หรือเป็นสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว ไม่ได้ออกแบบรองรับแรงสั่นสะเทือน อาคารสำคัญ เช่น ทำเนียบประธานาธิบดี (National Palace) รัฐสภา และสถานที่ราชการอีกหลายแห่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก เฮติจึงสูญเสียศูนย์กลางการบริหารประเทศในทันที

สภาพความเป็นอยู่แออัดและการขาดระบบสาธารณูปโภคมาตรฐาน ทำให้ผู้คนเสียชีวิตจากซากตึก และการรักษาพยาบาลก็ทำได้ยากหลังเกิดเหตุ แม้ว่าบรรดาชาติและองค์กรนานาชาติจะรีบเข้าช่วยเหลือ แต่ก็ประสบปัญหาเข้าถึงพื้นที่ยากลำบาก อาฟเตอร์ช็อกขนาดเล็กและปานกลางตามมาอีกหลายครั้ง สร้างความหวาดผวา และทำให้อาคารที่เหลืออยู่บางส่วนถล่มซ้ำ ซึ่งก็นยิ่งทำให้การฟื้นฟูยิ่งซับซ้อนยาวนานขึ้น

อ้างอ้งจากรายงานพบว่า มีผู้คนราว 1.5 ล้านคนต้องอยู่อาศัยในค่ายผู้ประสบภัย (Tent City) หรือพื้นที่โล่ง เนื่องจากบ้านเรือนพังหมดสิ้น ถนน สะพาน และโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารเสียหายอย่างหนัก โรงพยาบาล โรงเรียน และสถานสงเคราะห์ใช้การไม่ได้ ทับซ้อนกับสภาพความยากจนที่มีอยู่ก่อนแล้ว

องค์กรสหประชาชาติ (UN) องค์กร NGO และรัฐบาลนานาชาติต่าง ๆ ระดมทีมกู้ภัย แพทย์ อุปกรณ์ก่อสร้าง ตลอดจนเงินสนับสนุน ขนส่งเข้ามาในเฮติ ทั้งทางอากาศและทางเรือ และแม้จะมีเงินช่วยเหลือและการบริจาคจากนานาประเทศ แต่ด้วยระบบราชการและโครงสร้างพื้นฐานที่อ่อนแอ การฟื้นฟูอาคาร บ้านเรือน และการสร้างงานให้ประชาชนเป็นไปอย่างล่าช้า เหตุการณ์นี้จึงทำให้เฮติยังคงเผชิญความท้าทายด้านการเมืองและเศรษฐกิจมาจนถึงปัจจุบัน

8) แผ่นดินไหวอาร์ดาบิล (Ardabil Earthquake), ค.ศ.893 – อิหร่าน

จำนวนผู้เสียชีวิตโดยประมาณ : 150,000 – 200,000 คน

หนึ่งในโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญ ที่ส่งผลกระทบวงกว้างในตะวันออกกลางยุคกลาง ก็คือแผ่นดินไหวที่เมืองอาร์ดาบิล (Ardabil) ที่เกิดขึ้นใน ค.ศ.893 เนื่องจากช่วงเวลา หลักฐานประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแผ่นดินไหวครั้งนี้จึงมีไม่มากนัก แต่จากบันทึกและการวิเคราะห์ทางธรณีวิทยาสันนิษฐานว่า เมืองอาร์ดาบิล (Ardabil) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่าน ได้รับความเสียหายสาหัส

พื้นที่แถบนี้มีแนวรอยเลื่อนหลากหลาย เนื่องจากอิหร่านเป็นประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งอยู่แล้ว แรงเครียดที่สะสมใต้เปลือกโลก เมื่อปลดปล่อยออกมาฉับพลันจึงก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง บ้านเรือนและอาคารสมัยนั้นมักสร้างด้วยอิฐดิบ (Adobe) และหิน ไร้โครงสร้างเสริมแรงโลหะ ทำให้เมื่อต้องเจอแรงสั่นสะเทือนในระดับสูง ก็พังทลายลงมาอย่างง่ายดายและพร้อมกันเป็นบริเวณกว้าง

เมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือน ชุมชนในตัวเมืองอาร์ดาบิลและพื้นที่โดยรอบพังราบภายในเวลาไม่กี่นาที อาคารบ้านเรือนที่อยู่ติดกันและคับแคบยิ่งสร้างโอกาสให้เกิดการพังทับซ้อน พื้นที่ทางเกษตรกรรมรอบเมืองบางส่วนได้รับผลกระทบเช่นกัน ทำให้ประชาชนไร้แหล่งอาหาร น้ำ และพักพิงในระยะยาว

งานวิจัยทางประวัติศาสตร์และบันทึกที่หลงเหลืออยู่ ประเมินว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ อยู่ระหว่าง 150,000 – 200,000 คน ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับประชากรในศตวรรษที่ 9

ลักฐานเกี่ยวกับการฟื้นฟูโดยทางการหรือหน่วยปกครองในยุคกลางมีน้อยมาก คาดว่าเป็นการพึ่งตนเองของชุมชนและขุนนางท้องถิ่น (ในสังกัดรัฐอิสลามหรือราชวงศ์ที่ปกครองขณะนั้น) ซึ่งอาจเน้นซ่อมสร้างเฉพาะสิ่งสำคัญก่อน

9) แผ่นดินไหวคันโต (Great Kanto Earthquake), ค.ศ.1923 – ประเทศญี่ปุ่น

จำนวนผู้เสียชีวิตโดยประมาณ : 105,000 – 142,000 คน

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1923 ในช่วงเที่ยงวัน ประเทศญี่ปุ่นได้เผชิญกับหนึ่งในมหันตภัยธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ อย่าง “แผ่นดินไหวคันโต” (Great Kanto Earthquake) ซึ่งมีขนาดประมาณ 7.9 แมกนิจูด โดยศูนย์กลางอยู่บริเวณอ่าวซางามิ (Sagami Bay) ซึ่งได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อมหานครโตเกียว เมืองโยโกฮามา และพื้นที่เมืองรอบ ๆ ในภูมิภาคคันโต (Kanto) ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะฮอนชู

เมื่อเกิดแผ่นดินไหว อาคารบ้านเรือนในโตเกียวและโยโกฮามาที่สร้างจากไม้หรือวัสดุเปราะบางพังทลายทันทีในหลายพื้นที่ ประชาชนส่วนใหญ่กำลังทำอาหารด้วยเตาถ่านหรือเตาไฟ กระทะน้ำมันจึงเกิดการลุกไหม้เมื่อตึกถล่ม สายลมช่วงฤดูปลายร้อน-ต้นใบไม้ร่วงยังโหมกระพือไฟให้ลุกลาม

ด้วยสภาพบ้านเรือนไม้ที่ตั้งเรียงติดกัน ไฟไหม้ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วจนกลายเป็น “พายุไฟ” (Firestorm) ซึ่งทำให้อุณหภูมิสูงและเกิดกระแสลมพัดวน ควบคุมได้ยากยิ่ง บางจุดไฟไหม้ติดต่อกันหลายวัน ถนนและระบบสาธารณูปโภคเสียหาย ประชาชนจำนวนมากพยายามหนีตายออกมาสู่พื้นที่โล่ง แต่หลายคนกลับติดอยู่ใต้ซากอาคารหรือถูกไฟคลอก

จากสถานการณ์ความเสียหายนี้เอง มีการประเมินว่ามียอดผู้เสียชีวิตรวมอยู่ที่ระหว่าง 105,000 – 142,000 คน ตัวเลขนี้รวมผู้เสียชีวิตจากแรงสั่นสะเทือน อาคารถล่ม และเหตุไฟไหม้ขนาดใหญ่ที่ตามมา

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ระดมกองทัพเข้ามาควบคุมไฟและเคลียร์ซากอาคาร ช่วยเหลือผู้ประสบภัย สนามกีฬาและลานกว้างหลายแห่งถูกดัดแปลงเป็นจุดพักพิงชั่วคราว คนในเมืองต่างร่วมมือกันช่วยเหลือเกื้อกูล ทั้งค้นหาผู้สูญหาย แจกจ่ายอาหารและน้ำ แต่ความเสียหายใหญ่หลวงทำให้กู้ภัยได้ไม่ทั่วถึง

