วิธีเช็ก สลิปปลอม 3 ธนาคารดัง ChatGPT เลียนแบบเนียนมาก ต้องสังเกตจุดนี้?

รวมวิธีเช็ก ‘สลิปปลอม’ สังเกตตัวเลข ดูตัวการ์ตูน ระวังถูกมิจฉาชีพหลอก ChatGPT เลียนแบบเหมือนยันลายน้ำ แนะวิธีป้องกัน ตรวจสอบชื่อ-ยอดเงินทุกครั้ง
ข่าวการทำ “สลิปปลอม” ด้วยเครื่องมือ AI ChatGPT กลายเป็นที่ถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอาชีพพ่อค้าแม่ค้าที่กังวลใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากตัวอย่างภาพสลิปปลอมที่ถูกเผยแพร่ออกมา เหมือนกับสลิปโอนเงินจากธนาคารจนแทบดูไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร ตัวเลข รวมถึงสีและลายน้ำ หากไม่เพ่งดูอย่างละเอียด ก็ไม่รู้เลยว่ากำลังถูกมิจฉาชีพหลอกอยู่

วิธีตรวจสอบสลิปปลอม รวมข้อสังเกตง่าย ๆ ป้องกันถูกมิจฉาชีพหลอก
ล่าสุด ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Pikileaks Lertsavetpong ได้ออกมาให้ความรู้ แนะนำวิธีสังเกตสลิปปลอม ที่ถูกทำขึ้นจาก ChatGPT โดยยกตัวอย่าง 3 ธนาคาร ดัง คือ ธนาราคไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกสิกรไทย (K-Bank) ซึ่งสามารถจับจุดแตกต่างของแต่ละธนาคารได้ ดังนี้

– ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB : จุดจับผิดของสลิปปลอมธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ดูที่รูป “น้องหมา” เป็นหลัก เนื่องจากใบเสร็จการโอนเงินที่สร้างจาก AI จะทำตัวการ์ตูนออกมาอ้วนและมีขนาดใหญ่กว่าสลิปจริง ทั้งนี้ ต้องคอยอัปเดตข้อมูลต่อไปว่า หาก ChatGPT พัฒนาระบบ ในอนาคตจะแก้ไขข้อบกพร่องตรงนี้ และสร้างสลิปที่ดูเหมือนจริงขึ้นมาได้หรือไม่
– ธนาคารกรุงเทพ (BBL) : เป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับผู้ใช้ธนาคารกรุงเทพ เนื่องจากสลิปปลอมมีความเหมือนกับสลิปโอนเงินจากธนาคารมาก ทั้งสี การจัดวาง รวมถึงฟอนต์ตัวอักษรภาษาไทย อาจจะมีจุดสังเกตเล็ก ๆ บริเวณตัวเลข ที่บางครั้งเอไอทำออกมาไม่แนบเนียน จึงต้องคอยจับตามองว่าตัวเลขที่ยอดโอนมีขนาดที่ใหญ่เกินไป หรือมีสีแตกต่างจากข้อความอื่นในหน้าสลิปเดียวกันไหม
– ธนาคารกสิกรไทย (K-Bank) : สลิปปลอมจากกสิกรไทย เป็นอีกหนึ่งธนาคารที่จับพิรุธได้ยาก แต่ก็ยังมองเห็นได้ชัดกว่า BBL โดยเฉพาะรูปแบบของตัวเลขตรงยอดเงิน จะแตกต่างและมองออกว่าไม่เหมือนใบเสร็จรับหรือโอนเงินของธนาคาร ใครที่ไม่อยากโดนหลอก จึงต้องจ้องตัวเลขตรงนี้ไว้ให้ดีว่ามองแล้วเนียนไปกับหมายเลขธนาคารด้วยรึเปล่า

อย่างไรก็ตาม เพจดังกล่าวได้เตือนภัยให้ผู้ใช้บัญชีธนาคารทุกคน ระมัดระวังการทำธุรกรรมออนไลน์ เนื่องจากการปลอมสลิป โดยใช้ ChatGPT ฝั่งคนทำต้องรู้ทั้งหมายเลขบัญชี ชื่อบัญชี และชื่อ-นามสกุลของผู้รับเงิน ซึ่งถือเป็นข้อมูลส่วนตัวที่ไม่ควรเผยแพร่ให้คนอื่นรู้
ดังนั้น เมื่อได้รับยอดเงินจึงควรตรวจสอบ ชื่อ-นามสกุลว่าสะกดถูกต้องไหม เนื่องจากบางครั้งระบบเอไอมักผิดพลาดในเรื่องนี้ อาจมีการสะกดผิด หรือสลับตักอักษรได้ อีกสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ ควรเช็กเวลาในการโอนเงินและยอดเงินให้ถูกต้องด้วย เพื่อย้ำให้มั่นใจว่าสลิปที่ได้มาเป็นของจริง.
อ้างอิง : Facebook Pikileaks Lertsavetpong
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เตือนภัย สลิปปลอม สร้างจาก ChatGPT ตัวอักษร-ลายน้ำ เหมือนเป๊ะ
- ระวัง มิจฉาชีพ แอบอ้าง M-Flow ส่ง SMS ทวงหนี้ปลอม พร้อมลิงก์ดูดเงิน
- อย่าหลงเชื่อ มิจฉาชีพอ้างรับทำใบขับขี่ออนไลน์ จ่ายแค่เงิน ไม่ต้องเข้าอบรม