เตรียมปลดล็อก ตัวเงินตัวทอง-นกนางแอ่นกินรัง เลี้ยงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
รมว.ทส. เฉลิมชัย ประกาศ จ่อปลดล็อก ‘ตัวเงินตัวทอง (เหี้ย)’ และ ‘นกนางแอ่นกินรัง’ ให้สามารถเลี้ยงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เบื้องต้นคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีมติเห็นชอบ
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. มอบหมายให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ครั้งที่ 2/2567 พร้อมด้วย ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดทส. และ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ โดยมี ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การประชุมครั้งมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คือ การพิจารณาร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับสำคัญ ได้แก่ การกำหนดให้ตัวเงินตัวทอง เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ และ การกำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกแอ่นได้
สำหรับ ‘ตัวเงินตัวทอง’ หรือ ‘เหี้ย’ จากเดิมที่มีสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ 62 ชนิด จะเพิ่มเป็น 63 ชนิด โดยการเพิ่มตัวเงินตัวทอง (Varanus salvator) เข้าไปในรายการ เนื่องจากพบว่าในปัจจุบันมีการเลี้ยงเพื่อเป็นสัตว์สวยงาม ถือเป็นสัตว์ที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
หนังของเหี้ยมีลายละเอียด นุ่ม เหนียว ทนทาน มีการใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์เครื่องหนังอย่างกว้างขวาง ซึ่งเมื่อประกาศแล้วผู้ที่มีความสนใจในการประกอบกิจการเพาะพันธุ์สามารถขออนุญาตในการเพาะพันธุ์เหี้ย ทำผลิตภัณฑ์จากหนังเหี้ย และสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า สามารถผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ในอนาคต
นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีโครงการศึกษาวิจัยการเลี้ยงและใช้ประโยชน์จากตัวเงินตัวทองเตรียมพร้อมไว้ระดับหนึ่งแล้ว
ในส่วนของ ‘นกแอ่น’ ร่างประกาศฯ มีการกำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครอง 2 ชนิด ได้แก่ นกแอ่นกินรัง (Aerodramus fuciphagus หรือ Aerodramus germani) และนกแอ่นหางสี่เหลียม หรือ นกแอ่นรังดำ (Aerodramus maximus) ที่อนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังได้ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการใช้ประโยชน์จากรังนกแอ่นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์ในกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายด้านอาคาร กฎหมายด้านสาธารณสุข เป็นต้น
ทั้งนี้ ร่างประกาศทั้งสองฉบับได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาตามกฎหมายของกรมอุทยานฯ และคณะอนุกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญได้เห็นชอบทั้งสองส่วนของร่างประกาศฯ เนื่องจากเห็นว่าการใช้หลักฐานและใบอนุญาตจะช่วยให้ผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตง่ายขึ้น และฝ่ายกฎหมายได้คลายข้อกังวลในเรื่องที่อาจจะมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
การออกประกาศทั้งสองฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาสมดุลของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยกรมอุทยานฯ จะดำเนินการศึกษาติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง