ข่าว

วิธีเคลมประกันแผ่นดินไหว เช็กกรมธรรม์ เอกสาร บ้าน-คอนโด-รถยนต์-บาดเจ็บ

รับมือแผ่นดินไหว เช็กสิทธิ์กรมธรรม์ ขั้นตอนการเคลมประกันทรัพย์สิน-ประกันอุบัติเหตุ เอกสารที่ต้องใช้ พร้อมแนะนำมาตรการช่วยเหลือผู้ไม่มีประกัน

แรงสั่นสะเทือนรุนแรงจากเหตุแผ่นดินไหวซึ่งมีจุดศูนย์กลางในประเทศเมียนมาเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมาถึงกรุงเทพมหานคร สร้างความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนและทรัพย์สินหลายรายการ

ทีมข่าวเดอะไทยเกอร์จึงได้รวบรวมข้อมูลสำคัญ วิธีเคลมประกันแผ่นดินไหว ตั้งแต่วิธีตรวจสอบความคุ้มครอง ขั้นตอนการเคลมประกันสำหรับบ้าน คอนโดมิเนียม รถยนต์ และทรัพย์สินส่วนบุคคล การเคลมประกันแผ่นดินไหว และการเคลมกรณีได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต รวมถึงแนวทางความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำประกันภัยไว้ เพื่อเป็นคู่มือให้ประชาชนสามารถจัดการและฟื้นฟูจากผลกระทบครั้งนี้ได้อย่างทันท่วงที

วิธีตรวจสอบความคุ้มครองประกันภัยแผ่นดินไหว

สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการทันที คือการตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยของตนเองให้ละเอียดถี่ถ้วน โดยตรวจดูว่ากรมธรรม์มีข้อความระบุถึงความคุ้มครองภัย “แผ่นดินไหว” หรือ “ภัยธรรมชาติ” หรือไม่ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์หลักหรือความคุ้มครองเพิ่มเติมที่ซื้อไว้

หากไม่แน่ใจหรือกรมธรรม์สูญหาย ควรติดต่อบริษัทประกันภัยโดยตรง หรือโทรสายด่วนของสมาคมประกันวินาศภัยไทย 0 2108 8399 หรือสายด่วน คปภ.1186 เพื่อสอบถามเพิ่มเติมได้ทันที

ขั้นตอนการเคลมประกันภัยแผ่นดินไหวสำหรับแต่ละประเภททรัพย์สิน

1. บ้านเดี่ยว

กรมธรรม์ที่เกี่ยวข้อง

  • กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด (All Risks) ที่ซื้อความคุ้มครองแผ่นดินไหวเพิ่มเติม หรือกรมธรรม์ที่มีความคุ้มครองภัยพิบัติ

ขั้นตอนการเคลม

  • แจ้งเหตุทันทีที่บริษัทประกันภัย
  • บันทึกหลักฐาน (ถ่ายภาพและวิดีโอ)
  • ป้องกันความเสียหายเพิ่มเติม
  • เตรียมและส่งเอกสารเคลม ได้แก่ แบบฟอร์มเคลม, สำเนาบัตรประชาชน, ทะเบียนบ้าน, โฉนดที่ดิน, ภาพถ่าย, ใบเสนอราคาซ่อม และเอกสารอื่นตามที่บริษัทประกันภัยร้องขอ
  • รอการอนุมัติและการชดเชยจากบริษัทประกันภัย

ขั้นตอนการเคลมประกันแผ่นดินไหว บ้าน ทำยังไง ยื่นเอกสารอะไรบ้าง

2. คอนโดมิเนียม

กรมธรรม์ที่เกี่ยวข้อง

  • ห้องชุดส่วนตัว: ประกันอัคคีภัยหรือประกันภัยสำหรับห้องชุดที่มีคุ้มครองภัยแผ่นดินไหว
  • พื้นที่ส่วนกลาง: ประกันภัยอาคารชุด (Industrial All Risks – IAR)

