เปิดสมัครสอบ ก.พ. 2568 ภาค ก วันแรก 8 ม.ค.นี้ เช็กวิธีอัปโหลดรูปถ่าย
สำนักงาน ก.พ. เปิดให้ลงทะเบียนสมัครสอบ ภาค ก. แบบ อี-เอ็กซ์แซม ประจำปี 2568 เริ่มวันแรก 8 มกราคม 2568 เช็กขั้นตอนกรอกข้อมูลที่นี่
หลังจากที่ สำนักงาน ก.พ. เปิดให้ผู้ที่สนใจสอบ ภาค ก. ปี 2568 กรอกข้อมูลล่วงหน้า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ถึง 6 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ล่าสุด วันนี้ 8 มกราคม 2568 สำนักงาน ก.พ. ได้เปิดรับสมัคร สอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือการสอบแบบ อี-เอ็กซ์แซม (e-Exam) สำหรับระดับปริญญาตรี และปริญญาโท รวมทั้งหมด 22 ศูนย์สอบ และรับเพียงแค่ 181,170 ที่นั่งสอบ เท่านั้น โดยมีรายละเอียดกำหนดการสอบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
– รับสมัครสอบแบบ อิเล็กทรอนิกส์ (e-Exam)
-
- เริ่มวันที่ 8 – 28 มกราคม 2568
– รับสมัครสอบแบบกระดาษ หรือ เปเปอร์ แอนด์ เพนซิล (Paper & Pencil)
-
- เริ่มวันที่ 30 มกราคม – 20 กุมภาพันธ์ 2568
หมายเหตุ : ผู้สมัครสอบสามารถสมัครสอบได้ทั้ง 2 แบบ
เงื่อนไขการสมัครสอบ ก.พ. 68 (*สำคัญ*)
1. ผู้สมัครสอบ e-Exam เลือกได้ 1 รอบสอบ 1 ศูนย์สอบเท่านั้น
2. สมัครสอบ e-Exam แล้วจะไม่ถูกจำกัดสิทธิ์ในการสมัครสอบภาค ก. ในรูปแบบอื่น ๆ ประจำปี 2568
3. ระบบจะเปิดรับสมัครรอบสอบที่ 1 – 5 ก่อน และเมื่อศูนย์สอบใดมีการจองที่นั่งสอบเต็มทั้ง 5 รอบสอบแล้ว จะเปิดรอบสอบที่ 6 – 10 ของศูนย์สอบนั้นให้เลือกสมัครโดยอัตโนมัติ และเมื่อศูนย์สอบใดมีการจองที่นั่งสอบเต็มทั้ง 5 รอบสอบอีก ก็จะเปิดรอบสอบที่ 11 – 15
3.1 กรณีที่นั่งสอบไม่เต็มจำนวน จะปิดรับสมัครในวันที่ 28 มกราคม 2568
สรุปง่าย ๆ คือ ใครที่อยากสมัครสอบให้รีบลงทะเบียนทันทีเพราะที่นั่งสอบมีจำกัด ระบบเปิดรับสมัครเป็นรอบ ๆ ถ้าช้า รอบที่ต้องการอาจเต็ม ต้องไปสอบรอบอื่น หรือศูนย์สอบอื่นแทน แต่ถ้าที่นั่งไม่เต็ม ระบบจะปิดรับสมัครก่อนวันที่กำหนดนั่นเอง
ยกตัวอย่างเหตุการณ์หากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการสมัครสอบ ก.พ. 68 ตามที่กำหนดไว้ เช่น
นางสาว ข. ต้องการสอบภาค ก. ที่ศูนย์สอบจังหวัดเชียงใหม่ แต่รอจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2568 ค่อยเข้าไปสมัครสอบ ปรากฏว่ารอบสอบที่ 1-5 ของศูนย์สอบเชียงใหม่เต็มหมดแล้ว ระบบจึงเปิดรอบสอบที่ 6-10 ให้สมัคร แต่รอบที่ 6-8 ก็เต็มแล้วเช่นกัน เหลือเพียงรอบที่ 9 ที่ยังว่างอยู่
ดังนั้น นางสาว ข. ต้องเลือกสมัครสอบในรอบที่ 9 ของศูนย์สอบเชียงใหม่ ซึ่งอาจเป็นวันและเวลาที่ไม่สะดวก หรือถ้าโชคร้ายรอบที่ 9 เต็มแล้ว นางสาว ข. อาจจะต้องไปสอบศูนย์สอบจังหวัดอื่น หรือไม่ก็รอสอบในปีถัดไป
เช็กคุณสมัครผู้สมัครสอบ
1. ผู้สมัครต้องมีสัญชาติไทย และมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี (นับถึงวันปิดรับสมัคร)
2. เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว หรือผู้ที่กำลังศึกษาในปีการศึกษา 2568 ระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวในทุกสาขาวิชา
3. ผู้สมัครสอบต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยสอบผ่าน หรือไม่มีหนังสือรับรองผลการสอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไประดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท ของสำนักงาน ก.พ.
