เปิดรายชื่อ 13 ยี่ห้อ เครื่องสำอางปลอม ตร.บุกโรงงาน พบของกลางกว่า 40,000 ชิ้น
บก.ปคบ. นำกำลังเข้าตรวจค้น โรงงานผลิตเครื่องสำอางปลอม ในพื้นที่จ.ขอนแก่น ยึดของกลางว่า 45,000 ชิ้น รอส่งออกตามออเดอร์ มูลค่ารวมทั้งสิ้น 2 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดชุมแพ เข้าทำการตรวจค้นสถานที่ผลิตและจัดเก็บผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.ชุมแพ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น หลังได้รับการร้องเรียนว่า มีการลักลอบผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางโดยไม่ได้รับอนุญาต และส่งขายในพื้นที่ภาคอีสานจำนวนมาก โรงงานมีลักษณะเป็นบ้านพักอาศํย แต่เปิดโรงงานอยู่ด้านในตัวบ้าน
เมื่อไปถึงโรงงาน น.ส.จรรยา อายุ 23 ปี แสดงตัวเป็นผู้ดูแลโรงงานแห่งนี้ จึงได้ทำการขอเข้าตรวจค้นภายในบ้าน พบเครื่องจักร เช่น เครื่องปั๊มสกรีนฉลาก, เครื่องหุ้มพลาสติก, เครื่องซีลกล่องผลิตภัณฑ์, เครื่องยิงเลเซอร์ วัน เดือน ปี ที่ผลิต และเครื่องอบลมร้อน นอกจากนั้นก็ยังพบพนักงานนั่งกวนครีม และบรรจุลงตลับเพื่อรอส่งให้กับลูกค้าตามออเดอร์อยู่ด้วย
เครื่องสำอางปลอม ที่ตรวจยึดทั้ง 13 ยี่ห้อ ประกอบด้วย
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ครีมโสมขมิ้นดำ ยี่ห้อ เฌอริต้า จำนวน 17,600 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง บียอนด์ โกลด์ มาส์ก จำนวน 13,200 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง SAKU Ginseng Cream จำนวน 1,440 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ฮา-ยัง เซรั่ม จำนวน 400 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง พิงค์ โกลด์ มาส์ก จำนวน 1,260 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Super Serum Brownychu จำนวน 1,200 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Super Serum เซรั่ม ลดฝ้า กะ รอยเหี่ยวย่น จำนวน 5,000 ซอง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง PURE Skincare สกินบูสเตอร์ โกลด์ เซรั่ม จำนวน 38 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Brownychu BC Super White Cream จำนวน 300 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Pure เซรั่ม จำนวน 2,000 ขวด
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง P aura By Sangarun จำนวน 9 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ออร่าไนท์ ไวท์เทนนิ่ง (ตลับสีทอง) จำนวน 1,200 ตลับ
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ออร่าไนท์ ไวท์เทนนิ่ง (ตลับสีเทา) จำนวน 1,500 ตลับ
ทั้งนี้จากการตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์ทั้ง 13 ยี่ห้อ พบว่า มีเลขจดแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ผลิตถูกต้อง และมีขายตามท้องตลาด แต่ถูกผลิตในสถานที่ที่ไม่ได้รับการอนุญาตตามที่ขออนุญาตเอาาไว้ และไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นจึงมีความผิดเข้าข่ายเป็นการผลิตเครื่องสำอางปลอม โดยเครื่องสำอางปลอมทั้ง 13 ยี่ห้อนี้ อยู่ในระหว่างติดต่อเจ้าของเพื่อตรวจและให้ปากคำเพิ่มเติม
นอกจากเครื่องสำอางปลอม ทั้ง 13 ยี่ห้อที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดไปแล้วนั้น ก็ยังพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบบคละสีอยู่ในถุงพลาสติก จำนวน 200 กิโลกรัม และยังมีเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต เครื่องสำอางปลอม อาทิ เครื่องปั๊มสกรีนฉลาก, เครื่องหุ้มพลาสติก, เครื่องซีลกล่องผลิตภัณฑ์, เครื่องยิงเลเซอร์ วัน เดือน ปี ที่ผลิต, เครื่องอบลมร้อน, วัสดุอุปกรณ์ และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต รวมทั้งฉลาก และบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ อีกหลายรายการ
รวมของกลางที่ตรวจยึดได้ทั้งหมด 38 รายการ มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท จึงได้ทำการนำของกลางทั้งหมดส่งให้พนักงานสอบสวน กก.4 บก. ปคบ. ดำเนินคดีต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง