3 เมนูอาหาร ใกล้ตัว ปนเปื้อน “ไมโครพลาสติก” สูงมาก มีคู่ครัวไทย

อาหาร 3 อย่างใกล้ตัว ที่มี “ไมโครพลาสติก” ปนเปื้อนสูง มีในครัวไทย
พลาสติก…อยู่รอบตัวเราไปแล้ว ผลวิจัยใหม่ล่าสุดเผยว่า “ไมโครพลาสติก” หรือพลาสติกจิ๋ว แอบปนเปื้อนอยู่ในผักผลไม้ที่เรากินกันอยู่ทุกวัน รวมไปถึงไมโครพลาสติกเองก็ซึมผ่านแทรกเข้าไปอยู่ในสมองมนุษย์เรียบร้อยแบบเลี่ยงไม่ได้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และสนับสนุนการวิจัยผลกระทบของมลพิษพลาสติกต่อสุขภาพ เพราะยิ่งเราช้าเท่าไหร่ เราก็ยิ่งกินพลาสติกเข้าไปมากขึ้นเท่านั้น
1. ผักและผลไม้
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาตาเนีย ประเทศอิตาลี พบอนุภาคพลาสติกขนาดจิ๋วในผักผลไม้ เช่น แครอท ผักกาดหอม แอปเปิล และลูกแพร์
- แอปเปิล เป็นผลไม้ที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนสูงมาก โดยเฉลี่ยพบอนุภาคพลาสติกถึง 195,500 ชิ้นต่อ 1 กรัม!
- ลูกแพร์ ก็ไม่น้อยหน้า พบเฉลี่ยประมาณ 189,500 ชิ้นต่อ 1 กรัม
- บรอกโคลีและแครอท เป็นผักที่ปนเปื้อนมากที่สุด เฉลี่ยมากกว่า 100,000 ชิ้นต่อ 1 กรัม
งานวิจัยก่อนหน้านี้ยังพบว่า ไมโครพลาสติกสามารถแทรกซึมเข้าไปในรากของผักกาดหอมและข้าวสาลีได้ และรากพืชก็ดูดซับ “นาโนพลาสติก” (พลาสติกที่เล็กกว่าไมโครพลาสติก) ได้อีกด้วย ผักผลไม้เหล่านี้ดูดซับไมโครพลาสติกจากน้ำและดินที่ปนเปื้อน
“ทุกครั้งที่เรากัดแอปเปิล ก็เหมือนกับเรากำลังกินไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย” คุณศิออน ชาน นักรณรงค์จากกรีนพีซเอเชียตะวันออก สำนักงานฮ่องกง กล่าว “เพื่อลดมลพิษพลาสติก บริษัทต่างๆ ควรลดการใช้พลาสติกและลดขยะพลาสติกในกระบวนการผลิต ห้างร้านต่างๆ ใช้พลาสติกเยอะมาก! ยิ่งเราลดการใช้พลาสติกได้เร็วเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งกินไมโครพลาสติกน้อยลงเท่านั้น”
2. เกลือ
สภาผู้บริโภคฮ่องกง (Consumer Council) พบไมโครพลาสติกในตัวอย่างเกลือที่ทดสอบถึง 20% (เมษายน 2563) โดยพบไมโครพลาสติกตั้งแต่ 114 ถึง 17,200 มิลลิกรัมต่อเกลือ 1 กิโลกรัม! บางตัวอย่างยังแสดงให้เห็นว่า ไมโครพลาสติกมาจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Polypropylene – PP) อีกด้วย
งานวิจัยปี 2561 โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติอินชอน เกาหลีใต้ และกรีนพีซเอเชียตะวันออก พบว่า กว่า 90% ของตัวอย่างเกลือ 39 ยี่ห้อ จาก 21 ประเทศ มีไมโครพลาสติกปนเปื้อน และเกลือเหล่านี้ก็ยังวางขายอยู่ทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายของชำ หรือร้านค้าออนไลน์ จากงานวิจัยทั่วโลก คาดการณ์ว่า คนเราอาจกินไมโครพลาสติกเข้าไปประมาณ 20,000 ชิ้นต่อปี หากกินเกลือเฉลี่ยวันละ 10 กรัม
3. ปลากระบอก
มหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งฮ่องกง (The Education University of Hong Kong) พบเศษไมโครพลาสติกในปลากระบอกที่จับได้จากธรรมชาติถึง 60% (ปี 2561) โดยเฉลี่ยพบ 4.3 ชิ้นต่อปลา 1 ตัว! ที่น่าตกใจคือ มีปลาตัวหนึ่งกลืนพลาสติกเข้าไปถึง 80 ชิ้น! และยังพบเศษพลาสติกจำนวนมากในปลาทะเลและปลากระบอกที่ซื้อจากตลาดปลาต่างๆ
พลาสติกเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารได้อย่างไร?
