ข่าว

คณะแพทยฯ วชิรพยาบาล เตือน 3 อาการ อันตรายนวดจัดกระดูก ให้ไปหาหมอทันที

คณะแพทยฯ วชิรพยาบาล เตือน 3 อาการ อันตรายนวดจัดกระดูก ไปหาหมอทันที ปวดรุนแรง ชาอ่อนแรงแขนขา รู้สึกหน้ามืดหรือเวียนศีรษะ

ผู้สื่อข่าวรายงาน ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการนวดจัดกระดูก โดยเฉพาะกรณีผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง เช่น Myofascial Pain Syndrome หรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

Advertisements

ความเสี่ยงจากการนวดจัดกระดูก

การนวดจัดกระดูกคือการปรับกระดูกหรือข้อให้กลับตำแหน่งปกติ เพื่อลดความตึงเครียดในกล้ามเนื้อ แต่หากดำเนินการโดยผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ โดยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • สมองขาดเลือด: เกิดจากแรงกดหรือการจัดที่กระทบหลอดเลือดคอ ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่เพียงพอ
  • กระดูกหัก: การจัดกระดูกในผู้ที่มีกระดูกพรุนหรือโรคเกี่ยวกับกระดูก อาจทำให้กระดูกเกิดการแตกหัก
  • การกดทับไขสันหลังและเส้นประสาทไขสันหลัง: ก่อให้เกิดอาการอ่อนแรงหรืออัมพฤกษ์ในบางกรณี
อันตรายจากการนวดจัดกระดูก
ที่มาภาพจาก: ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล

ข้อแนะนำ

การนวดเป็นวิธีที่หลายคนเลือกใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด แต่หากหลังจากการนวดแล้วมีอาการผิดปกติเหล่านี้:

1. ปวดรุนแรง หรือพักแล้วอาการไม่ดีขึ้น

2. ชาหรืออ่อนแรงที่แขนหรือขา

Advertisements

3. รู้สึกหน้ามืดหรือเวียนศีรษะ

ควรหยุดการนวดทันทีและรีบไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสม

เนื่องจากสรีระของผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกัน แม้กระทั่งการนวดจัดกระดูกโดยผู้เชี่ยวชาญก็ไม่สามารถป้องกันการบาดเจ็บได้ 100% คณะผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการนวดจัดกระดูกโดยไม่จำเป็น และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ทางภาควิชา ได้ยกกรณีข่าวของ ผิง ชญาดา นักร้องสาว ที่เพิ่งเสียชีวิต หลังจากนอนทรมานติดเตียงมา 2 เดือน หลังจากก่อนหน้านี้ไปนวดไทยที่ร้านร้านหนึ่ง แล้วหมอนวดบิดคอ จนเกิดอาการชาตามมา

“ตัวอย่างกรณีที่มีความใกล้เคียงกับกรณีล่าสุดของคุณ “ผิง ชญาดา” ได้ถูกรายงานไว้ในวารสาร The potential dangers of neck manipulation & risk for dissection and devastating stroke: An illustrative case & review of the literature. Biomedical research and reviews (Turner, R. C., et al. 2018)

ในรายงานระบุว่าหญิงอายุ 32 ปี ได้รักษาอาการปวดเมื่อยคอด้วยวิธีการจัดกระดูก (Chiropractic neck adjustment) และทันทีหลังจากการจัดกระดูก ผู้ป่วยมีอาการปวดคอ ร้อนวูบ และตามด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นและหยุดหายใจจนต้องได้รับการกู้ชีวิต CPR โดยเมื่อนำส่งโรงพยาบาลและตรวจ CT scan จึงพบว่ามีการฉีกขาดภายในหลอดเลือดบริเวณคอทั้งสองข้าง และมีลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดคอข้างซ้าย (Bilateral severe distal Cervical vertebral artery dissection with acute thrombotic emboli in the left cervical vertebral artery)

ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาโดยฉุกเฉินด้วยยาสลายลิ่มเลือดและใช้การสวนหลอดเลือดเพื่อแก้ไขภาวะหลอดเลือดอุดตันดังกล่าว แต่ผลลัพธ์ของสมองขาดเลือดทำให้เนื้อสมองมีเลือดเลี้ยงไม่เพียงพอและเกิดภาวะสมองบวมอย่างรุนแรง

เนื่องจากสรีระของผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน การประมาณแรงให้ไม่เกิดการบาดเจ็บนั้นเป็นไปได้ยากแม้จะทำโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการนวดหรือการจัดกระดูกบริเวณคอเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ”

ข้อมูลโดย: ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button