ดาราครึ่งวงการไม่รอด เอเจนซี่ดังโกงเงิน ยอดทะลุสิบล้าน ร้อง ‘กันจอมพลัง’ ช่วย

ดารา อินฟลู ครึ่งวงการยังไม่รอด แฉกลโกง เอเจนซี่ดัง ย่านลาดพร้าว เบี้ยวเงินอินฟลูฯ-แบรนด์ เสียหายนับสิบล้าน ล่าสุดคนดังแห่ร้อง “กัน จอมพลัง”
ดราม่าเอเจนซี่ดัง ย่านลาดพร้าวยังไม่จบ จากกรณีกลุ่มผู้เสียหายจำนวนมาก ทั้งอินฟลูเอนเซอร์, ผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ (KOL), เจ้าของแบรนด์สินค้า, ผู้ประกอบการ และอดีตพนักงาน ได้ทยอยออกมาเปิดโปงพฤติกรรมของบริษัทเอเจนซี่ชื่อดังแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว มีเจ้าของชื่อย่อ “P” กล่าวหาว่าบริษัทและนาย P มีพฤติกรรมฉ้อโกง เบี้ยวค่าจ้าง ไม่ส่งมอบงานตามสัญญา และไม่จ่ายเงินเดือนพนักงาน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 20 ล้านบาท นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา จนนำไปสู่การรวมตัวแจ้งความและขอความช่วยเหลือจากบุคคลที่มีชื่อเสียง
จุดเริ่มต้นของดราม่า เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2568 มีกระแสข่าวแพร่สะพัดในโลกออนไลน์ว่า มีเอเจนซี่รายหนึ่งกำลังเบี้ยวค่าจ้างผู้ร่วมงานจำนวนมาก ประเด็นดังกล่าวถูกจุดติดและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านแฮชแท็ก #เตือนภัยอินฟลู และ #เอเจนซี่ลอยแพ
ต่อมา อินฟลูเอนเซอร์และเพจชื่อดังหลายราย เช่น เพจ “แม่จ๋าๆ พามาตาไปเที่ยวหน่อย”, “รีวิวอะไรวะ”, “คุณแม่ยังสวย”, Lantis Fortune และ Katoon Khumkun ลั้ลลาพาเที่ยว ได้ออกมาแสดงตัวว่าเป็นผู้เสียหาย โดยเปิดเผยว่าถูกเอเจนซี่ดังกล่าวเบี้ยวค่าจ้างมาเป็นเวลานาน บางรายถูกค้างจ่ายมาตั้งแต่ปี 2565 ยังไม่ได้รับเงินจนถึงปัจจุบัน ผู้เสียหายกลุ่มนี้ได้ตัดสินใจนำเรื่องราวไปร้องสื่อ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและเตือนภัยไม่ให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อเพิ่มอีก
กระทั่งวันที่ 10 มีนาคม 2568 กลุ่มผู้เสียหายกว่า 50 คน ได้รวมตัวกันเดินทางไปยังศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) และกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ นาย P เจ้าของบริษัทเอเจนซี่ 3 บริษัท ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ย่านลาดพร้าว 71 (โดยย้ายมาจากย่านรัชดาเนื่องจากค้างค่าเช่า)
ผู้เสียหายได้ให้ข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมของเอเจนซี่และนาย P ดังนี้
1. ว่าจ้างอินฟลูเอนเซอร์และ KOL ให้รีวิวสินค้าหรือบริการ แต่เมื่อทำงานเสร็จกลับไม่จ่ายเงินค่าจ้างตามที่ตกลงไว้ ทั้งที่ได้รับเงินจากลูกค้า (เจ้าของแบรนด์) มาแล้ว โดยใช้วิธีบ่ายเบี่ยง อ้างปัญหาต่างๆ หรือแม้กระทั่งส่งหลักฐานการจ่ายเงินปลอม (เช่น ภาพเช็คที่ยังไม่ได้นำเข้าบัญชี)
2. รับเงินค่าจ้างทำการตลาดออนไลน์หรือจัดอีเวนต์จากเจ้าของแบรนด์ แต่ไม่ผลิตผลงานตามสัญญา หรือผลิตงานที่ไม่มีคุณภาพออกมาเพื่อให้ลูกค้าตำหนิและใช้เป็นข้ออ้างในการประวิงเวลา
3. หลอกลวงด้วยข้อเสนอเกินจริง อ้างว่าจะสามารถสร้างผลกำไรให้แบรนด์ได้อย่างมหาศาล หรืออ้างว่าจะจ้างดาราดังมาร่วมงาน แต่กลับไม่สามารถทำได้จริง และบางครั้งถูกค่ายดาราปฏิเสธการร่วมงานเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงิน
4. เมื่อถูกทวงถามเรื่องงานหรือเงิน จะโยนความผิดให้อินฟลูเอนเซอร์ว่าทำงานไม่ดี หรือเรื่องมาก เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์
