จากคนรักกลายเป็นฆาตกร : ทำไม “รัก” ถึงต้อง “ฆ่า”
ยามรักเขาว่าโลกทั้งใบกลายเป็นสีชมพู แต่เมื่อรักเหือดหาย กลายเป็นความขุ่นข้องหมองแค้น คนที่เคยนอนเคียงหมอนในฐานะคนรัก สามีภรรยา ก็พร้อมลุกขึ้นมาฆ่าแกง เปลี่ยนสถานะกลายเป็นฆาตกร
ข่าวอาชญากรรมในช่วงสัปดาห์นี้ไม่มีข่าวไหนถี่ไปกว่า “ความรุนแรงในครอบครัว” ไม่ว่าจะเป็นข่าว นายธีรพล ฆ่ายกครัวตาย 5 ศพ ซึ่งก่อนหน้านี้ฝ่ายชายก็มีกรณีใช้ความรุนแรงเรื่อยมา ที่หาดใหญ่ ชายวัย 26 ดักยิงเศรษฐีนี ปมแค้นเพราะถูกบอกเลิก หรือกรณีสลด ที่จังหวัดชุมพร หญิงสาวถูกสามีทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย
เหล่านี้ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้นในสังคม ที่ผ่านมาเราจะพบข่าวทำนองนี้อยู่ไม่ขาดสาย ตั้งแต่นักศึกษาหนุ่มยิงแฟนสาวเพราะถูกบอกเลิก ว่าที่เจ้าบ่าวยิงว่าที่เจ้าสาว เนื่องด้วยปมชู้สาว
ภาพ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
สสส. เผยสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัว จากหนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ เมื่อปี 2561 ว่า เพียงแค่ 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) เกิดข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 367 ข่าว เป็นข่าวฆ่ากันตาย 242 ข่าว คิดเป็น 65.9% รองลงมา เป็นข่าวทำร้ายร่างกาย 84 ข่าว คิดเป็น 22.9% และข่าวฆ่าตัวตาย 41 ข่าว คิดเป็น 11.2% ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบข่าวฆ่ากันตายย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นว่าปี 61 สถิติสูงสุดกว่าทุกปี
ความรุนแรงที่คนในครอบครัวกระทำต่อกันซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล และไม่สามารถปล่อยผ่านหรือละเลยได้ เพราะสถาบันครอบครัวคือรากฐานสำคัญในการกล่อมเกลาเลี้ยงดู สร้างพลเมืองขึ้นมาให้เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม และควรเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับสมาชิกได้พักพิง
จุดร่วมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในคดีต่าง ๆ คือ ผู้ลงมือใช้ความรุนแรงถึงแก่ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายชาย ผู้มีสถานะเป็นหัวหน้าครอบครัว มีหน้าที่ต้องปกป้องภรรยาและลูก ๆ ทว่ากลับเป็นผู้ทำลายคนรักเสียเอง สิ่งที่สังคมควรแก้ไขอย่างยิ่งยวด คือ ทัศนะการมองว่าฝ่ายชายเป็นใหญ่ เพราะจะเห็นได้ว่า มูลเหตุของการลงไม้ลงมือส่วนใหญ่เริ่มต้นมาจากความหึงหวง ความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ดังนั้นเมื่อเกิดกรณีเลิกรากัน ทำให้ฝ่ายชายยอมรับไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าภรรยาคือทรัพย์สินของตนที่ตนมีสิทธิ์ชี้ขาดในชีวิต สุดท้ายจึงจบลงด้วยการฆาตกรรม
ภาพ : mthai.com
ผู้เขียนชอบข้อคิดเห็นหนึ่งเกี่ยวกับความรัก โดยศาลเป็นผู้ให้คำนิยามไว้เมื่อครั้งคดี “นายเสริม สาครราษฎร์” อดีตนักศึกษาแพทย์ ฆ่าโหดแฟนสาว “นางสาวเจนจิรา พลอยองุ่นศรี” อดีตนักศึกษาแพทย์รุ่นพี่ นายเสริมอ้างว่า ตนฆ่าแฟนเพราะความรัก จนไม่อาจหักห้ามใจให้แฟนไปมีคนใหม่ได้ จึงขอความปราณีจากศาลให้เห็นแก่ความรักของตน
ศาลได้ตอบกลับไว้อย่างน่าประทับใจว่า
” ศาลเห็นว่า ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้
ความ รักที่แท้จริงคือความปราถนาดีต่อคนที่ตนรัก
ความยินดีที่คนรักของตนรักมี ความสุข
การให้อภัยเมื่อคนที่ตนรักทำผิด
และการเสียสละความสุขของตน เพื่อความสุขของคนที่ตนรัก
จำเลยปราถนาจะยึดครองผู้ตายเพื่อความสุข ของจำเลยเอง
เมื่อไม่สมหวังจำเลยก็ฆ่าผู้ตาย เป็นความคิดและการกระทำที่เห็นแก่ได้ของจำเลยโดยฝ่ายเดียว
มิได้คำนึงถึง จิตใจและความรู้สึกของผู้ตาย หาใช่ความรักไม่ “
ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นสิ่งที่สังคมต้องช่วยกันแก้ค่านิยมผิด ๆ เกี่ยวกับความรัก และมุมมองที่มีต่อหญิงคนรัก เราทุกคนล้วนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในการเลือกที่จะรักหรือไม่รัก และความรักย่อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะยามเมื่อรัก ทั้งสองสมัครใจครองคู่กันในฐานะ “คู่ชีวิต” ไม่ใช่ “เจ้าชีวิต”
เรื่อง : อินทราวุธ