เคยเจอไหม? มุกใหม่มิจฉาชีพ อ้างทักผิดคน ชวนคุยต่อ หวังหลอกโอนเงิน
เพจดังเตือนแก๊งมิจฉาชีพใช้มุกใหม่หลอกลวงเหยื่อ ทำทีทักเข้าไปหาคนที่ไม่รู้จัก อ้างว่าทักผิดคน จากนั้นจะชวนคุยเพื่อสร้างความสัมพันธ์ ก่อนจะหลอกให้โอนเงิน ชาวเน็ตแห่แชร์ประสบการณ์เคยเจอเหมือนกัน
เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกโซเชียล หลังเพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้ออกมาแฉมุกใหม่ของมิจฉาชีพที่ที่กำลังออกอาละวาดอยู่ ณ ขณะนี้เกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์จากปอยเปตที่ใช้วิธีการใหม่ในการหลอกลวงเหยื่อ โดยการทักเข้าไปหาบุคคลที่ไม่รู้จักในโซเชียลมีเดีย อ้างทำเป็นทักผิดคน ก่อนจะชวนคุยต่อเพื่อสร้างความสัมพันธ์
ภายในภาพปรากฏบนสนทนาของบุคคล 2 คน โดยมิจฉาชีพใช้ชื่อผู้ใช้งานว่า ‘SunDay’ ทักหาเหยื่อเวลา 19.16 น. เปิดบทสนทนาด้วยการทักทาย จากนั้นสอบถามว่าใช่ร้านขายรองเท้าไนกี้ (Nike) หรือไม่ เมื่อเหยื่อตอบกลับว่าไม่ใช่ ด้านมิจฉาชีพกล่าวคำขอโทษ จากนั้นได้สอบถามเพิ่มเติมว่าอาศัยอยู่ในจังหวัดใด
เมื่อมิจฯ เริ่มสอบถามข้อมูลส่วนตัวทั้งที่เพิ่งรู้จักกันจึงไหวตัวได้ทัน และตอบกลับไปว่าอยู่ที่เขมร ชายแดนปอยเปต ด้านมิจฉาชีพที่ทราบแล้วว่าเหยื่อไหวตัวทันจึงด่าทอกลับไปว่า “ถ้าอยู่ปอยเปตก็ไปxายซะครับ แค่นี้ครับ”
หลังที่ภาพดังกล่าวถูกแชร์ออกไปได้ไม่นาน ชาวเน็ตต่างเข้ามาแสดงความเห็นกันอย่างคึกคัก พร้อมแชร์ประสบการณ์ว่าเคยพบเจอมิจฉาชีพในรูปแบบนี้เช่นเดียวกัน โดยเคยเจอมิจฉาชีพโทรมาสอบถามว่าใช่ผู้ที่ประกาศขายบ้านหรือไม่ เนื่องจากเห็นเบอร์โทรศัพท์นี้ติดประกาศอยู่ อีกทั้งยังเจอมิจฯ แอบอ้างเป็นร้านขายต้นไม้ระบุว่าพ่อให้เบอร์โทรมา แจ้งว่าสั่งซื้อต้นไม้กับเจ้าของเบอร์โทรนี้ไว้
นอกจากนี้ยังมีผู้เข้ามาแชร์มุกใหม่ ๆ ของมิจฉาชีพ มองว่า พวกที่ใช้มุกนี้ส่วนใหญ่ประมาณ 90% คือพวกที่ชวนเข้ากลุ่มในไลน์เพื่อลงทุนต่าง ๆ มีหลายแบบ ทั้งการเทรดหุ้น, คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) รวมไปถึงพวกลงทุนในแอปพลิเคชั่นขายของต่าง ๆ ตนเองก็เคยอยากรู้จึงลองเข้าไปในกลุ่มดู รู้สึกเปิดโลกมาก เพราะมีสมาชิกเป็นร้อยชีวิต
จากการวิเคราะห์พบว่าครึ่งหนึ่งของคนในกลุ่มน่าจะเป็นหน้าม้าของมิจฉาชีพ จะทำทีเป็นได้รับผลกำไรจากการลงทุน ส่วนใหญ่จะทำทีเป็นถ่ายภาพหน้าจอธนาคารมาอวดกัน เพื่อให้คนในกลุ่มที่เข้ามาใหม่หลงเชื่อและทำตาม แต่ที่น่าสงสัยคือการเริ่มลงทุนต้องโอนเงินเข้าบัญชีบริษัทก่อน
สุดท้ายได้แนะนำว่า หากพบเจอคนที่เข้ามาทักในรูปแบบดังกล่าวให้คาดการณ์ไว้ได้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพอย่างแน่นอน
เจอมิจฉาชีพทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ?
ธนาคารแห่งประเทศไทย แนะนำคู่มือแก้ปัญหาหากตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ใยนกรณีมีสายโทรเข้า ดูแล้วเบอร์ก็ไม่คุ้น เช่น เบอร์ที่ไม่ได้บันทึกชื่อไว้ หรือเป็นเบอร์จากต่างประเทศที่มีเครื่องหมาย “+” นำหน้า ให้ตั้งสติแล้วทำตามขั้นตอน ดังนี้
1. ถามตัวเองก่อนรับโทรศัพท์เสมอว่า มีคนที่ไม่อยู่ในรายชื่อเบอร์โทรของเราต้องการโทรหาเราจริง ๆ เหรอ หรือมีคนที่ต้องการโทรหาเราจากต่างประเทศด้วยเหรอ ถ้าไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องรับสายนี้ เพราะคงเป็นมิจฉาชีพโทรมาแน่นอน
2. เมื่อรับโทรศัพท์และคุยด้วยแล้ว เขาเป็นบุคคลที่อ้างถึงจริง ๆ เหรอ ตั้งสติ ฉุกคิด หยุดคุย วางสายแล้วรีบโทรไปตรวจสอบข้อมูลจากผู้รู้หรือหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างก่อนเสมอ เช่น ธนาคาร สำนักงานเขต หรือสรรพากร เพื่อเช็กให้ชัวร์ว่าคนที่โทรเข้ามาเป็นของแท้หรือแค่มิจฉาชีพ
3. เมื่อแน่ใจว่าเป็นมิจฉาชีพ ให้บล็อกเบอร์โทรศัพท์ เพื่อป้องกันไม่ให้โทรมาก่อกวนอีก หรือรายงานผ่านแอปพลิเคชันที่ช่วยในการตรวจสอบเบอร์ของคนที่โทรเข้ามาเบื้องต้น เช่น whoscall, showcaller, หรือ call control หรือรายงานไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ที่เราใช้บริการเพื่อบล็อกเบอร์ เช่น AIS โทร.1185 True โทร.9777 และ Dtac โทร.1678 เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพใช้เบอร์นี้ในการไปหลอกลวงคนอื่นได้
ข้อมูลจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ระวัง มุกใหม่มิจฉาชีพ โทรหลอกแบงก์ให้อายัดบัญชีเหยื่อ พีค จนท.ดันหลงเชื่อด้วย
- อย่าซ้ำเติม ชาล็อต ป่วยแพนิค-ซึมเศร้า เหยื่อสูญเงิน 4 ล้าน ให้มิจฉาชีพ
- นางงามอักษรย่อ อ. โดนหลอก 3.7 ล้าน มิจฉาชีพแก๊งเดียวหลอก ชาล็อต