สำหรับการเคลมประกัน “คอนโดมิเนียม” จะแยกส่วนตัว-ส่วนกลาง โดย ห้องชุดส่วนตัว (ความเสียหายภายในห้อง) ให้เจ้าของห้องชุด เป็นผู้เคลมกับบริษัทประกันที่ตนเองซื้อไว้โดยตรง

พื้นที่ส่วนกลาง (โครงสร้างอาคาร, โถงทางเดิน, ลิฟต์, สระว่ายน้ำ ฯลฯ): นิติบุคคลอาคารชุด เป็นผู้ดำเนินการเคลมกับบริษัทประกันที่ทำประกันอาคารส่วนกลาง (IAR) ไว้ เจ้าของห้องต้องแจ้งความเสียหายส่วนกลางให้นิติบุคคลทราบทันที

ขั้นตอนการเคลม

  • แจ้งเหตุทันทีที่บริษัทประกันภัย (สำหรับส่วนตัว) หรือแจ้งผ่านนิติบุคคล (ส่วนกลาง)
  • บันทึกหลักฐานความเสียหาย
  • ป้องกันความเสียหายเพิ่มเติม
  • เตรียมและส่งเอกสารเคลม ได้แก่ แบบฟอร์มเคลม, สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย, ภาพถ่าย, ใบเสนอราคาซ่อมแซม
  • การอนุมัติและรับชดเชยจากบริษัทประกันภัย

ขั้นตอนการเคลมประกันแผ่นดินไหว คอนโด ทำยังไง ยื่นเอกสารอะไรบ้าง

3. รถยนต์

กรมธรรม์ที่เกี่ยวข้อง

  • กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1, 2+ หรือ 3+ ที่ซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติเพิ่มเติม

ขั้นตอนการเคลม

  • แจ้งเหตุทันทีที่บริษัทประกันภัย
  • บันทึกภาพความเสียหาย
  • เตรียมเอกสารเคลม เช่น สำเนาทะเบียนรถ, สำเนาใบขับขี่, ภาพถ่ายรถ, ใบเสนอราคาซ่อม
  • นำรถเข้าตรวจสอบที่ศูนย์บริการหรืออู่ซ่อมในเครือของบริษัท
  • รอการอนุมัติและรับค่าชดเชยตามเงื่อนไข

ขั้นตอนการเคลมประกันแผ่นดินไหว ทรัพย์วิน ทำยังไง ยื่นเอกสารอะไรบ้าง

4. ทรัพย์สินส่วนตัว (ภายในบ้านหรือคอนโดมิเนียม)

กรมธรรม์ที่เกี่ยวข้อง

  • กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยหรือกรมธรรม์สำหรับห้องชุดที่ซื้อความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหวเพิ่มเติม

ขั้นตอนการเคลม

  • แจ้งเหตุทันทีที่บริษัทประกันภัย
  • บันทึกภาพและรายละเอียดทรัพย์สินที่เสียหายแต่ละชิ้นอย่างละเอียด
  • เตรียมเอกสารเคลม ได้แก่ แบบฟอร์มเคลม, ภาพถ่ายทรัพย์สิน, รายการทรัพย์สินที่เสียหาย, ใบเสร็จการซื้อ (ถ้ามี)
  • ส่งเอกสารและรอการพิจารณาชดเชยจากบริษัทประกันภัย

การเคลมประกันแผ่นดินไหว กรณีได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ในกรณีเหตุแผ่นดินไหวที่ทำให้ได้รับบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต ผู้ประสบภัยที่มีกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลจะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ โดยความคุ้มครองจะประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามจริง เช่น ค่ารักษาของแพทย์ ค่าห้องพัก และค่ายาตามวงเงินที่กรมธรรม์ระบุไว้