5. ทำเอกสารยกเลิกสัญญาปลอม โดยอ้างว่าแบรนด์เป็นฝ่ายขอยกเลิก เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ
6. ดีตพนักงานหลายรายไม่ได้รับเงินเดือนเป็นเวลาหลายเดือน จนต้องทยอยลาออก
7. หากผู้เสียหายพยายามเปิดโปงหรือทวงถาม นาย P จะข่มขู่ว่าจะฟ้องกลับ ทำให้ผู้เสียหายบางส่วนไม่กล้าดำเนินการทางกฎหมาย
8. นำภาพงานอีเวนต์ที่แบรนด์จ้างบริษัทอื่นจัด ไปโพสต์แอบอ้างว่าเป็นผลงานของบริษัทตนเอง
9. มีข้อสงสัยว่าบริษัทไม่ได้จดทะเบียนกับกรมสรรพากรอย่างถูกต้อง
น.ส. เขมิกา และ น.ส. ดาวรัตณ์ เจ้าของแบรนด์ที่เสียหาย เปิดเผยว่า พวกเธอรู้จักเอเจนซี่นี้ผ่านโฆษณาออนไลน์ และได้เข้าไปตรวจสอบที่ตั้งบริษัท (ในขณะนั้นอยู่ย่านรัชดา) พบว่ามีพนักงานทำงานอยู่จริง จึงเกิดความน่าเชื่อถือและตัดสินใจลงทุนรายละหลายล้านบาท แต่สุดท้ายกลับไม่ได้รับงานตามสัญญา
ต่อมาบริษัทได้ย้ายหนีค่าเช่ามาอยู่ที่ลาดพร้าว พวกเธอตั้งข้อสังเกตว่า แม้นาย P จะอ้างว่าธุรกิจล้มเหลว แต่กลับพบว่ามีเงินหมุนเวียนในบัญชีส่วนตัวหลายสิบล้านบาท และมักจะถอนเงินที่ลูกค้าโอนให้ทันทีในวันถัดมา
ด้าน น.ส. อัมพาพันธุ์ จากเพจ “แม่จ๋าๆ พามาตาไปเที่ยวหน่อย” เล่าว่า ตนและอินฟลูเอนเซอร์คนอื่นๆ พยายามรวมตัวกันเพื่อเตือนภัย แต่กลับถูกนาย P ติดต่อมาขู่ว่าจะฟ้องร้อง นอกจากนี้ นาย P ยังเคยแอบอ้างว่าจ้างพิธีกรชื่อดัง หนุ่ม กรรชัย มาโปรโมทสินค้าให้ด้วย
นายเลิศฤทธิ์ และ นายบุญรอด จากช่อง “ภูเขา ชาแนล” ซึ่งเสียหายเป็นเงิน 45,000 บาท กล่าวว่า ต้องการมาแจ้งความเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้อินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ระมัดระวัง และยืนยันว่านาย P ใช้ตำแหน่งประธานบริษัทเป็นข้ออ้างในการบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายเงิน
กัน จอมพลังยื่นมือช่วยเหลือ – คนดังร่วมวงแฉเพิ่ม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26-27 มีนาคม 2568 กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังระดับแถวหน้าของประเทศ นำโดย สไปรท์ SPD, เซียนหรั่ง, โอฮาน่า (OHANA), โจโฉ, อนันเป็ด (ANANPED), แบงกิ (Bankii), พลอย (pigkaploy), ครีมไลค์ (creamlike) และ นกฮูก ได้รวมตัวเข้าร้องเรียนขอความช่วยเหลือจาก นายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ “กัน จอมพลัง”
กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ยืนยันว่าตกเป็นเหยื่อของเอเจนซี่และนาย P เจ้าเดียวกัน ด้วยพฤติกรรมเดิมๆ คือหลอกให้ทำงาน แต่เมื่อถึงกำหนดจ่ายเงิน กลับบ่ายเบี่ยงอ้างว่าลูกค้า (แบรนด์) ยังไม่จ่ายเงิน จนอินฟลูเอนเซอร์ต้องติดต่อไปสอบถามลูกค้าโดยตรง จึงทราบความจริงว่าลูกค้าได้จ่ายเงินให้กับเอเจนซี่ไปนานแล้ว แต่เงินกลับไม่ถึงมือผู้ทำงาน ความเสียหายในกลุ่มนี้รวมกันคาดว่าสูงกว่า 20 ล้านบาท
กัน จอมพลัง ได้รับเรื่องและรับปากว่าจะให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดีกับเอเจนซี่ดังกล่าว และช่วยเตือนภัยเพื่อหยุดยั้งวงจรการหลอกลวงนี้ ไม่ให้มีผู้เสียหายเพิ่มขึ้นอีก โดยเขากล่าวว่า “ทั้งหมดเจ้าเดียวกันนี่ถ้าไม่ทำอะไรหมดทั้งวงการ”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เจฟ ซาเตอร์ แช่ง “ขอให้ขี้หักใน” มิจฉาชีพโกงบัตรคอนเสิร์ต แบมแบม GOT7 ร่วมวง “สาธุ!”
- ดีเจมะตูม เดือด สาวไลฟ์สดกล่าวหาโกงเงินแสน ท้าชน ประกาศฟ้อง!
- บริษัทเอเจนซี่ดัง ปลดฟ้าผ่า พนง.ระดับสูง หลังพบทำผิดกฎร้ายแรง