ไลฟ์สไตล์

ตอบแล้ว “นกตบยุงยักษ์” เลี้ยงได้ไหม เช็กให้ชัวร์ ข้อกฎหมายสัตว์คุ้มครองในไทย

คนรักสัตว์ต้องรู้ “นกตบยุงยักษ์” หรือ “Great Eared Nightjar” สามารถนำเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยได้หรือไม่ หลังมีข่าวพบนกชนิดนี้ บินหลุดอยู่ใจกลางคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร จนทำผู้คนแตกตื่นฮือฮา เนื่องจากเป็นนกหน้าตาประหลาดคล้ายกับ “น้องเขี้ยวกุด” มังกรสีดำสุดน่ารักจากแอนิเมชั่น เรื่อง How to Train Your Dragon โดยจะมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง มาทำความรู้จักข้อมูลทางด้านปักษีวิทยา ของเจ้าสัตว์ปีกสุดน่ารักตัวนี้กันได้เลยครับ

นกตบยุงยักษ์ เลี้ยงได้หรือไม่

นกตบยุงยักษ์ ได้ถูกกำหนด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ในลำดับที่ 466 ให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ด้านสถานภาพการอนุรักษ์ของนกตบยุงยักษ์นั้น ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง (Least Concern)

ด้าน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ได้มีบทบัญญัติไว้ว่า ห้ามครอบครองสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่สัตว์ที่ครอบครองเป็นสัตว์ที่มาจากการเพาะพันธุ์ที่ไม่ถูกต้อง จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สรุปแล้ว นกตบยุงยักษ์ ไม่สามารถนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงหรือครอบครองได้ เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบการมีไว้ครอบครอง อาจต้องโทษทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นแล้ว หากพบเจอสัตว์ต้องสงสัยที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงทั่วไป ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรมพิทักษ์สัตว์ป่า เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบและส่งมอบให้ดูแลในภายหลัง

นกตบยุงยักษ์ 1
ภาพจาก : Katry Somsaman

รู้จักนกตบยุงยักษ์ สัตว์ปีกหน้าคล้ายมังกร

นกตบยุงยักษ์ หรือชื่อภาษาอังกฤษ Great Eared Nightjar (Lyncornis macrotis) เป็นนกขนาดใหญ่ในวงศ์ Caprimulgidae มีขนาดตัวตั้งแต่ 31 – 41 เซนติเมตร มีปีกและหางยาว มีกระจุกขนตรงท้ายทอยลักษณะคล้ายใบหู ส่วนหัวมีสีน้ำตาล บริเวณไหล่มีแถบสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม ลำตัวมีทั้งสีดำ น้ำตาล และเทา สลับเป็นลายปะปนกัน ช่วยให้เจ้านกตัวนี้กลมกลืนในป่าได้ดียิ่งขึ้น

ถิ่นที่อยู่ของนกชนิดนี้ พบมากในประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย พวกมันอาศัยอยู่บริเวณป่าเขตร้อนชื้น หรือที่ราบลุ่มกึ่งร้อนชื้น มักออกหากินตอนกลางคืน โดยมักกินแมลงเป็นหลัก อาทิ ด้วง แมลงเม่า เป็นต้น ในไทยพบนกตกยุงทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่ นกตบยุงพันธุ์มลายู นกตบยุงยักษ์ นกตบยุงภูเขา นกตบยุงหางยาว นกตบยุงป่าโคก และนกตบยุงเล็ก

เอกลักษณ์ที่เด่นชัดของนกตบยุงยักษ์ ได้แก่ เสียงร้องของพวกมันที่ลักษณะคล้ายกับการผิวปาก “ปิด ปิ้ว” ที่จะลากเสียงยาวที่พยางค์ท้าย รวมทั้งลักษณะภายนอกที่ดูคล้ายคลึงกับลูกมังกรจากภาพยนตร์หรือเทพนิยาย ทำให้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “นกมังกร”

นกตบยุงยักษ์ 2
ภาพจาก : Katry Somsaman

กระแสของนกตบยุงยักษ์นั้น เริ่มเป็นที่พูดถึงหลังจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก Katry Somsaman ได้โพสต์เหตุการณ์ที่เหล่าแม่บ้านและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ที่ช่วยกันรุมจับนกปริศนาออกจากระเบียงห้อง เมื่อจับได้กลับพบว่าเจ้านกตัวนี้มีหน้าตาละม้ายคล้ายเจ้าเขี้ยวกุด มังกรจากแอนิเมชั่น เรื่อง How to Train Your Dragon

เมื่อนำตัวมาได้ จึงได้ให้นิติบุคคลของคอนโดมิเนียมโทรแจ้งกับทางกรมพิทักษ์สัตว์ป่า ซึ่งได้ความว่า นกที่พวกตนจับได้คือ นกตบยุงยักษ์ ที่หายากแล้วในปัจจุบัน ทำให้ชาวเน็ตแห่เข้ามาคอมเมนต์ชื่นชมความน่ารักของเจ้านกตัวนี้เป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดมียอดแชร์มากกว่า 6 พันครั้ง ล่าสุดผู้ใช้เฟซบุ๊กคนเดิม ได้รายงานว่า เจ้านกตัวดังกล่าวถูกส่งไปอยู่ในมือคุณหมอของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นกตบยุงยักษ์ 3
ภาพจาก : Katry Somsaman

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง Environman, Wikipedia, โลกสีเขียว

Best Writer

นักเขียนบทความประจำ Thaiger จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มีความเชียวชาญด้านวงการเพลงไทย ภาพยนตร์ อนิเมะ ชื่นชมติดตามข่าวสารสังคม กีฬา เทคโนโลยี แตกประเด็น สรุปเรื่องราวมาร้อยเรียงผ่านข้อความสู่สายตาผู้อ่าน ช่องทางติดต่อ best.t@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button