ขั้นตอนการสมัครสอบ ภาค ก. แบบ e-Exam 2568
1. เริ่มสมัครสอบตั้งแต่วันพุธที่ 8 มกราคม 2568 เวลา 08.30 น. ถึงวันที่ 28 มกราคม 2568 รับแค่ 181,170 ที่นั่งสอบ
2. อ่านประกาศและสมัครสอบ และกำหนดรหัสผ่านและจดจำรหัสผ่านของแต่ละท่าน
3. อัปโหลดรูปถ่ายลงเว็บไซต์ สำนักงาน ก.พ.
4. หลังจากกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้วให้เลือก “ชำระเงิน”
5. ตรวจสอบสถานะการสมัครสอบให้ครบถ้วน
6. จากนั้นให้พิมพ์ “บัตรประจำตัวสอบ” วันที่ 14 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป
คำแนะนำในการสมัครสอบ ก.พ. 68 : โปรดเลือกรอบสอบและศูนย์สอบที่ต้องการ อย่างระมัดระวัง สามารถเลือกศูนย์สอบได้ 1 ศูนย์สอบ และเลือกรอบสอบได้เพียง 1 รอบสอบ เท่านั้น เมื่อ เลือก และ ยืนขัน การสมัครสอบแล้ว จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลการสมัครสอบไม่ได้
*** หากไม่ชำระเงินในวันและเวลาที่กำหนด แบบฟอร์มชำระเงินและที่นั่งสอบในรอบสอบ ศูนย์สอบที่เลือก จะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ โดยสามารถสมัครสอบใหม่ได้ หากยังมีที่นั่งว่าง และอยู่ในกำหนดวันเวลารับสมัครสอบ***
สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนสมัครสอบ
1. บัตรประจำตัวประชาชน
2. ไฟล์รูปถ่ายของตนเอง
- เป็นรูปถ่ายหน้าตรง
- พื้นหลังไม่มีลวดลาย
- ไม่สวมหมวก
- ประเภทของไฟล์เป็น .JPG (ความละเอียดไม่น้อยกว่า 40 KB)
- ไม่สวมแว่นตา
- ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน
- ต้องเป็นรูปที่ใช้ในการสมัครงาน
3. ข้อมูลส่วนตัวและรหัสผ่าน
ข้อควรทราบ : ผู้สมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Exam) ในครั้งนี้ จะไม่ถูกจำกัดสิทธิ ในการสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปในรูปแบบอื่น ๆ ประจำปี 2568
สถานที่สอบ ก.พ. 68
สำนักงาน ก.พ. ได้จัดเตรียมสถานที่สอบไว้ 22 ศูนย์สอบทั่วประเทศ 1 โดยผู้สมัครสามารถเลือกศูนย์สอบที่สะดวกได้ 1 แบ่งออกทั้งหมด 4 ภูมิภาค ได้แก่
ภาคกลาง
- ม.ราชภัฏพระนคร กรุงเทพฯ 8,550 ที่นั่ง
- ม.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 15,450 ที่นั่ง
- ม.ราชภัฏสวนสุนันทา กรุงเทพฯ 17,295 ที่นั่ง
- ม.ศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพฯ 4,140 ที่นั่ง
- ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต 6,585 ที่นั่ง
- ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปทุมธานี 6,750 ที่นั่ง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
- ม.ขอนแก่น 6,000 ที่นั่ง
- ม.อุบลราชธานี 8,250 ที่นั่ง
- ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ 6,150 ที่นั่ง
- ม.ราชภัฏอุดรธานี 4,200 ที่นั่ง
- ม.ราชภัฏนครราชสีมา 6,000 ที่นั่ง
- ม.เทคโนโลยีสุรนารี นครราชสีมา 2,400 ที่นั่ง
ภาคตะวันออก
- ม.ราชภัฏรำไพพรรณี จันทบุรี 15,000 ที่นั่ง
ภาคตะวันตก
- ม.ราชภัฏกาญจนบุรี 7,500 ที่นั่ง
ภาคเหนือ
- ม.แม่ฟ้าหลวง เชียงราย 6,150 ที่นั่ง
- ม.ราชภัฏเชียงราย 7,500 ที่นั่ง
- ม.แม่โจ้ เชียงใหม่ 13,500 ที่นั่ง
- ม.ราชภัฏลำปาง 6,750 ที่นั่ง
ภาคใต้
- ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี 10,500 ที่นั่ง
- ม.วลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช 7,500 ที่นั่ง
- ม.ทักษิณ สงขลา 9,750 ที่นั่ง
- ม.สงขลานครินทร์ ปัตตานี 5,250 ที่นั่ง
แนวทางข้อสอบ หลักสูตรและวิธีการสอบ ประจำปี ก.พ. 2568
สำหรับ วิชาหลักของการสอบ ภาค ก. เป็นแบบทดสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (คะแนนเต็ม 200 คะแนน) โดยวิธีการสอบข้อเขียน ดังต่อไปนี้
1. วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (คะแนนเต็ม100 คะแนน) เป็นการทดสอบ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ครอบคลุมประเด็น ดังนี้
1.1 การคิดวิเคราะห์เชิงภาษา ได้แก่ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ความเข้าใจในการอ่าน ภาษาไทย การจับใจความสําคัญ การสรุปความ การตีความจากบทความ ข้อความ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ
1.2 การคิดวิเคราะห์เชิงนามธรรม ได้แก่ การคิดหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงคํา ข้อความ หรือรูปภาพ ตลอดจนการหาข้อสรุปอย่างสมเหตุสมผลจากข้อความ สัญลักษณ์ รูปภาพ สถานการณ์ หรือแบบจําลองต่าง ๆ
1.3 การคิดวิเคราะห์เชิงปริมาณ ได้แก่ ความเข้าใจ ความคิดรวบยอด และแก้ปัญหา ทางคณิตศาสตร์เบื้องต้น การเปรียบเทียบและวิเคราะห์เชิงปริมาณ ตลอดจนการประเมินความเพียงพอของข้อมูล
2. วิชาภาษาอังกฤษ (คะแนนเต็ม 50 คะแนน) เป็นการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษเพื่อวัด ความเข้าใจในหลักการสื่อสาร โดยใช้ศัพท์ สํานวน โครงสร้างประโยคที่เหมาะสม ทั้งในเชิงความหมาย และบริบท แสดงถึงความสามารถในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การวัดความสามารถด้านการอ่าน โดยทดสอบการทําความเข้าใจในสาระของข้อความหรือบทความ และการวัดความสามารถด้านการเขียน ภาษาอังกฤษในระดับเบื้องต้น
3. วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี (คะแนนเต็ม 50 คะแนน) เป็นการทดสอบ ความรู้ที่เป็นพื้นฐานของการเป็นข้าราชการที่ดี ได้แก่ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หลักการบริหารกิจการ บ้านเมืองที่ดี วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หน้าที่และความรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตลอดจนเจตคติ และจริยธรรมสําหรับข้าราชการ
อ่านข่าวอื่น ๆ
- ประกาศรายชื่อผู้ผ่านสอบข้อเขียน ผู้ช่วยผู้พิพากษา 2567 (สนามใหญ่)
- ตำรวจออสเตรีย สอบคู่สามีภรรยา หย่ากัน 12 ครั้ง ใน 43 ปี กินเงินชดเชย
- หมอนวดโต้ ปมลูกชายร้องให้สอบ แม่เสียชีวิตหลังนวดจัดกระดูก 10 วัน
- เจาะลึก แนวข้อสอบ ก.พ. 68 สอบอะไรบ้าง ปฏิทินสอบ ก.พ. เช็กที่นี่
ข้อมูลและภาพจาก : เฟซบุ๊ก สำนักงาน ก.พ., ดร.หญิง ติวสอบ ก.พ.