อ่านคำพิพากษาเต็ม ศาลตัดสินประหารชีวิต แอม ไซยาไนด์
อ่านคำพิพากษาเต็ม ศาลตัดสินประหารชีวิต แอม ไซยาไนด์ ชี้หากบริสุทธิ์จริงควรอยู่ช่วยชีวิตจนถึงที่สุด มีการวางแผนมาตั้งแต่ต้น
จากกรณีที่ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีแอมไซยาไนด์ หรือคดีที่วางยาฆ่าผู้อื่นที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 และมารดาของ น.ส.ศิริพร หรือ ก้อย ผู้เสียชีวิตร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องพร้อมเรียกค่าเสียหาจจำนวน 30 ล้านบาท โดยมีนางสรารัตน์ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อแอม ไซยาไนด์ จำเลยที่ 1 ในความผิดฐาน ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ ส่วน พ.ต.ท.วิฑูรย์ อดีตสามี จำเลยที่ 2 และ น.ส.ธันย์นิชา หรือ ทนายพัช จำเลยที่ 3 ในความผิดฐาน ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงและซ่อนเร้นทำลายหลักฐาน โดยวันนี้เป็นการพิพากษาคดีแรกจากทั้งหมด 15 คดี
สำหรับคดีดังกล่าว อัยการโจทก์ระบุฟ้องพฤติการณ์ความผิดพวกจำเลยต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 18 ก.ค.66 สรุปว่า เมื่อวันที่ 14 เม.ย.2566 นางสรารัตน์จำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่า น.ส.ศิริพร ขันวงษ์ หรือก้อย อายุ 32 ปี โดยนำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ (Potassium Cyanide) ซึ่งเป็นสารพิษปลอมปนใส่ลงในอาหาร หรือน้ำดื่ม และปริมาณเท่าใดไม่ปรากฏชัด ให้ผู้ตาย ดื่มหรือรับประทาน ระหว่างที่จำเลยที่ 1 กับผู้ตาย ซึ่งเป็นเพื่อนกันเดินทางไปปล่อยปลาที่ท่าน้ำ ต.บ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ก่อนที่ผู้ตายจะหมดสติ และเสียชีวิตเวลาต่อมา
โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การช่วยเหลือและนำทรัพย์สินผู้ตาย 9 รายการมูลค่า 154,630 บาทของผู้ตายไปให้แก่ผู้มีชื่อ เพื่อซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ ตามที่จำเลยที่ 3 ได้ใช้ หรือยุยงส่งเสริมจำเลยที่ 2 เพื่อมิให้เจ้าพนักงานตำรวจติดตามหาทรัพย์ของผู้ตาย เพื่อเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิให้ต้องรับโทษตามกฎหมาย หรือให้ได้รับโทษน้อยลงอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี โดยจำเลยที่ 1 ถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลาง ส่วนจำเลยที่ 2-3 ได้รับการประกันตัวโดยศาลตีราคาประกันคนละ 1 แสนบาท
ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ว่า ช่วงวันที่ 1 ม.ค.63 ถึง 5 พ.ค.66 จำเลยที่ 1 มีเงินหมุนเวียนในบัญชีมากกว่า 95 ล้านบาท และมีเส้นทางการเงิน เชื่อมโยงอีก 10 บัญชี ที่ตรวจสอบพบว่าเป็นบัญชีม้าและเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ พร้อมกับมีหนี้สินจำนวนมาก
ส่วนในปี 64-65 พบว่าจำเลยที่ 1 เสียเงินให้กับพนันออนไลน์จำนวนมาก ดังนั้นจึงมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ต่อมามีพยานที่เป็นผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงเพื่อวางยาในน้ำดื่มและในยาเม็ดแคปซูล ต่อมาพบว่ามีอาการเหมือนถูกพิษ
ส่วนการเสียชีวิตของนางสาวศิริพร หรือก้อย มีการกระทำหลายอย่างของจำเลยที่ 1 ที่เป็นพิรุธ ที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาและความคาดหมายว่าจะให้เสียชีวิตในช่วงเวลาใด รวมถึงจำเลยที่ 1 คอยอยู่ใกล้ผู้ตายเพื่อขโมยของ ก่อนที่จะมีผู้อื่นเข้ามาช่วยเหลือ
ซึ่งหากบริสุทธิ์จริงควรอยู่ช่วยชีวิตจนถึงที่สุด หรือโทรติดต่อญาติของผู้ตายให้ทราบ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 มีการวางแผนมาตั้งแต่ต้น ยังพบข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้สั่งไซยาไนด์ มาอย่างเร่งรีบ ทั้งที่ไม่มีอาชีพเกี่ยวกับสารเคมี และพบว่ามียาไซยาไนด์ซ่อนอยู่ภายในรถยนต์ของผู้ตายหลายจุด รวมถึงพบยาเม็ดแคปซูลที่ภายในประกอบด้วยสารไซยาไนด์ซ่อนอยู่ในห้องโดยสารรถยนต์
จำเลยที่ 2 ที่มีประเด็นได้นำหลักฐานสำคัญซึ่งเป็นกระเป๋าของกลางไปส่งให้กับจำเลยที่ 1 แทนที่จะนำไปให้พนักงานสอบสวน
ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นทนายความที่จำเลยที่ 1 ให้ความเชื่อถือ ได้ยุยงให้จำเลยที่ 1 ปกปิดกระเป๋าของกลางในคดี เพื่อเป็นแนวทางในการชนะคดี ประกอบ กลับส่งคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ชนะคดีได้โดยไม่มีของกลางให้จำเลยที่ 1 และ 3 อ่านในกลุ่มไลน์ที่สร้างขึ้น
จากพยานและหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนัก ศาลรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึง 3 กระทำผิดตามฟ้อง ส่วนทางคดีแพ่ง โจทก์ร่วมขอให้ชดใช้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าควร ชำระให้รวมโจทก์ร่วม เป็นเงิน 2,343,588 ล้านบาท
ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 3 กระทำผิดตามฟ้อง เห็นว่านางสรารัตน์ กระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อกระทำอย่างอื่น พิพากษาประหารชีวิต
ส่วน พ.ต.ท.วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ อดีตสามี และอดีตรอง ผกก.สภ.สวนผึ้ง จำเลยที่ 2 และ น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวรรณวัตร์ หรือทนายพัช จำเลยที่ 3 มีความผิดฐาน ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง และซ่อนเร้นทำลายหลักฐาน ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี
เเต่ พ.ต.ท.วิฑูรย์ จำเลยที่ 2 ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน เเละให้ชดใช้ค่าเสียหายเเก่โจทก์ร่วม 2 ล้าน 4 เเสนบาทเศษ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง