แจงดราม่า รอคิวทำฟัน 8 ปี ทันตแพทยสภา แถลง หมอฟันรัฐ 1 คน ดูแลบัตรทอง 9,150 คน

จากดราม่า รอคิวทําฟัน 8 ปี โดยเป็นหัตการทำฟันเทียมที่โรงพยาบาลรัฐบาล ล่าสุด ทันตแพทยสภา ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องนี้ว่า
การรับบริการทําฟันเทียมนั้น จําเป็นต้องผ่านการเตรียมช่องปากเช่น อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินน้ำลาย รวมทั้งอาจมีการผ่าตัดแต่งกระดูกร่วมด้วย ดังนั้น จะต้องใช้เวลานานพอสมควรในการเตรียมช่องปากให้พร้อมที่จะใส่ฟันเทียมได้ อีกทั้งในการทําฟันเทียมจะมีหลายขั้นตอนขึ้นอยู่กับชนิดของฟันเทียม และจํานวนฟันที่หายไป และจะใช้ระยะเวลา การส่งแล็ปทันตกรรมผลิตฟันเทียมให้ผู้ป่วยแต่ละราย
การทําฟันเทียมในผู้ป่วย แต่ละรายจะใช้ระยะเวลาในการรักษานาน ต้องนัดมาพบทันตแพทย์อย่างต่อเนื่องกว่าจะมีฟันเทียมใช้งานได้ ดังนั้น คิวในการทําฟันเทียม สําหรับผู้ป่วยแต่ละรายในโรงพยาบาลของรัฐจึงมีข้อจํากัด และโรงพยาบาลยังต้องจัดสรรคิวในการให้บริการทันตกรรมอื่น ๆ อีกด้วย
จากข้อมูลปัจจุบันประเทศไทยมีทันตแพทย์อยู่ประมาณ 22,000 คน หรือคิดเป็นทันตแพทย์ 1 คน ต่อ ประชากร 3,000 คน ซึ่งสามารถดูแลประชาชนได้อย่างเหมาะสมในระดับหนึ่ง แต่เมื่อคิดเฉพาะสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีสิทธิบัตรทองต่อทันตแพทย์ ที่อยู่ในสังกัดของโรงพยาบาลของรัฐ เช่น โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข หรือ โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยนั้น ทันตแพทย์จะต้องดูแลผู้ป่วยบัตรทองในสัดส่วนที่สูงมาก เช่น ในจังหวัดที่เป็นข่าวดังกล่าว สัดส่วนจะอยู่ที่ ทันตแพทย์ 1 คน ต่อ ประชากรบัตรทอง 9,150 คน หรือมากกว่าสัดส่วนที่ควรจะเป็นอยู่ที่ ประมาณ 3 เท่า ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจึงบ่งบอกถึงการมีจํานวนทันตแพทย์สําหรับรองรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ยังมีไม่เพียงพอ จึงทําให้เกิดปัญหา การรอคิวในการทําฟันในระยะเวลาที่นาน
การแก้ไขปัญหานี้ในระยะสั้นนั้น ทันตแพทยสภาเสนอให้มีทางเลือกสําหรับผู้ป่วยบัตรทองในการรับบริการฟันเทียมที่คลินิกทันตกรรมเอกชน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภาระงานที่ล้นเกินในภาครัฐ และผู้ป่วยจะไม่ต้องรอคิวฟันเทียมที่ยาวนาน ทั้งนี้ ทันตแพทยสภาจะปรึกษาหารือ กับทางสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ โดยต้องคํานึงถึงภาระการเงินของประเทศในระยะยาวต่อไปด้วย
ส่วนการแก้ปัญหาดังกล่าวในระยะยาว จําเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาให้เกิดเครือข่ายบริการร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานบริการทันตกรรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย คลินิกทันตกรรมเอกชน องค์การบริหารส่วนจังหวัด และสังกัดอื่นๆ เพื่อให้สามารถจัดบริการทันตกรรมให้ กับผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ป้องกันโรคทางทันตกรรม การรักษา และการใส่ฟันเทียมฟื้นฟูสภาพ ทั้งนี้หากสามารถบูรณาการให้บริการทันตกรรมแก่ผู้ป่วยในทุกสิทธิได้ ก็จะลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในการรับบริการทันตกรรมได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ช็อก! ทันตแพทย์ ตั้งใจทำฟัน ผู้ป่วยเสียหาย ก่อนขูดเงินเพิ่ม
- หมอฟันเตือน พฤติกรรมตอนเช้าที่อาจทำให้คุณฟันเหลืองโดยไม่รู้ตัว
- หมอฟันสาวเผย ช่วงเวลาใดอย่า “แปรงฟัน” หลังให้โทษมากกว่าประโยชน์