หลังเหตุการณ์ รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจรื้อถอนและวางผังเมืองใหม่ โดยมุ่งให้ถนนกว้างขึ้น ลดความเสี่ยงจากไฟไหม้ที่ลุกลามต่อเนื่อง มีการวางท่อดับเพลิงและระบบประปาที่ทันสมัยขึ้น รวมถึงวางรากฐานสำหรับเทคโนโลยีป้องกันแผ่นดินไหวที่ก้าวหน้าของญี่ปุ่นในศตวรรษถัดมา

10) แผ่นดินไหวชี่หลี่ (Chihli Earthquake), ค.ศ.1290 – ประเทศจีน

จำนวนผู้เสียชีวิตโดยประมาณ : 100,000 คน

ย้อนกลับไปราวสมัยปลายราชวงศ์หยวน (บางแหล่งระบุปลายราชวงศ์ซ่ง) แผ่นดินไหวใหญ่ครั้งนี้เกิดในมณฑลเหอเป่ย (ในอดีตเรียกว่า “ชี่หลี่” หรือ Zhili) โดยมีการประเมินว่าเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1290

ด้วยเหตุที่ประเทศจีนตอนเหนือมีรอยเลื่อนหลายจุด การเคลื่อนตัวของพื้นดินจึงสามารถก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในระดับที่รุนแรงมาก แหล่งชุมชนในยุคนั้นสร้างด้วยดินอัดหรืออิฐง่าย ๆ ไม่ได้เสริมแรงด้วยไม้หรือโลหะ แรงสั่นสะเทือนเพียงไม่กี่วินาทีทำให้อาคารเหล่านี้พังทับกันได้ในทันที

แม้หลักฐานจะหลงเหลือไม่มาก แต่บันทึกบางส่วนชี้ว่าบริเวณนี้เต็มไปด้วยซากซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ หลังการเกิดแผ่นดินไหว อีกทั้งยังเกิดไฟไหม้ตามมา สภาพศพผู้เสียชีวิตฝังไว้ใต้ซากอาคารจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ไม่สามารถขุดค้นและนำศพออกได้หมดในทันที ขณะที่พื้นที่ทางการเกษตรและเส้นทางคมนาคมในชนบทบางส่วนอาจเสียหายหนัก ประชาชนไม่มีที่พักอาศัยและขาดอาหาร

ระบบการบริหารราชการในยุคนั้นแม้จะมีเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น แต่การขนส่งกองกำลังหรือขุนนางเพื่อลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมยังทำได้ยากลำบาก ถนนที่เป็นเส้นทางดินและสะพานบางแห่งพังทลาย หลายชุมชนตั้งอยู่กระจัดกระจาย ทำให้เจ้าหน้าที่ทางการเข้าถึงพื้นที่ได้ยาก ยิ่งเมื่อเกิดไฟไหม้ตามหลังอีกก็ทำให้การกู้ภัยยุ่งยากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานแสดงถึงสเกลความสูญเสีย ที่ชี้ให้เห็นว่าการจัดการภัยพิบัติในสมัยโบราณนั้นถูกจำกัด

การสูญเสียชีวิตจำนวนมากส่งผลให้บางหมู่บ้านต้องร้าง ประชากรย้ายถิ่นออกไปยังเมืองอื่นหรือภูมิภาคใกล้เคียงที่ปลอดภัยกว่า

อย่างไรก็ดี จาก 10 อันดับ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ได้แสดงให้เห็นว่าการขยับตัวของเปลือกโลกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์เราอาจไม่สามารถหยุดยั้งการเกิดแผ่นดินไหว แต่สิ่งที่ทำได้คือการเตรียมพร้อมและลดผลกระทบที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างที่แข็งแรง การวางผังเมืองที่คำนึงถึงภัยพิบัติ การพัฒนาระบบเตือนภัย และการส่งเสริมความรู้ด้านการอพยพหนีภัยให้แก่ประชาชน

เมื่อนำข้อมูลจากเหตุการณ์ในอดีตมาต่อยอดและเตรียมพร้อมในเชิงวิศวกรรม สังคม และนโยบาย มนุษย์ก็จะสามารถปกป้องผู้คนและลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งนี้เองความสำคัญของการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ในการสร้างความมั่นคงให้แก่อนาคตของมนุษยชาติ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx