อย่าแตกตื่น ‘อ.เจษฎา’ เฉลย พายุแม่เหล็กโลก ส่งผลโดยตรงต่อมนุษย์อย่างไร
ช่วยไขความจริง ‘อาจารย์เจษฎา’ ยกข้อมูลวิชาการ ตอบเรื่อง “พายุแม่เหล็กโลก” ที่จะเกิดขึ้นช่วงค่ำวันที่ 10 ตุลาคมนี้ ตามเวลาไทย แท้จริงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อโลกอย่างไร อันตรายหรือไม่
สืบเนื่องจากกรณีที่ชาวโซเชียลแห่แชร์โพสต์ของ สมาคมดาราศาสตร์ไทย ที่ได้ออกมาประกาศให้ประชาชนเฝ้าติดตาม “พายุแม่เหล็กโลก ระดับร้ายแรง G4” ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงค่ำของวันที่ 10 ตุลาคม 2567 พร้อมเผยด้วยว่า มีโอกาสมากถึง 25% ที่จะทวีความรุนแรงสู่ระดับสุดขั้ว G5 ซึ่งโพสต์ดังกล่าวได้นำไปสู่ความวิตกของประชาชน หวั่นจะเกิดอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์
ล่าสุด (10 ตุลาคม 2567) อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์อธิบายถึงประเด็นดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ชี้แจงให้ประชาชนคลายกังวล พร้อมอธิบายในแง่ของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจริงจากการเกิดพายุแม่เหล็กโลก โดยได้ย้ำชัดว่า ไม่ต้องแตกตื่น เพราะไม่ส่งผลโดยตรงต่อผู้คนบนโลก แต่อาจมีแค่เรื่องระบบสายส่งไฟฟ้าในประเทศทางใกล้ขั้วโลกเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้หยิบยกข้อมูลทางวิชาการจากสมาคมดาราศาสตร์ไทย มาสรุปโดยย่อเพื่อให้ประชาชนเข้าใจและวางใจต่อพายุแม่เหล็กโลกลูกนี้ ซึ่งก็ได้ปรากฏไว้ว่า ความรุนแรง ระดับ G4 นั้น อาจส่งผลให้เกิดแสงเหนือแสงใต้ลามไปถึงละติจูดแม่เหล็ก 45 องศา, เกิดการกระจายสัญญาณความถี่สูง ขัดข้องเป็นระยะ, เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นในท่อส่งน้ำ, ระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้า อาจเกิดความเสียหายเป็นพื้นที่กว้าง และสุดท้าย ยานอวกาศอาจเกิดการสะสมประจุขึ้นที่พื้นผิว และอาจมีปัญหาในการสื่อสารและควบคุมทิศ
โพสต์ดังกล่าวระบุข้อความไว้ว่า “พายุแม่เหล็กโลก ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับคนบนโลกครับ .. ไม่ต้องกังวลอะไรมาก ! (แถมได้ดูแสงออโรร่า แถวขั้วโลกด้วย) วันนี้มีการแชร์โพสต์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทยที่ระบุว่า “ด่วน! NOAA ออกประกาศเฝ้าติดตามพายุแม่เหล็กโลกระดับร้ายแรง G4 คืนวันพรุ่งนี้ เผยมีโอกาส 25% ที่จะทวีความรุนแรงสู่ระดับสุดขั้ว G5 ขอบคุณภาพจาก NOAA/SWPC” พร้อมกับภาพของโลก ที่มีวงแหวนแสง สีแดงขอบเขียว เป็นวงกว้าง ครอบคลุมประเทศแถบขั้วโลกเหนือ !?
ทำเอาหลายต่อหลายคนแตกตื่นตกใจว่า จะมีอันตรายร้ายแรงอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ จากเหตุพายุแม่เหล็กโลกระดับ G4 – G5 ที่จะเกิดขึ้น ?
