เตือน โรคไข้หูดับ ยอดเสียชีวิต 16 ราย จับตาช่วงฉลองปีใหม่ แนะ 6 วิธีป้องกัน
นครราชสีมา สคร.9 เตือนระวัง ‘โรคไข้หูดับ’ เปิดจำนวนผู้ป่วย พุ่งสูงถึง 180 ราย ยอดเสียชีวิต 16 รายแล้ว ภาครัฐเฝ้าจับตาช่วงฉลองปีใหม่ หวั่นประชาชนไทยกินหมูดิบ พร้อมแนะ 6 วิธีป้องกัน รู้ไว้ห่างไกลโรค
โรคไข้หูดับ กำลังเป็นภัยเงียบที่น่ากังวลในปัจจุบัน หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วโรคนี้ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่มีวัฒนธรรมการกิน “อาหารดิบ” หรือ “กึ่งสุกกึ่งดิบ” ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ที่ทำให้เกิดโรคนี้
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใยแก่ประชาชนเกี่ยวกับการรับประทานหมูดิบ ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หูดับ โดยออกมาเปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้หูดับ ในเขตสุขภาพที่ 9 ในระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม ถึง 21 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วยโรคนี้เป็นจำนวน 180 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 16 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ได้ดังนี้
1. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 108 ราย เสียชีวิต 7 ราย
2. จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 37 ราย เสียชีวิต 6 ราย
3. จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 21 ราย เสียชีวิต 2 ราย
4. จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 14 ราย เสียชีวิต 1 ราย
สำหรับกลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55 – 64 ปี และสุดท้ายกลุ่มอายุ 45 – 54 ปี ตามลำดับ
โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง ได้แก่ 1. เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ
2. การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือการสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย
หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-14 วัน อาการเบื้องต้นของผู้ป่วยคือ จะมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง สูญเสียการได้ยิน ในรายที่เป็นป่วยรุนแรงก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
วิธีป้องกันโรคไข้หูดับ ฉลองปีใหม่อย่างไรให้ห่างไกลโรค
‘นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน’ ได้แนะนำประชาชนถึงการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคไข้หูดับไว้ดังนี้
1. รับประทานเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น ผ่านความร้อนอย่างน้อย 60-70 องศาเซลเซียส ในเวลา 10 นาที
2. อาหารปิ้งย่าง ควรใช้อุปกรณ์ในการคีบเนื้อหมูดิบและเนื้อหมูสุกแยกจากกัน และขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”
3. ไม่ควรรับประทานหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา
4. เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ
5. ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ขณะทำงานควรสวมรองเท้าบูทยาง และสวมถุงมือ หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสหมูทุกครั้ง
6. หากมีอาการป่วย สงสัยโรคไข้หูดับโดยมีไข้สูง ปวดศีรษะ ร่วมกับประวัติเสี่ยง ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที แจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูดิบให้ทราบ หากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว ได้รับยาปฏิชีวนะเร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ตอบแล้ว ทำไมห้ามใช้ตะเกียบคีบหมูดิบ ทานอาหาร เสี่ยงเป็นโรคไข้หูดับ
- สังเวย 8 ศพ เหยื่อไข้หูดับ ในอีสานใต้ เหตุกินลาบ-ก้อยหมูดิบ
- คนไทยป่วย ‘ไข้หูดับ’ พุ่งครึ่งพัน อ.เจษฎา เตือนสายปิ้งย่าง อย่าใช้ตะเคียบคีบหมูดิบ