สุดาวรรณ มั่นใจ “ต้มยำกุ้ง-เคบายา” ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ยูเนสโก 4 ธ.ค.นี้
รมว. วัฒนธรรม เชื่อ “ต้มยำกุ้ง-ชุดเคบายา” ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรม ยูเนสโก 4 ธ.ค. 67 แน่นอน พร้อมชวนประชาชนร่วมงานฉลองที่ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เผยว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก จะมีการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล เพื่อสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 ในวันที่ 3 ธันวาคม (4 ธ.ค. ไทย) ณ นครอซุนซิออน ประเทศปารากวัย โดยจะมีการพิจารณา-ลงมติรับรองการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ต้มยำกุ้งของไทย และชุดเคบายา (Kebaya) ที่เป็นรายการเสนอร่วม 5 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย
อีกทั้งตนเชื่อว่ารายการดังกล่าวของประเทศไทยจะได้รับการขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมฯ ประจำปี 2567 จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกิจกรรมงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในวันที่ 6-8 ธันวาคมนี้ ที่ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์ ซึ่งมีกิจกรรมแสดงแฟชั่นโชว์ชุดเคบายา, สาธิตการทำต้มยำกุ้งโดยเชฟตุ๊กตา (ผู้เข้าแข่งขันเชฟกระทะเหล็ก) และอื่น ๆ อีกมากมาย
ทั้งนี้รายการต้มยำกุ้งข้างต้นได้รับมติเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 64 ในการส่งขึ้นทะเบียนมรดกฯ ภายใต้ชื่อ Tomyum Kung เนื่องจากเข้าเกณฑ์ด้านคุณค่า-ความสำคัญ เพราะเป็นอาหารที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตเรียบง่ายของชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำลำคลองภาคกลางของไทยที่มีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารผ่านการสังเกตและเรียนรู้จากธรรมชาติ
ขณะที่ชุดเคบายาคือเครื่องแต่งกายที่ได้รับการผสานวัฒนธรรมระหว่างคนมลายูท้องถิ่นกับคนหลากหลายชาติพันธุ์ที่เข้ามาตั้งรกรากในดินแดนแถบมะละกา (รวมตอนใต้ของไทย) จึงเกิดกลุ่มวัฒนธรรมใหม่ที่เรียกว่า“เพอรานากัน” และเสื้อเคบายาคือเอกลักษณ์สำคัญกลุ่มนี้ ซึ่งแบ่งออกได้เป็นสามชุดหลัก ๆ ได้แก่ เคบายาลินดา, เคบายาบีกู และเคบายาซูเลม แต่ละชุดก็จะมีการใช้เทคนิคตัดผ้า-ชนิดผ้าที่ต่างกันออกไปในแต่ละยุคสมัย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “จ้าวลู่ซือ” มาไทย ไม่กินผัดไทย-ต้มยำกุ้ง แต่ฟาดแค่เมนูนี้เท่านั้น!
- ชาวกัมพูชาจะร้องยูเนสโก ชี้ ‘วัดภูม่านฟ้า’ ของไทย ลอกแบบนครวัด
- สื่อเวียดนามแนะ มาเที่ยวไทย ไม่ซื้อขนมนี้กลับไป เจ็บใจยิ่งกว่ามาไม่ถึง