ไมโครพลาสติก คือ ชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่มาจากพลาสติกที่เราใช้แล้วทิ้งในชีวิตประจำวัน เช่น บรรจุภัณฑ์จากซูเปอร์มาร์เก็ต ถุงตาข่ายใส่ผลไม้ ถุงใส่ขนมปัง เป็นต้น ในแต่ละปี มีขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากกว่า 112 ตันไหลลงสู่ทะเลในฮ่องกง บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจึงกลายเป็นแหล่งสำคัญของมลพิษพลาสติก
ไมโครพลาสติกเข้าสู่มหาสมุทรได้ เพราะมีขนาดเล็กเกินกว่าจะถูกกรองหรือคัดแยกในกระบวนการบำบัดน้ำเสีย ขยะพลาสติกไม่ละลายในน้ำ แต่จะแตกตัวเป็นอนุภาคเล็กๆ ซึ่งมักถูกสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในน้ำ เช่น แพลงก์ตอนและหอย กินเข้าไป และค่อยๆ เคลื่อนที่ขึ้นไปตามห่วงโซ่อาหาร
อันตรายของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพ
ไมโครพลาสติกทำลายสุขภาพของสัตว์น้ำ เช่น ทำให้ลำไส้ของปลาผิดรูป นอกจากนี้ ไมโครพลาสติกอาจมีสารเติมแต่งที่เป็นพิษและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ และยังสามารถเกาะติดกับสารมลพิษอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนาน (POPs) เช่น ยาฆ่าแมลง และสารพลาสติไซเซอร์ หรือพลาสติก PE และ PP ที่ใช้กันทั่วไป ไม่ว่าเราจะกินอาหารที่ปนเปื้อนพลาสติกหรือไมโครพลาสติก สุขภาพของเราก็ตกอยู่ในความเสี่ยง
ทางออกวิกฤตพลาสติก
ลด ละ เลิก การใช้พลาสติก หันมาปฏิเสธบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่จำเป็น และเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง สนับสนุน ให้ร้านค้าต่างๆ ใช้ระบบคืนเงินค่าขวดพลาสติก และเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถเติมสินค้าได้เอง (refill) โดยไม่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก รวมถึงสร้างโซนปลอดพลาสติกในร้านค้า
เราต้องการให้คุณมีส่วนร่วมในการลดหรือเลิกใช้พลาสติกเมื่อไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ถึงเวลาแล้วที่เราจะเปลี่ยนจากผู้บริโภคที่รับอย่างเดียว มาเป็นผู้บริโภคที่ตัดสินใจได้
เรียบเรียงจาก : greenpeace
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- พบ “ไมโครพลาสติก” ในสมองมนุษย์ เป็นครั้งแรกของโลก
- นักวิจัยพบ ‘ไมโครพลาสติก’ ในองคชาต เร่งศึกษาทำเซ็กซ์เสื่อมหรือไม่
- เปิดลิสต์ อาหารที่พบ “ไมโครพลาสติก” มากที่สุด เรากำลังกินโดยไม่รู้ตัว
- นักวิทยาศาสตร์ พบไมโครพลาสติกในก้อนเมฆ ไม่มีที่ไหนปลอดภัย!