ส่อง 5 เทรนด์ กลโกงมิจฉาชีพ ปี 68 มักมารูปแบบไหน รู้ไว้ ไม่เสียท่าโจร
ตำรวจสอบสวนกลาง พาเปิด 5 เทรนด์กลลวงของมิจฉาชีพ ประจำปี 2568 ส่วนใหญ่มักมารูปแบบไหน ศึกษาไว้ จะได้ไม่เสียท่าให้โจรร้าย อันดับหนึ่งแน่นอนเป็นการใช้ AI ลวงเหยื่อ
ปีเก่าผ่านไป แต่มิจฉาชีพยังอยู่ยงไม่ไปไหน และนับวันก็ยิ่งจะทวีความแยบยลขึ้นไปอีก จนประชาชนอย่างเรา ๆ ชักจะแยกไม่ออก ว่าสิ่งไหนจริง หรือเป็นเพียงกลอุบาย โดยตั้งแต่เริ่มต้นปีใหม่มาได้ไม่ถึงหนึ่งเดือน มีประชาชนตกเป็นเหยื่อเหล่ามิจฉาชีพไปแล้วหลายต่อหลายราย ซ้ำมูลค่าความสูญเสียในแต่ละเคสก็ไม่ใช่น้อย
ล่าสุด (23 มกราคม 2568) ตำรวจสอบสวนกลาง ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูล “TOP 5 เทรนด์ประจำปี 2025 มิจฉาชีพจะมาแบบไหนกันนะ?” ชี้ให้เห็นถึงกลลวงของบรรดามิจฉาชีพ ที่มักนำมาหลอกล่อคนไทยให้เสียทรัพย์ ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยเตือนภัย เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทัน และไม่ตกเป็นเหยื่อ โดยทั้ง 5 เทรนด์ฮิตมีดังนี้
1. AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตเพิ่มความสะดวกสบาย แต่ในทางกลับกัน มิจฉาชีพก็เอามาใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดด้วยเช่นกัน โดยรูปแบบ Voice Cloning เป็นการใช้ AI ปลอมเสียงเลียนแบบเสียงของบุคคลอื่นเพื่อใช้ในการหลอกเหยื่อ และรูปแบบ Deepface ที่ใช้ AI ปลอมแปลงใบหน้าให้มีความคล้ายคลึงกับบุคคลอื่น หลอกให้หลงเชื่อเรื่องต่าง ๆ
2. Social Media ที่ต้องจับตามอง ในปัจจุบันเรามีการใช้งานโซเชียลมีเดียที่หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, Instagram และ TikTok เป็นต้น ซึ่งมิจฉาชีพมักจะแฝงเข้ามาท่ามกลางผู้คนมากมายบนโลกออนไลน์ มีทั้งเพจปลอมหลอกลงทุน หลอกขายของ แอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ ยิงแอดโฆษณาหลอกลวงคน
สำหรับสื่อออนไลน์ที่ต้องพึ่งระวังมากเป็นพิเศษก็คือ ติ๊กต่อก (TikTok) เนื่องจากมีการเติบโตสูงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ใช้งานหลากหลายกลุ่มอายุ ทั้งเด็ก วัยรุ่น วัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้มีมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงได้ทุกช่วงวัยและมีหลายคนตกเป็นเหยื่อ
3. ซื้อของออนไลน์ ปัจจุบันเราไม่มีแค่ Shoppee หรือ Lazada แต่สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่าง TikTok Shop, Facebook Shop และ Instagram Storefront ฯลฯ มีฟีเจอร์ซื้อสินค้าได้เช่นกัน ทำให้มิจฉาชีพใช้จุดนี้แฝงตัวเข้ามาหลอกขายสินค้าได้ง่าย ยิ่งมิจฉาชีพยิงแอดโฆษณา ทำให้มีหลายคนเห็นและตกเป็นเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าปลอม สินค้าเลียนแบบ ซื้อของไม่ได้ของ และได้สินค้าไม่ตรงปก
4. อินฟลูเอนเซอร์ และ เน็ตไอดอล (Influencer & Net Idol) โซเชียลมีเดียมีผลต่อการตัดสินใจของผู้คน บุคคลผู้มีชื่อเสียงไม่ว่าจะเคลื่อนไหวอะไร หรือทำอะไร ก็จะส่งผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มผู้ติดตามอินฟลู เกิดกระแสสังคมต่างๆ ทำให้มิจฉาชีพใช้วิธีในการปลอมตัว เพราะบุคคลที่แอบอ้างยิ่งมีชื่อเสียง ยิ่งมีคนรู้จักมาก คนก็ให้ความไว้ใจพร้อมที่จะเชื่อ ทำให้ถูกหลอกลงทุนได้ง่าย
5. แรงงานข้ามพรมแดน จากพิษภาวะเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจกำลังฟื้นตัว หลายคนที่ประสบปัญหาตกงาน แต่เมื่อในประเทศการหางานเป็นอะไรที่ยาก บางคนจึงเลือกที่จะไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งมักจะมีหลายเคสที่ถูกหลอกให้ทำงานต่างงประเทศ มีทั้งหลอกไปค้ามนุษย์ และหลอกให้โอนเงินเป็นค่าดำเนินการ ซึ่งพวกนี้จะแอบอ้างเป็นบริษัทนายหน้า ประกาศรับสมัครงานผ่านสื่ออนไลน์ หรือบางรายถูกหลอกให้ไปเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือบัญชีม้า
ทั้งนี้ ผู้อ่านท่านใดพบเห็นผู้ตกเป็นเหยื่อ หรือตัวท่านเองตกเป็นเหยื่อ สามารถแจ้งความออนไลน์ ในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ทางเว็บไซต์ thaipoliceonline โดยสามารถโทรสอบถามได้ที่ สายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 หรือ 081-866-3000 ไม่มีช่องทางไลน์ทางการ มีเพียงแชทบอท @police1441 ซึ่งจะให้บริการตอบคำถามประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ออมสิน แจ้งมุกใหม่มิจฉาชีพ ปลอมจดหมายธนาคาร หลอกแก้ไขข้อมูล
- กรมบัญชีกลาง เตือนภัย มิจฉาชีพอ้างเป็นจนท. หลอกข้าราชการ สแกนคิวอาร์โค้ด
- มุกใหม่มิจฉาชีพ อ้างตัวเป็นหมอสูติ ทักไลน์หาแม่ ขอดูภาพแผลหลังคลอด