อ.เจษฎา เฉลยแล้ว เทเนยใส อ้างรักษาดวงตา เสี่ยงอันตราย ไม่ควรทำ
อ.เจษฎา เฉลยแล้ว การเทเนยใสไว้รอบดวงตา ช่วยรักษาดวงตา คือการรักษาแผนอินเดียโบราณ ไม่แนะนำให้ทำ เนื่องจากอาจเกิดอันตราย เป็นโรคตาแห้ง-ปวดเจ็บในตา
กลายเป็นประเด็นถกเถียงในโลกออนไลน์อีกครั้ง หลังจากมีการแชร์คลิปวิธีรักษาดวงตาด้วยเทของเหลวลงไปในแอ่งสีเหลืองที่อยู่บนใบหน้าของหญิงท่านหนึ่ง จากนั้นให้กะพริบตาและลืมตาน้ำมันกระจายไปทั่วดวงตา พร้อมระบุข้อความว่า เป็นการรักษาดวงตาที่ดีที่สุดในอายุรเวท
ล่าสุด อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ความรู้พร้อมเตือนอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant เผยว่า วิธีการรักษาภายในคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์นั้น เรียกว่า ‘เนตร ทาร์ปะนา’ (Netra Tarpana) เป็นการรักษาดวงตาตามตำราอายุรเวทของอินเดียโบราณ
‘เนตร ทาร์ปะนา’ เป็นวิธีการรักษาโดยนำเอาแป้งมาปั้นทำเป็นวงแหวนวางไว้รอบดวงตา จากนั้นนำเอา ‘เนยใส’ (ghee) ของวัว ที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วเทลงบนดวงตาและกะพริบตาเพื่อให้เนยใสไปหล่อเลี้ยงทั่วดวงตา ก่อนที่จะล้างออกด้วยน้ำสะอาด รวมแล้วใช้เวลาประมาณ 30 นาที
วิธีการรักษาแบบ ‘เนตร ทาร์ปะนา’ อ้างว่าสามารถช่วยบรรเทาอาการเมื่อยล้าดวงตา ปวดตา มองเห็นภาพไม่ชัด รวมทั้งช่วยทำให้สายตาดีขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ ใช้เครื่องจักร หรือขับรถเป็นเวลานาน ที่มีปัญหามองเห็นไม่ชัดหรือพร่ามัว
อย่างไรก็ตาม อ.เจษฎา มองว่า ไม่ควรนำวิธีการดังกล่าวมารักษาในหลายกรณี เพราะขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุน และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตาได้ หากเนยใสที่นำมาใช้ไม่สะอาด หรือมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค นอกจากนี้สารอื่น ๆ ที่อาจผสมลงไปในเนยใสก็อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองหรือผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้
ทั้งนี้ อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนในดวงตา, เป็นโรคตาแห้ง, เป็นโรคเยื่อบุตาอักเสบเรื้อรัง, ปวดเจ็บในตา, มีปัญหาเรื่องน้ำในดวงตา, โรคตาบอดกลางคืน, มีแผลที่กระจกตา, ตาเหล่, มีความผิดปรกติของการหักเหแสงในดวงตา, โรคเรตินิติสพิกเมนโตซา (retinitis pigmentosa) ระยะต้น, โรคจอประสาทตาระยะต้น และอาการหนังตาตก
อ.เจษฎ์ ย้ำว่าหากมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม การรักษาด้วยวิธีทางเลือกอาจฟังดูน่าสนใจ แต่ควรพิจารณาถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ ตนเองจึงไม่แนะนำให้รักษาดวงตาด้วยวิธีการนี้นั่นเอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อ.เจษฎา เตือน เครื่องทำน้ำอุ่นแบบพกพา เสี่ยงไฟดูดดับ แนะวิธีใช้ปลอดภัย
- อ.เจษฎ์ เบรก โนโรไวรัส ไม่ใช่โรคใหม่ สื่ออย่าหาปั่นข่าวโอเวอร์ ทำคนแตกตื่น
- อ.เจษฎา ตอบแล้ว ไวรัสระบาดหนักในจีนคืออะไร ไทยก็มี พร้อมวิธีป้องกัน