วิศวกร จิตอาสา แฉปมเหล็ก สตง.ไร้มาตรฐาน กระทรวงจี้สอบ ส่งตรวจวันนี้

วิศวะฯ แฉ เหล็กเส้นตึก สตง. ถล่ม อาจเป็นเกรด ‘มีปัญหา’ ชี้ ‘แข็งนอกอ่อนใน’ ไม่เหมาะตึกสูง? คำถามคาใจถึงมาตรฐาน มอก.
ขณะที่เจ้าหน้าที่ทีมกู้ภัยกำลังปฏิบัติการค้นหาร่างผู้เคราะห์ร้ายที่ยังคงติดอยู่ใต้ซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ มูลค่านับ 2 พันล้านบาท ที่พังถล่มลงมาอย่างน่าสลดใจจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ประเด็นคำถามสำคัญที่สังคมกำลังจับจ้องและต้องการคำตอบ คือ คุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง โดยเฉพาะ เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ซึ่งเป็นหัวใจของโครงสร้างอาคาร ว่าได้มาตรฐานและเหมาะสมกับการก่อสร้างอาคารสูงหรือไม่?
ต่อมา (วันที่ 30 มีนาคม 2568) ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งซึ่งระบุตนเองว่าเป็น วิศวกร จิตอาสา มีความรู้เรื่องเหล็ก ได้ออกมาโพสต์บทวิเคราะห์ชนิดเหล็กเส้นที่พบในซากอาคาร สตง. พร้อมตั้งสมมุติฐานที่น่าตกตะลึง ซึ่งกำลังถูกแชร์และวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์
วิศวกรรายนี้ระบุว่า จากการสังเกตลักษณะเหล็กในที่เกิดเหตุ สอดคล้องกับสมมุติฐานของเขาที่ว่า อาคาร สตง. อาจใช้ เหล็ก DB. 32 SD.50 ซึ่งเป็นเหล็กเกรดที่เจ้าตัวมองว่ามีปัญหา โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ตรงสมัยทำงานโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่พบว่าเหล็กชนิดนี้แม้จะทดสอบค่าความแข็งแรง (Strength) ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (เกิน 5,000 กก./ตร.ซม.) แต่กลับมี ค่า Yield (ค่าการคราก หรือจุดที่เหล็กเริ่มยืดตัวถาวร) ต่ำ และที่สำคัญคือ มีปัญหาในการทดสอบการดัดโค้ง (Bending Test) ซึ่งมักจะเกิดการ “ปริแตก”
ส่วนลักษณะของเหล็กเกรดนี้ เปรียบเสมือน เหล็ก 2 ชั้น แข็งนอก อ่อนใน และเมื่อเหล็กขาด จะมีลักษณะรอยขาดเป็นกรวย ที่น่ากังวลคือ หากเหล็กชนิดนี้ถูกบิดงอไปมา จะเกิดรอยร้าวภายในเนื้อเหล็ก ทำให้พื้นที่หน้าตัดที่รับแรงได้ (AS) ลดลง และค่าความแข็งแรง (Strength) จะหายไปในทันที
แม้ว่าวิศวกรรายนี้จะยอมรับว่าเหล็กเส้นที่พบในที่เกิดเหตุ มาจากโรงงานที่ “ได้มาตรฐาน มอก.” (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) แต่เขาก็ยังตั้งข้อสังเกตและคำถามที่ลึกไปกว่านั้น
ในวันเดียวนี้ วิศวะกรรายดังกล่าวก็ได้แชร์วีดีโอจากผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า ไพศาล โกกิลาวงศ์ เผยให้เห็นกระบวรการผลิตเหล็กเส้นจากที่ผลิตแห่งหนึ่ง จะเห็รว่าเหล็กเส้นมีความเล็กและเมื่อดัดให้งอ เหล็กไม่สามารถต้านแรงได้และหัก พร้อมทั้งอธิบายเกี่ยวกับไส้ในของเหล็กเส้น เทียบให้เห็นระหว่างเหล็กเส้นจริงที่มีลักษณะเป็นเหล็กตัน กับเหล็กเส้นยัดใส้ที่ข้างนอกเป็นเหล็ก ข้างในไม่ใช่เนื้อเหล็ก มีความร่วน ลักษณะคล้ายผงปูนมากกว่าคอนกรีตที่ได้มาตรฐาน

เช้าวันที่ 31 มีนาคม 2568 ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงฯ เปิดเผยผ่านเพจ พรรครวมไทยสร้างชาติ ว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ทีมงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เก็บหลักฐาน ณ จุดเกิดเหตุอาคารถล่มเป็นการด่วน
นายพงศ์พล ยืนยันว่า หากผลการตรวจสอบพบว่าผู้รับเหมาก่อสร้างมีการใช้เหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐานจริง จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด และจะขยายผลไปยังโรงงานผู้ผลิตเหล็กดังกล่าวด้วย
โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการวิเคราะห์แบบแปลนโครงสร้างอาคาร สตง. ซึ่งมีความสูง 30 ชั้นนั้น คาดว่าตามหลักวิศวกรรมจะต้องใช้เหล็กเส้นข้ออ้อย (Deformed Bars – DB) ขนาด DB16, DB20 และ DB25 เป็นหลัก ในการเสริมความแข็งแรงให้กับโครงสร้างคอนกรีตส่วนสำคัญ เช่น เสา คาน และฐานราก เพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักและแรงต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กระทรวงฯ ยังได้สั่งปิดโรงงานผลิตเหล็กข้ามชาติขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง เนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และยังตรวจพบผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นข้ออ้อยเกรด SD40 และ SD50 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก. 24-2559 จากการทดสอบโดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย จึงได้สั่งลงโทษตามกฎหมายเพื่อตัดวงจรความเสี่ยง
ล่าสุด มีรายงานข่าวระบุว่า ในวันนี้ (31 มีนาคม 2568) เวลา 13.30 น. คณะผู้บริหารจากกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีฯ และโฆษกกระทรวงฯ มีกำหนดการจะเดินทางไปยังสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพอย่างละเอียด ของตัวอย่างเหล็กเส้นที่ได้มีการเก็บรวบรวมมาจากบริเวณซากอาคาร สตง. ที่พังถล่มลงมา ซึ่งผลการทดสอบอย่างเป็นทางการนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญอย่างยิ่งในการไขข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณภาพและมาตรฐานของเหล็กที่ใช้ในโครงการดังกล่าวต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- มาตรการเยียวยาแผ่นดินไหว 2568 พักหนี้ ลดดอก 0% จากธนาคารรัฐ
- รถไฟฟ้สายสีชมพู กลับมาเดินรถตามปกติ จัดรถเมล์รับส่งระหว่างสถานี
- 8 แบงก์รัฐ ออกมาตรการเยียวยา ปชช. พักหนี้-ลดดอกเบี้ย เหตุแผ่นดินไหว
อ้างอิง: Watchara Buapetch, พรรครวมไทยสร้างชาติ United Thai Nation Party