บางกรมธรรม์ยังมีค่าชดเชยรายได้ระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วย หากผู้เอาประกันภัยสูญเสียอวัยวะหรือสายตาจากเหตุแผ่นดินไหว ก็จะได้รับเงินชดเชยตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ สำหรับกรณีร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์จะได้รับเงินชดเชยเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และอาจมีผลประโยชน์เพิ่มเติมเช่นค่าปลงศพด้วย

ขั้นตอนการเคลมประกันแผ่นดินไหว กรณี ได้รับบาดเจข็บ เสียชีวิต ทำยังไง ยื่นเอกสารอะไรบ้าง

ขั้นตอนการเคลมประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลจากเหตุแผ่นดินไหว มีดังนี้

  1. แจ้งบริษัทประกันภัยทันที เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากแผ่นดินไหว ให้ติดต่อบริษัทประกันภัยทันทีผ่านสายด่วน เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน เพื่อแจ้งความเสียหายและการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น

  2. เข้ารับการรักษาพยาบาลทันที หากได้รับบาดเจ็บ ต้องรีบไปยังสถานพยาบาลและแจ้งว่ามีกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุเพื่อให้สถานพยาบาลดำเนินการโดยตรงกับบริษัทประกันภัย

  3. รวบรวมเอกสารสำคัญเพื่อประกอบการเคลม ได้แก่

  • แบบฟอร์มเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (Claim Form) จากบริษัทประกัน

  • ใบรับรองแพทย์ที่ระบุรายละเอียดการบาดเจ็บและการรักษา

  • ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลตัวจริง

  • สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้เอาประกันภัยและผู้รับผลประโยชน์

  • กรณีเสียชีวิต ต้องมีสำเนาใบมรณบัตร สำเนารายงานชันสูตรพลิกศพ (ถ้ามี) และรายงานประจำวันของตำรวจ

  • เอกสารอื่นตามที่บริษัทประกันภัยร้องขอเพิ่มเติม

  1. ยื่นเอกสารเคลมให้กับบริษัทประกันภัย ผ่านช่องทางที่บริษัทกำหนด

  2. รอการพิจารณาจากบริษัทประกันภัย หากผ่านการอนุมัติ บริษัทจะดำเนินการจ่ายค่าสินไหมตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์

คำแนะนำสำหรับผู้ที่ไม่มีประกันภัยแผ่นดินไหว

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ซื้อประกันภัยแผ่นดินไหวไว้ สามารถขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐและสถาบันการเงินต่าง ๆ ดังนี้

  • กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สายด่วน 1784 ช่วยเหลือด้านที่พัก อาหาร น้ำดื่มเบื้องต้น
  • กรุงเทพมหานคร (กทม.) สนับสนุนที่พักชั่วคราว การดูแลรักษาพยาบาล และวัสดุสำหรับซ่อมแซมบ้าน
  • กระทรวงแรงงาน สายด่วน 1506 ช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ
  • มาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน
  • ธนาคารกสิกรไทย: พักชำระเงินต้น 3 เดือน และกู้ซ่อมบ้านดอกเบี้ย 0% 3 เดือน
  • ธนาคารออมสิน: พักชำระเงินต้น ลดดอกเบี้ย สินเชื่อฉุกเฉินฟื้นฟู
  • ธนาคาร ธอส.: สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ 1% 3 ปีสำหรับซ่อมแซมเร่งด่วน
  • ธนาคารอื่น ๆ เช่น กรุงศรี, ttb, ไทยพาณิชย์, SME D Bank มีมาตรการช่วยเหลือพิเศษเพิ่มเติม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง: bangkokinsurance, scb, bangkokinsurance, muangthaiinsurance

New Nidhikant

จบการศึกษาคณะอักษรศาสตร์ เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร นักเขียนสายมูเตลู และนักอ่านไพ่ทาโรต์ โหราศาสตร์ มีความสนใจด้านข่าวการเมือง ศิลปะวัฒนธรรม แฟชั่น และสายดูดวงมูเตลู งานเขียนเน้นเนื้อหาที่เข้าใจง่าย อ่านสนุก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button