คลัง เตรียมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ผู้สูงอายุ 50 – 60 ปี ลงทะเบียนผ่านแอปฯ ทางรัฐ ยันไม่ทับซ้อนกับผู้ถือบัตรคนจน และผู้พิการ ต้องผูกบัญชีพร้อมเพย์ กับบัตรประชาชน
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ วันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอแนวทางการแจกเงินดิจิทัลให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ โดยมีแนวโน้มที่จะแจกเป็นเงินสด 10,000 บาทให้กับผู้สูงอายุที่ได้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐไว้แล้ว และผูกบัญชีพร้อมเพย์กับบัตรประชาชน เช่นเดียวกับการแจกเงินเฟสแรกของกลุ่มเปราะบาง
สำหรับผู้สูงอายุที่ประสงค์จะผูกบัญชีพร้อมเพย์ของธนาคารกับเลขบัตรประชาชนสามารถทำได้กับบัญชีธนาคารใดก็ได้ โดยไม่ต้องเปิดบัญชีใหม่ ยกตัวอย่างเช่น วิธีผูกพร้อมเพย์ของธนาคารกสิกรไทย มีขั้นตอนดังนี้
วิธีสมัครพร้อมเพย์ผ่านตู้อัตโนมัติ K-ATM
1. ใส่บัตร ATM กรอกรหัส ATM 6 หลักเพื่อเข้าสู่บริการ
2. กดเลือก ‘พร้อมเพย์’ และ ‘บริการพร้อมเพย์’
3. จากนั้นคลิก ‘ลงทะเบียนพร้อมเพย์’ และ เลือก ‘บัญชีออมทรัพย์’
4. เลือก ‘สมัครบริการด้วยหมายเลขบัตรประชาชน’
5. กรอกหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก แล้วคลิก ‘หมายเลขถูกต้อง’
6. กดเลือกตกลงรับเงื่อนไขทำรายการเรียบร้อย พร้อมรับสลิปยืนยัน
นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชั่น K PLUS ตามวิธีการนี้
1. เข้าสู่แอป K PLUS แล้วเลือก ‘ธุรกรรม’
2. ใส่รหัสผ่านเพื่อเข้าสู่ระบบ
3. เลื่อนไปที่เมนูบริการอื่น
4. เลือก ‘พร้อมเพย์’
5. คลิก ‘ลงทะเบียน/ แก้ไข’
6. เลือกลงทะเบียนด้วย ‘หมายเลขบัตรประชาชน’
7. เลือกบัญชีที่ต้องการลงทะเบียน และระบุอีเมลเพื่อรับแจ้งผลการลงทะเบียน จากนั้นยอมรับเงื่อนไขและกด ‘ยืนยัน’
8. ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยหมายเลขบัตรประชาชนสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุต้องผูกบัญชีพร้อมเพย์กับหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เท่านั้น จึงจะสามารถรับเงินดิจิทัล 10,000 บาทได้
ผู้สูงอายุคนใดมีสิทธิรับเงิน 10,000 บาทบ้าง
นายเผ่าภูมิระบุเงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเงินดิจิทัล โดยต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 50 – 60 ปีขึ้นไป โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุม อีกทั้งต้องเคยลงทะเบียนรับเงินผ่านแอปฯ ทางรัฐ ซึ่งปิดลงทะเบียนไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังต้องเป็นผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-บัตรคนจน หรือผู้พิการ ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดการรับสิทธิทับซ้อน
นอกจากนี้ยังต้องไม่ใช่บุคคลที่กระทรวงการคลังระบุไว้ ได้แก่ ผู้ที่มีรายได้เกิน 70,000 บาทต่อเดือน และมีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566 รวมทั้งมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 ประกอบด้วย เงินฝากกระแสรายวัน, เงินฝากออมทรัพย์, เงินฝากประจำ, บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน
รวมทั้งไม่เป็นบุคคลที่ฝ่าฝืน ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในโครงการของรัฐ และผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามความคืบหน้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในวันที่ 19 พ.ย.นี้ หากมีข้อสรุปหรือการพิจารณาเงื่อนไขใดเพิ่มเติมจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบอีกครั้ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง