ข่าว

ราชกิจจาฯ ประกาศแบงก์ชาติ คุมเข้มความปลอดภัย โมบายแบงก์กิ้ง มีผลใน 30 วัน

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยกระดับความปลอดภัยการใช้บริการทางการเงิน “โมบายแบงก์กิ้ง” เพื่อป้องกันเหล่าแก๊งมิจฉาชีพ มีผลบังคับใช้ 30 วันหลังออกประกาศ

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ 4/2568 ว่าด้วยเรื่อง การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการให้บริการทางการเงินและการชำระเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ สำหรับสถาบันการเงิน โดยมีเหตุผลในการออกประกาศ ดังนี้

Advertisements

ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) มีบทบาทสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการให้บริการทางการเงินและการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันของสถาบันการเงินแก่ผู้ใช้บริการที่เป็นบุคคลธรรมดาบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (บริการ Mobile Banking) ที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันการให้บริการ Mobile Banking ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ (cyber threat) และภัยทุจริตทางการเงิน (fraud) ที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและใช้เทคนิควิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้น อันอาจสร้างความเสียหายต่อผู้ใช้บริการในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงินของประเทศ

ธนาคารแห่งประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันภัยทุจริตดังกล่าว จึงได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการให้บริการทางการเงินและการชำระเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพื่อยกระดับการให้บริการ Mobile Banking ให้มีมาตรฐานขั้นต่ำที่จำเป็นสำหรับการให้บริการทางการเงินและการชำระเงินบนแอปพลิเคชั่นของสถาบันการเงินให้เป็นไปอย่างปลอดภัย เท่าทันความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์และภัยทุจริตทางการเงินที่มีการสวมรอยทำธุรกรรมแทนผู้ใช้บริการ (Unauthorized Payment Fraud)

การประกาศครั้งนี้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2553 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกหลักเกณฑ์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการให้บริการทางการเงิน และการชำระเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่สำหรับสถาบันการเงินถือปฏิบัติตามที่กำหนดในประกาศฉบับนี้

ประกาศแบงก์ชาติ คุมเข้มความปลอดภัย โมบายแบงก์กิ้ง
ภาพจาก : ratchakitcha

ในส่วนของหลักเกณฑ์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการให้บริการทางการเงินและการชำระเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ประกอบด้วยมาตรการ 2 ส่วน ได้แก่ 1. การป้องกันการสวมรอยทำธุรกรรมแทนผู้ใช้บริการ (Unauthorized Payment Fraud) 2. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของบริการ Mobile Banking โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

Advertisements

1. งดเว้นการแนบลิงก์ผ่านช่องทางข้อความสั้น (SMS) และช่องทางอีเมล แต่สำหรับกรณีช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ให้สถาบันการเงินงดแนบลิงก์เฉพาะที่มี การขอข้อมูลในการยืนยันตัวตน หรือข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน รหัสใช้ครั้งเดียว (one time password – OTP) รหัส PIN หมายเลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด เพื่อป้องกันการสวมรอยเป็นสถาบันการเงิน การขอให้เปิดเผยข้อมูลสำคัญ (sodal engineering) หรือการถูกติดตั้ง mobile malware

อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินสามารถแนบลิงก์ผ่านทั้ง 3 ช่องทางดังกล่าวได้หากผู้ใช้บริการดำเนินการร้องขอเอง โดยสถาบันการเงินสามารถแนบลิงก็ได้เป็นรายครั้ง พร้อมทั้ง ต้องมีการสื่อสารย้ำให้ผู้ใช้บริการทราบว่าการส่งลิงก์ดังกล่าวเป็นกรณีเฉพาะตามคำร้องขอของผู้ใช้บริการเป็นรายครั้งเท่านั้น

2. มีกระบวนการติดตามและรับมืออย่างทันการณ์ต่อแอปพลิเคชันที่ปลอมแปลง หรือแอบอ้างเป็นแอปพลิเคชันของสถาบันการเงินที่ให้บริการ Mobile Banking ในแพลตฟอร์มที่เป็นทางการของผู้ให้บริการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน (official app store) เช่น Google Play Store Apple App Store รวมทั้งมีกระบวนการรับมือ และตอบสนองอย่างเหมาะสม และทันการณ์สำหรับแอปพลิเคชันปลอมแปลงที่อยู่นอกแพลตฟอร์มดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้ใช้บริการจะหลงเชื่อ และเปิดเผยข้อมูลสำคัญ ถูกติดตั้ง malware หรือถูกติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม

3. จำกัดการใช้บริการ Mobile Banking ของผู้ใช้บริการไว้เพียง 1 บัญชีผู้ใช้งานต่อ 1 บริการ Mobile Banking ของแต่ละสถาบันการเงิน และจำกัดการใช้บริการดังกล่าว โดยให้ใช้งานบน 1 อุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้ใช้บริการเท่านั้น

4. ต้องจัดให้มีกระบวนการยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการเพิ่มเติมในขั้นตอน การทำธุรกรรมผ่านบริการ Mobile Banking บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ โดยใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า(face comparison) ร่วมกับการตรวจจับการปลอมแปลงชีวมิติ (presentation attack detection)ที่สามารถป้องกันการใช้รูปภาพ วิตีโอ หรือการปลอมแปลงชีวมิติในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น การใช้ เทคโนโลยี liveness detection เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้บริการเป็นผู้ทำธุรกรรมด้วยตนเอง ซึ่งต้องจัดให้มี กระบวนการยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการเพิ่มเติมดังกล่าวอย่างน้อยในกรณี ดังต่อไปนี้

  • การทำธุรกรรมโอนเงินในแต่ละครั้งมีมูลค่าตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไป หรือ
  • การทำธุรกรรมโอนเงินมูลค่ารวมกัน ครบทุก 200,000 บาท ในรอบระยะเวลา 1 วัน หรือ
  • การปรับเพิ่มวงเงินการทำธุรกรรมโอนเงินต่อวัน ให้สามารถได้ ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป

ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ใช้บริการมีข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า (face comparison) เช่น เป็นคนพิการทางสายตา สถาบันการเงินอาจพิจารณางดเว้นการยืนยันตัวตนเพิ่มเติมตามที่กำหนดข้างต้นได้ โดยต้องมีแนวทางลดความเสี่ยงทดแทน หรือกรณีการทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น การทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างบัญชีตนเอง การทำธุรกรรมโอนเงินประจำ อัตโนมัติ (automatic recurring transfer) ที่ได้ยืนยันตัวตนไปแล้วในครั้งแรก สถาบันการเงินอาจพิจารณางดเว้นการยืนยันตัวตนเพิ่มเติมตามที่กำหนดข้างต้นได้

5. กำหนดเพดานวงเงินสูงสุดต่อวันสำหรับธุรกรรมถอนเงินหรือโอนเงิน ผ่านบริการ Mobile Banking ให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการ เพื่อลดความเสียหายเมื่อผู้ใช้บริการตกเป็นเหยื่อ หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทุจริต

สถาบันการเงินสามารถใช้แนวทางหรือกำหนดที่ได้จัดทำร่วมกัน (industry standard) มาใช้ประกอบการจัดระดับความเสี่ยง หรือกำหนดเพดานวงเงินสูงสุดของกลุ่ม ผู้ใช้บริการได้ และในกรณีที่ผู้ใช้บริการขอยกเว้นการกำหนดวงเงินตามกลุ่มความเสี่ยงที่กำหนดไว้สถาบันการเงินต้องมีกระบวนการพิจารณาการขอยกเว้นที่ชัดเจน และรัดกุมด้วย

ทั้งนี้ ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

อ่านประกาศฉบับเต็ม คลิก

ประกาศแบงก์ชาติ คุมเข้มความปลอดภัย โมบายแบงก์กิ้ง
ภาพจาก : ratchakitcha
ประกาศแบงก์ชาติ คุมเข้มความปลอดภัย โมบายแบงก์กิ้ง
ภาพจาก : ratchakitcha
ประกาศแบงก์ชาติ คุมเข้มความปลอดภัย โมบายแบงก์กิ้ง
ภาพจาก : ratchakitcha
ประกาศแบงก์ชาติ คุมเข้มความปลอดภัย โมบายแบงก์กิ้ง
ภาพจาก : ratchakitcha
ประกาศแบงก์ชาติ คุมเข้มความปลอดภัย โมบายแบงก์กิ้ง
ภาพจาก : ratchakitcha
ประกาศแบงก์ชาติ คุมเข้มความปลอดภัย โมบายแบงก์กิ้ง
ภาพจาก : ratchakitcha

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button