ผู้ชายผู้หญิงไลฟ์สไตล์

รู้จัก ‘สมรสเท่าเทียม’ เตรียมใช้จริงในไทย รัฐบาล ‘พิธา’ คอนเฟิร์ม

รู้จัก สมรสเท่าเทียม คืออะไร กฎหมายเพื่อความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQIA+ 2566 ซึ่ง ก้าวไกล ยืนยันมีใน MOU เตรียมเข้าสภาและประกาศใช้จริงในไทยแล้ว

หลังจากการเรียกร้องและผลักดันมาอย่างยาวนานสำหรับ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม กฎหมายเพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ ในประเทศไทย ในที่สุด สมรสเท่าเทียม ก็เข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นแล้ว

โดยวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา พิธา ลิ้มเจิรญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จากพรรคก้าวไกล ได้ประกาศในแถลงการลงนามข้อตกลงร่วม หรือ MOU ว่าจะมีการรับรองสิทธิ์สมรสเท่าเทียม แต่ไม่ได้เป็นการบังคับใช้ในกลุ่มศาสนา เพียงแต่รับรองสิทธิ์ให้กลุ่ม LGBTQIA+ ว่าจะได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายไม่ต่างจากคู่สมรสชาย-หญิง

ข่าวอันน่ายินดีนี้ทำให้แฮชแท็ก #สสเท่เทียม พุ่งทะยานติดเทรนด์ประเทศไทย หลังจากที่ผลักก้าวไกลผลักดันร่างสมรสเท่าเทียมวาระแรกเข้าสภาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 แต่ถูกปัดตกเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ก้าวไกลจะได้ตั้งรัฐบาลและประกาศใช้สมรสเท่าเทียมได้จริงเสียที

วันนี้ The Thaiger จึงขอมาแตกประเด็นให้ผู้อ่านได้เข้าใจกันอีกสักรอบว่า สมรสเท่าเทียม คืออะไร มีรายละเอียดและมอบสิทธิให้แก่คู่รักชาว LGBTQIA+ อย่างไรบ้าง รวมถึงเส้นทางการเดินทางของกฎหมายฉบับนี้ว่า อีกกี่ขั้นตอนจึงจะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ มาติดตามไปพร้อมกันได้เลยค่ะ

สมรสเท่าเทียม คืออะไร

รู้จัก พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม คืออะไรกันแน่

สมรสเท่าเทียม คือร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สมรสเท่าเทียม หรือ ร่างแก้ ป.พ.พ. ที่ยืนอยู่บนแนวคิดการเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเรื่องการสมรสของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ ในสังคมไทย

หลักการคือให้บุคคลสองคนที่เป็นเพศเดียวกัน สามารถสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยร่างกฎหมายฉบับที่นำเข้าวาระการประชุมนี้ นำเสนอโดยพรรคก้าวไกล โดยมีรายละเอียดสรุปเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

– สามารถหมั้นและสมรสกันได้ทุกเพศ สถานะทางกฎหมายของบุคคลทั้งสองฝ่ายที่สมรสกัน จะถูกเรียกว่า คู่สมรส

– อนุญาตให้หมั้นได้ โดยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์

– สามารถจดทะเบียนสมรสได้ โดยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ หากมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่

– สามารถจดทะเบียนกับชาวต่างชาติได้

– การมอบของหมั้น ฝ่ายผู้หมั้นจะมอบให้แก่ผู้รับหมั้น หรือทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนของหมั้นกันได้

– การมอบสินสอด ฝ่ายผู้หมั้นมอบให้แก่บิดามารดาของผู้รับหมั้น หรือสามารถมอบให้แก่บิดามารดาของทั้งสองฝ่ายได้

– สามารถใช้นามสกุลร่วมกันได้

– สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้

– สามารถรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายได้

– สามารถจัดการทรัพย์สินร่วมกัน

– การเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายของคู่สมรส จะได้กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ เช่น สิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล, การรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม

– สามารถอุ้มบุญได้

– สามารถเซ็นอนุญาตรักษาพยาบาลอีกฝ่ายได้

– สามารถจัดการศพของอีกฝ่ายได้

สมรสเท่าเทียม คืออะไร

ขั้นตอนสู่การประกาศใช้กฎหมาย พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม

หลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับร่างหลักการ จากจำนวนผู้ลงมติ 406 คน มีผู้เห็นด้วยจำนวน 210 คน ไม่เห็นด้วย 180 คน งดออกเสียง 12 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 4 คน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา นับเป็นก้าวที่ทำให้มีความหวังว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQIA+ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นและเปิดกว้างมากขึ้น

ล่าสุดการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 23 – 24 พฤศจิกายน 2565 ทำให้ผู้คนในสังคม รวมถึงพี่น้องชาว LGBTQIA+ ต่างก็จับตามองว่า พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จะได้นำเข้าสภาและลงมติเพื่อไปขั้นตอนต่อไปหรือไม่

แต่นี่ก็เป็นเพียงอีกก้าวเล็ก ๆ เท่านั้น เพราะกว่าที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายสักหนึ่งฉบับ จะต้องมีการผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน ดังนี้ค่ะ

1. สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับร่างหลักการ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

2. จากนั้นจะมีการแต่งตั้งกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

3. ลำดับต่อไป สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติเห็นชอบ หากผลโหวตออกมาว่าไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะตกไป

4. หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะถูกส่งต่อให้สมาชิกวุฒิสภาลงมติเห็นชอบ

สมรสเท่าเทียม คืออะไร

5. จากนั้นจะมีการแต่งตั้งกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

6. สมาชิกวุฒิสภาจะลงมติ หากเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะถูกส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ

*กรณีสมาชิกวุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบ จะมีการส่งคืนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยับยั้งไว้ 180 วัน หากเห็นชอบอีกครั้งร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็จะถูกนำส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากไม่ชอบก็จะตกไป

7. หากร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไม่ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ จะมีการส่งให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย

8. ลำดับสุดท้ายคือออกประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

สมรสเท่าเทียม คืออะไร
ภาพจาก Amnesty Thailand

โล่งใจกันไปเปลาะหนึ่งแล้วหลังจากที่มีการรับรองว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะประกาศใช้และรับรองสิทธิ์ให้คู่สมรสทุกเพศอย่างแน่นอน ทันทีที่ ก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคแกนนำสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ทีมงานไทยเกอร์ขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับชาว LGBTQIA+ ที่จะได้รับสิทธิ์ที่ควรจะได้เสียที ความตั้งใจและพยายามของทุกคนไม่สูญเปล่าจริง ๆ ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก (1) (2)

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button