ข่าว

เตือน วิเคราะห์บุคลิกภาพ ‘บอสพอล’ เป็นการละเมิดสิทธิ ขัดจริยธรรมแพทย์

‘เจษฎา ทองเถาว์’ จิตแพทย์ โรงพยาบาลอุบลราชธานี โพสต์เตือน การวิเคราะห์ปมวัยเด็ก และบุคลิกภาพที่บิดเบี้ยวของ ‘บอสพอล’ เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล บางกรณีอาจเข้าข่ายหมิ่นประมาท ชี้ ขัดจริยธรรมแพทย์

หนึ่งในข่าวสารที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในขณะนี้ แน่นอนว่าต้องเป็นข่าวของ บอสพอล วรัตน์พล วรัทน์วรกุล ซีดีโอธุรกิจเครือข่าย ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด (THE iCON GROUP) ซึ่งนอกจากจะเป็นที่จับตามองในเรื่องของแนวทางการสืบสวนเพื่อดำเนินคดีแล้ว สิ่งที่ชาวโซเชียลบางกลุ่มให้ความสนใจไม่แพ้กันก็คือ “การวิเคราะห์ถอดภาษากายของบอสคนดัง”

Advertisements

ล่าสุด (19 ตุลาคม 2567) เพจเฟซบุ๊ก คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา ของ นายแพทย์เจษฎา ทองเถาว์ แพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ จิตแพทย์ประจำ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ออกมาโพสต์ข้อความชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว ในมุมมองของจิตแพทย์ โดยเผยว่า การวิเคราะห์ หรือวิจารณ์บุคลิกภาพของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ต้องหา เพราะถึงจะกระทำผิด แต่บุคคลเหล่านั้นก็ยังมีสิทธิได้รับการปกป้องทางกฎหมายเช่นเดิม

นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า เหตุผลที่หลาย ๆ คนไม่ค่อยเห็นบรรดาบุคลากรทางการทางแพทย์วิเคราะห์ในเชิงนี้ก็เพราะเป็นการกระทำที่ขัดกับจริยธรรม

จิตแพทย์ วิเคราะห์ปมวัยเด็ก บอสพอล
ภาพจาก : คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา

โพสต์ดังกล่าวระบุข้อความไว้ว่า “วิเคราะห์ปมวัยเด็กและบุคลิกภาพที่บิดเบี้ยวของบอสให้ฟังได้ไหม? แล้วทำไมการวิเคราะห์/วิจารณ์บุคลิกภาพของคนที่ยังมีชีวิต จึงเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงมาก ๆ ?

หลังข่าวการถูกจับของผู้ต้องหาชื่อดัง หมอได้เห็นบทความหนึ่งที่มีการวิเคราะห์บุคลิกภาพของผู้ต้องหาระดับบอส โดยระบุว่าบุคลิกภาพของเขาน่าจะมีความผิดปกติแบบใด มีการเชื่อมโยงเพื่ออธิบายปมในวัยเด็กกับผลของการทำผิดในปัจจุบัน และวิเคราะห์ถึงแผนการของเขาในอนาคต ฯลฯ เป็นโพสที่มีการแชร์ต่อมาก ๆ

ส่วนตัวแล้ว หมอแอบรู้สึกไม่สบายใจ เนื่องจากการวิเคราะห์ลักษณะดังกล่าว ไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่ยังมีประเด็นจริยธรรมที่สำคัญซึ่งสังคมต้องระมัดระวัง

Advertisements

จริงอยู่ที่พฤติกรรมต่าง ๆ ในข่าวที่เราได้เสพกันนั้นมีความชัดเจนของพฤติกรรมมากอยู่ แถมข่าวก็โหมกระหน่ำย้ำทุกชั่วโมง แต่ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสิน คนเหล่านั้นก็ยังนับว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ การวิจารณ์หรือการด่วนสรุปในที่สาธารณะ อาจกลายเป็นการสร้างความเสียหายอย่างไม่เป็นธรรมต่อบุคคลนั้น

หรือต่อให้คนแหล่านั้นจะมีความผิดจริง มีคดีที่ต้องถูกลงโทษจริง ๆ แต่พวกเขาก็ยังคงมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องในเรื่องชื่อเสียงตามกฎหมาย

การกล่าวโทษหรือตีตราว่า คน ๆ หนึ่งมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบ xxx หรือ yyy โดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่ถูกต้อง หรือไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าตัว อาจถือเป็นการแสดงความคิดเห็นเกินขอบเขต ซึ่งอาจเข้าข่ายหมิ่นประมาท และสุ่มเสียงมาก ๆ ต่อความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

ถ้าทุกคนสังเกตให้ดี จะเห็นว่าทีผ่านมา เราแทบไม่เคยเห็นว่ามีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือบุคลากรทางการแพทย์ ออกมาวิเคราะห์หรืออธิบายกลไกของบุคลิกภาพที่ผิดปกติของใครเลย แม้ว่าในสังคม เราจะเห็นคนที่น่าหมั่นไส้ หรือมีลักษณะที่เด่นชัดมาก ๆ เหมือนเดินออกมาจากตำราจิตเวชมากแค่ไหนก็ตาม

ไม่ใช่เพราะขาดข้อมูลหรือขาดความสามารถในการวิเคราะห์ แต่เพราะการกระทำนี้ ขัดต่อจริยธรรมทางการแพทย์ จึงไม่สามารถทำได้

การวินิจฉัยบุคลิกภาพผิดปกติ เช่น บุคลิกภาพผิดปกติชนิดต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder : ASPD) ไม่สามารถทำได้จากการคาดเดาหรือเชื่อมโยงข้อมูลในเน็ต แต่ต้องอาศัยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการเก็บข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น การสัมภาษณ์ทางจิตเวชและการประเมินทางคลินิกจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

การใช้เพียงข้อมูลผิวเผินจากข่าวมาวิเคราะห์จึงเป็นการตัดสินที่ไม่รอบคอบและไม่เป็นธรรม หรือถ้าลองคิดต่อไปไกล ๆ เลยว่า ถ้าคน ๆ นั้นเขามีความผิดปกติแบบที่คาดไว้จริง ๆ หมอก็ไม่เห็นว่ามันจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หากเราใช้ข้อมูลเหล่านี้เพียงเพื่อตัดสิน ตีตรา และซ้ำเติมกัน

จิตแพทย์ วิเคราะห์ปมวัยเด็ก บอสพอล
ภาพจาก : คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา

แล้วเราจะสามารถวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นในสื่อโซเชียลได้มากน้อยแค่ไหน?

คำแนะนำเกี่ยวกับการโพสต์หรือวิจารณ์เรื่องบุคลิกภาพผิดปกติ

1. หลีกเลี่ยงการตีตรา : อย่าระบุว่าบุคคลมีความผิดปกติทางจิตเวชหรือบุคลิกภาพโดยไม่มีหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญ

2. ใช้ถ้อยคำรอบคอบ : แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ ไม่พาดพิงบุคคลหรือสร้างความเสียหายแก่ชื่อเสียง

3. เคารพความเป็นส่วนตัว : คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลและหลีกเลี่ยงการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจละเมิดความเป็นส่วนตัว”

ทั้งนี้ หลังเผยแพร่โพสต์ออกไป ก็มีประชาชนจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้

จิตแพทย์ วิเคราะห์ปมวัยเด็ก บอสพอล
ภาพจาก : คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button