ข่าว

เปิด 4 วิธีสังเกต ตำรวจปลอม ฉบับสอท. เน้นจี้ติดต่อผ่านแชท รู้ไว้ ก่อนตกเป็นเหยื่อ

ตำรวจไซเบอร์ เปิด 4 วิธีสังเกต “ตำรวจปลอม” มิจฉาชีพสวมรอย หลอกรีดไถประชาชนในคราบผู้พิทักษ์สันติราษฎ์ ย้ำข้อสำคัญ มักติดต่อผู้เสียหายผ่านแชท หรือ วีดีโอคอล พร้อมแนะวิธีป้องกันก่อนตกเป็นเหยื่อ

ในยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยกลโกง มิจฉาชีพต่างพัฒนากลวิธีหลอกลวงให้แยบยลยิ่งขึ้น โดยหนึ่งในนั้นก็คือ “การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ” อาศัยความน่าเชื่อถือของเครื่องแบบและอำนาจ สร้างความหวาดกลัวเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สิน ก่อให้ความเสียหายทั้งต่อตัวบุคคลและภาพลักษณ์ขององค์กรตำรวจ ซึ่งเหยื่อของกลลวงมิจฉาชีพรูปแบบนี้ก็มีให้เห็นมากขึ้นทุกวัน

Advertisements

ล่าสุด กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) หรือ ตำรวจไซเบอร์ – บช.สอท. จึงได้รวบรวม 4 วิธีสังเกต “ตำรวจปลอม” เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันจากการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

วิธีสังเกต “ตำรวจปลอม”

1. มีพฤติกรรมไม่น่าเชื่อถือ : ตำรวจปลอมจะทำการติดต่อผู้เสียหายผ่านช่องทางแชต ไลน์ หรือทำการวิดีโอคอล ขอข้อมูลส่วนตัว หรือหลอกให้โอนเงิน

2. มีการส่งเอกสารปลอม : ตำรวจปลอมมักจะส่งเอกสารราชการผ่านทางไลน์ เช่น หมายเรียก หมายจับ ข้อมูลการฟอกเงิน

3. เครื่องแบบไม่ถูกต้อง : ควรตรวจสอบเครื่องแบบตำรวจ เช่น เข็มประจำตำแหน่ง, เครื่องหมายยศ หรือการแต่งตัวที่ถูกต้องตามระเบียบ

4. สถานที่ทำงาน : ตำรวจจริงจะปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจหรือในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ไม่ใช่จากสถานที่ส่วนตัวหรือผ่านทางช่องทางออนไลน์

Advertisements
วิธีสังเกต ตำรวจปลอม
ภาพจาก : ตำรวจไซเบอร์ – บช.สอท.

วิธีป้องกัน “ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ”

1. อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขบัตรประชาชน ข้อมูลบัญชีธนาคาร หรือข้อมูลสำคัญใดๆ ผ่านทางโทรศัพท์หรือทางออนไลน์

2. อย่าหลงเชื่อการเรียกรับเงิน ตำรวจจริงไม่มีการเรียกรับเงินผ่านบัญชีส่วนตัว

3. หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงกับสถานีตำรวจในพื้นที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ หากท่านใดตกเป็นเหยื่อสามารถติดต่อแจ้งความออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.go.th และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button