เปิดเงื่อนไขจดทะเบียน สมรสเท่าเทียม กทม. เตรียมพร้อม เชิญชวนยื่นคำร้องล่วงหน้า
กทม. พร้อมให้บริการจดทะเบียน ‘สมรสเท่าเทียม’ วันแรก 22 มกราคม 2568 เชิญชวนยื่นคำร้องล่วงหน้า เปิดเงื่อนไข และ เอกสารที่ต้องใช้
วันที่ 26 ธันวาคม 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. จัดแถลงที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อม “การจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม” ว่า หลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยวันแรกที่จะเริ่มจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมได้ คือวันที่ 22 มกราคม 2568
ทั้งนี้ การจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกทม.ที่ประกาศไว้ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม. วันที่ 1 มิถุนายน 2567 ขณะนั้นได้ร่วมงาน Pride Month ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่ม LGBTQ แสดงออกถึงความต้องการสิทธิความเท่าเทียมกันในสังคม
สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมสนับสนุนชีวิตที่มีความหลากหลาย โอบกอดทุกคนอย่างเท่าเทียม จากนั้นก็มีนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายออกมา ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการครูและบุคลากรแต่งกายตามเพศสภาพ โรงเรียนสังกัด กทม. ไม่มีการบูลลี่ มีค่านิยมที่มีความหลากหลาย ยอมรับความแตกต่างของเพื่อน มีการเปิดพื้นที่สาธารณะให้แสดงออก ทำให้สังคมยอมรับความแตกต่าง
รวมถึงเปิดคลินิกสุขภาพเพศหลากหลายกรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) 31 แห่ง ให้ทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม โดยไม่แบ่งแยกเพศ รวมทั้ง จดแจ้งชีวิตคู่ ก่อนกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่าน อีก 294 คู่
ทั้งนี้ นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกทม. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ระบบมีความพร้อมแล้ว และจะดำเนินการซักซ้อมให้แก่เจ้าหน้าที่ ในวันที่ 4 มกราคม 2568 เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงาน
เงื่อนไข-คุณสมบัติ ผู้จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม
คุณสมบัติสำคัญของการจดทะเบียนสมรสคือ บุคคลทั้ง 2 ฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ นอกนั้นในส่วนของเงื่อนไขอื่น ๆ ก็จะเหมือนกับการสมรสระหว่างชาย และหญิง โดยเอกสารที่จำเป็นต้องใช้มีดังนี้
1. ผู้ร้อง ยื่นคำร้อง คร.1 ต่อนายทะเบียน นายทะเบียนตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แล้วลงรายการในทะเบียนให้ครบถ้วน
2. ผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยานลงลายมือชื่อในทะเบียนครอบครัว เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อในทะเบียนครอบครัว
กรณีผู้จดเบียนสมรสมีสัญชาติไทยทั้งคู่
ใช้บัตรประจำตัวประชาชน หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่น Thai ID และมีพยาน 2 คนที่บรรลุนิติภาวะ
กรณีคู่สมรสเป็นไทยกับต่างชาติ
ใช้บัตรประจำตัวประชาชน หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่น Thai ID และมีพยาน 2 คนที่บรรลุนิติภาวะ มีหนังสือเดินทาง รวมถึงมีเอกสารยืนยันจากสถานทูตว่าคู่สมรสไม่มีคู่สมรสอยู่ และอาจมีการทำข้อตกลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญญาด้านต่าง ๆ ด้วย อาทิ สัญญาเรื่องทรัพย์สิน ก่อนการจดทะเบียนสมรส
กรณีคู่สมรสเป็นต่างชาติกับต่างชาติ
ใช้หนังสือเดินทาง มีพยาน 2 คนที่บรรลุนิติภาวะ และเอกสารยืนยันจากสถานทูตว่า คู่สมรสไม่มีคู่สมรสอยู่
ทั้งนี้ การจดทะเบียนสมรส จะใช้เวลาประมาณ 20 – 30 นาที ขึ้นอยู่กับการลงรายละเอียดของสัญญาก่อนสมรสว่าผู้ร้องทั้งสองฝ่ายจะให้มีการบันทึกมากน้อยเพียงใด สำหรับการจดทะเบียนสมรสในสำนักทะเบียน ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
ส่วนการจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน จะต้องเสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 200 บาท พร้อมจัดยานพาหนะให้ แต่หากผู้ขอไม่จัดพาหนะให้ ผู้ขอต้องชดใช้ค่าพาหนะให้แก่นายทะเบียนตามสมควร รวมถึงมีค่าการคัดสำเนา ฉบับละ 10 บาท
อย่างไรก็ดี ทางกทม. ได้เชิญชวนให้คู่รักทั้งหลายยื่นคำร้องและเอกสาร แสดงความจำนงการจดทะเบียนสมรสล่วงหน้า ผ่านคิวอาร์โค้ด เพื่อตรวจสอบเอกสารก่อน และจะเป็นการช่วยให้ กทม. ทราบจำนวนของผู้ประสงค์จดทะเบียนสมรส ในวันที่ 22 มกราคม 2568
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- มาแล้ว! จดทะเบียนสมรสเท่าเทียมวันแรก 22 ม.ค. 68 เปิดทางคู่รัก LGBTQ+
- เตรียมตัว สมรสเท่าเทียม เริ่มเมื่อไหร่ สิทธิที่ได้ เอกสารและขั้นตอนการจด
- เฮ! ราชกิจจาฯ ประกาศ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เริ่มใช้ ม.ค. 68