การเงินเศรษฐกิจ

4 ธนาคารใหญ่ กำไรปี 67 พุ่ง สูงสุด 4 หมื่นล้าน

SCBX

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ของธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานผลการดำเนินงานปี 2567 มีกำไรสุทธิทั้งปีที่ 43,943 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% จากปีก่อน และกำไรสุทธิไตรมาสสี่ปี 2567 จำนวน 11,707 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% จากปีก่อน

สำหรับปี 2567 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 129,424 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากปีก่อน จากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ ในขณะที่ยอดสินเชื่อโดยรวมลดลงเล็กน้อยในอัตรา 1.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่นๆ จำนวน 40,657 ล้านบาท ลดลง 5.6% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันภัยและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อเป็นหลัก

Advertisements

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 72,977 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% จากปีก่อน โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 42.3%

บริษัทตั้งเงินสำรองลดลง 2.3% จากปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังรอบคอบมาโดยตลอด ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) คงอยู่ในระดับสูงที่ 158%

คุณภาพของสินเชื่อโดยรวมอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ 3.37% ลดลงเล็กน้อยจาก 3.44% ในปีก่อน เงินกองทุนตามกฎหมายของบริษัทอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.9%

ในปี 2568 SCBX จะเน้นสร้างการเติบโตต่อเนื่องจากธุรกิจที่มีอยู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะธุรกิจในกลุ่มสินเชื่อผู้บริโภค โดยมุ่งไปที่การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และการติดตามจัดเก็บหนี้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

บริษัทจะเดินหน้าให้ความเชื่อเหลือกลุ่มลูกค้าเปราะบางภายใต้มาตรการของภาครัฐอย่างเต็มกำลัง SCBX ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะเตรียมความพร้อมร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อจัดตั้ง Virtual Bank มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ตลอดจนสร้างโอกาสการเติบโตธุรกิจด้าน Climate Tech

Advertisements

นอกจากนี้ บริษัทเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็น AI-first organization โดยการใช้ AI ในทุกมิติของการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีกำไรสุทธิจำนวน 2,852.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,246.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 77.7 เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2566 สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง ร้อยละ 13.7 สุทธิกับการเพิ่มขึ้นในค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานร้อยละ 2.6

รายได้จากการดำเนินงาน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีจำนวน 15,102.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จำนวน 1,331 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.7 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2566 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ จากการดำเนินงานอื่นจำนวน 1,388,8 ล้านบาท หรือร้อยละ 49.4 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิ จากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน หนี้สูญรับคืนและกำไรจากเงินลงทุน สุทธิกับการลดลงของกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ

รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 237.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.9 ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากให้บริการชำระค่าสินค้าและบริการชำระเงิน และค่าธรรมเนียมการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน สุทธิกับการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 295.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 เนื่องจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเติบโตสูงกว่าการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ย

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2566 เพิ่มขึ้นจำนวน 224.7 ล้านบาทหรือร้อยละ 2.6 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขาย สุทธิกับการลดลงของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 อยู่ที่ร้อยละ 58.7 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2566 อยู่ที่ ร้อยละ 62.7 เป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้จากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin-NIM) สำหรับปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 เป็นผลจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น

วันที่ 31 ธันวาคม 2567 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 251.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงิน บางประเภท) จำนวน 324 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากสิ้นปี 2566 ซึ่งมีจำนวน 310.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็นร้อยละ 77.6 จากร้อยละ 78.9 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566

สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 6.7 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 สาเหตุเกิดจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในระหว่างงวด 2567 การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ และกระบวนการในการเก็บหนี้

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 อยู่ที่ร้อยละ 137.9 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 124.2 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 9.0 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท

เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีจำนวน 59.8 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 21.6 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 17.0

ธนาคารกสิกรไทย

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังมีสัญญาณฟื้นตัวไม่ทั่วถึง (K-Shaped Recovery) แม้ในภาพรวมสามารถประคองการขยายตัวไว้ได้ในระดับที่สูงกว่าปี 2566 โดยภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าบางหมวดที่ได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรสินค้าเทคโนโลยีขยายตัวได้ดี แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนยังมีสัญญาณอ่อนแอท่ามกลางแรงกดดันต่อเนื่องจากปัญหาความสามารถในการแข่งขัน ข้อจำกัดของกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศ และปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

สำหรับในปี 2568 แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากหลายด้าน โดยเฉพาะผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ปัญหาในภาคการผลิตและภาระหนี้เอกชนที่อยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข

ท่ามกลางความท้าทายของปัจจัยต่าง ๆ ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะการส่งมอบผลตอบแทนที่มั่นคงให้แก่ผู้ถือหุ้น การดูแลช่วยเหลือลูกค้าในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible lending) ตลอดจนการให้ความร่วมมือโครงการภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถดำเนินชีวิต และธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน ผ่านการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ 3+1 และการจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Productivity) อย่างต่อเนื่อง

ในไตรมาส 4 ปี 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้จำนวน 25,513 ล้านบาท ลดลงจำนวน 1,665 ล้านบาท หรือ 6.13% จากไตรมาส 3 ปี 2567 โดยรายได้จากการดำเนินงานสุทธิมีจำนวน 48,685 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ มีจำนวน 23,172 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,671 ล้านบาท หรือ 7.77% ซึ่งเป็นตามฤดูกาล รวมทั้งมีการตั้งสำรองผลขาดทุน ด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 12,242 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 590 ล้านบาท หรือ 5.06% ตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สำรองฯ อยู่ในระดับที่เหมาะสมรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้กำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 2567 มีจำนวน 10,494 ล้านบาท ลดลงจำนวน 1,471 ล้านบาท หรือ 12.30% จากไตรมาสก่อน

ในปี 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้จำนวน 110,673 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,988 ล้านบาท หรือ 2.77% จากปีก่อน โดยรายได้จากการดำเนินงานสุทธิมีจำนวน 197,946 ล้านบาท เติบโตจำนวน 5,293 ล้านบาท หรือ 2.75% เป็นผลจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร และการขยายตัวของปริมาณธุรกิจ

โดยในปี 2567 ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ มีจำนวน 87,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,305 ล้านบาท หรือ 2.71% จากปีก่อน สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในปี 2567 อยู่ที่ 44.09% ใกล้เคียงกับปีก่อนจากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้เกิดความคุ้มค่า และการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

โดยธนาคารและบริษัทย่อยยังคงตั้งสำรองฯ ตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในทุกไตรมาส เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เติบโตช้าและในอัตราที่ต่ำ แม้ว่าสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss : ECL) ลดลง 8.85% จากปีก่อนหน้า ส่งผลให้กำไรสุทธิในปี 2567 มีจำนวน 48,598 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 6,193 ล้านบาท หรือ 14.60%

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 149,376 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจำนวน 932 ล้านบาท หรือ 0.63% จากปีก่อน ส่วนหนึ่งจากเงินให้สินเชื่อที่เติบโตได้จำกัดสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับการยกระดับกระบวนการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin : NIM) อยู่ที่ 3.64% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน

นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 48,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 4,361 ล้านบาท หรือ 9.86% หลัก ๆ จากรายได้ค่าธรรมเนียมรับจากการให้บริการบริหารความมั่งคั่งให้ลูกค้าผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ครอบคลุมทั้งของธนาคารและบริษัทย่อย รวมทั้งพันธมิตร นอกจากนี้ ยังมีกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน และรายได้จากการลงทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งรายได้จากการให้บริการด้านปริวรรตเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ มีจำนวน 87,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,305 ล้านบาท หรือ 2.71% จากปี 2566 เป็นการเพิ่มในอัตราที่ต่ำ เมื่อเทียบกับค่าใช่จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ของปี 2566 ที่เติบโตจากปีก่อนหน้าในระดับที่สูง ซึ่งเป็นผลจากการมุ่งเน้นการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้เกิดความคุ้มค่า และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ หลัก ๆ ที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าใช้จ่ายทางการตลาดซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการขยายตัวของธุรกิจ รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการขยายช่องทางการให้บริการลูกค้า

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,325,287 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 จำนวน 41,731 ล้านบาท หรือ 0.97% โดยเงินให้สินเชื่อสุทธิมีจำนวน 2,390,187 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 18,695 ล้านบาท หรือ 0.79% สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับการยกระดับกระบวนการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของธนาคารในการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ให้มีประสิทธิผลสูงสุดอย่างระมัดระวังรอบคอบ

โดยสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ยังคงมีการเติบโต เงินรับฝากมีจำนวน 2,718,675 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 19,113 ล้านบาท หรือ 0.71% สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.18% โดยธนาคารยังคงติดตามและจัดการคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิดและรอบคอบ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างเหมาะสม และปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ รวมทั้งพิจารณาตั้งสำรองฯ อย่างเพียงพอตามหลักความระมัดระวัง โดยมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) สูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 153.27%

สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 20.25%

ธนาคารกรุงศรี

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ (BAY) รายงานผลประกอบการสำหรับปี 2567 มีกำไรสุทธิจำนวน 29,700 พันล้านบาท ลดลง 9.8% หรือ 3,229 ล้านบาท จากปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิ 32,929 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากการตั้งสำรองตามนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวดระมัดระวัง ภายใต้บริบทสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทาย

เงินให้สินเชื่อรวม ลดลง 6.0% หรือจำนวน 121,335 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566

กรุงศรีประกาศผลกำไรสุทธิปี 2567 จำนวน 29,700 ล้านบาท ลดลง 9.8% จากปีก่อนหน้า

สะท้อนการปรับลดลงของความเชื่อมั่นทางธุรกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภค กอปรกับการดำเนินการตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมของกรุงศรี

เงินรับฝาก ลดลง 0.9% หรือจำนวน 17,372 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566 ตามนโยบายการบริหารสภาพคล่องอย่างเหมาะสมรัดกุม แม้ว่าอุปสงค์ต่อเงินให้สินเชื่อจะอ่อนตัวลง อย่างไรก็ดี ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ยังคงเพิ่มขึ้นมาที่ 4.28% จาก 3.91% ในปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศที่ควบรวมในปี 2566 ที่เป็นการรับรู้รายได้ทั้งปี

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 14.7% หรือ 5,827 ล้านบาท จากปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิทั้งส่วนที่มาจากบริษัทลูกในต่างประเทศและธุรกิจในประเทศ กำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน และหนี้สูญรับคืน

อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยที่ 44.4% เทียบกับ 44.5% ในปี 2566

อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 3.23% เทียบกับ 2.53% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 ขณะที่สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 245 เบสิสพอยท์ และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 123.2%
อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 19.38% เทียบกับ 18.24% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button