คำตอบคือ ไม่ต้องแตกตื่นขนาดนั้นครับ ! จริง ๆ มันคือการเกิดพายุสุริยะ (คือ อนุภาคจิ๋วจำนวนมากที่พุ่งออกมาจากดวงอาทิตย์) เคลื่อนที่เข้ามากระทบกับสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งปกป้องโลกของเราไว้ และจะมีผลทำให้พวกดาวเทียม หรือยานอวกาศ และมนุษย์อวกาศที่อยู่นอกโลก ได้รับผลกระทบได้ (เพราะไม่ได้รับการป้องกันไว้ด้วยสนามแม่เหล็กโลก) แค่นั้น
แต่ไม่ได้จะมีผลโดยตรงกับคนที่อยู่บนโลกครับ อาจะมีได้บ้างกับระบบสายส่งไฟฟ้า แต่ก็ในประเทศทางใกล้ขั้วโลก (ไม่ใช่แถวเส้นศูนย์สูตรแบบไทยเรา) .. แถมจะเกิดแสงเหนือแสงใต้ หรือแสงออโรร่า ให้ดูได้มากขึ้น ในประเทศแถวขั้วโลกเหล่านั้นด้วยครับ (ขอบเขตดังภาพวงแหวนสีแดง ในรูป)
คาดว่าจะถึงโลกในช่วงเช้าวันที่ 10 ตุลาคม ของช่วงเวลา Eastern Daylight Time (EDT) จะตรงกับเวลาไทย นั่นคือ ช่วงหัวค่ำของวันที่ 10 ต.ค. นี้ ขอยกข้อมูลจากสมาคมดาราศาสตร์ไทย มาสรุปให้ฟังครับ
– ดวงอาทิตย์ บางครั้ง อาจเกิดการปะทุใหญ่บนพื้นผิว พ่นพลังงานและอนุภาคออกมาเป็นปริมาณมาก (บางคนเรียกว่า ลมสุริยะ solar wind)
– ถ้ามีลมสุริยะที่มีความรุนแรง (เรียกว่า พายุสุริยะ solar storm) เข้ามาปะทะเข้ากับสนามแม่เหล็กของโลก ก็จะทำให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในอวกาศเหนือชั้นบรรยากาศโลกไป (บางคนเรียก พายุสนามแม่เหล็กโลก)
– อาจส่งผลกระทบต่อดาวเทียม การส่งกำลังไฟฟ้า หรือ การสื่อสารวิทยุ แค่นั้น
– ผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์ มีไม่มากนัก (คืออาจได้รับผลทางอ้อม เช่น มาจากดาวเทียมที่ขัดข้อง หรือระบบไฟฟ้าขัดข้องในประเทศแถบขั้วโลก)
– องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ โนอา (NOAA–National Oceanic and Atmospheric Administration) ได้กำหนดมาตราแสดงระดับความรุนแรงของปรากฏการณ์ทางภูมิอากาศนอกโลกที่จะมีผลต่อโลกไว้ ตัวอย่างเช่น
“ระดับ G5” : รุนแรงที่สุด
- ระบบสายส่งไฟฟ้า อาจล่มหรือดับถาวร
- หม้อแปลงไฟฟ้า อาจเสียหาย
- ยานอวกาศ มีปัญหาจากประจุเข้มข้นที่สะสมที่ผิวยาน มีปัญหาด้านการสื่อสารและการควบคุมทิศ
- กระแสไฟฟ้าในท่อส่งน้ำ อาจสูงหลายร้อยแอมแปร์
- การกระจายสัญญาณความถี่สูง ล้มเหลว
- เกิดแสงเหนือแสงใต้ ลามไปถึงระดับละติจูดแม่เหล็ก 40 องศา
“ระดับ G4” : รุนแรงมาก
- ระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้า อาจเกิดความเสียหายเป็นพื้นที่กว้าง
- ยานอวกาศ อาจเกิดการสะสมประจุขึ้นที่พื้นผิว และอาจมีปัญหาในการสื่อสารและควบคุมทิศ
- เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นในท่อส่งน้ำ
- เกิดแสงเหนือแสงใต้ ลามไปถึงละติจูดแม่เหล็ก 45 องศา
- การกระจายสัญญาณความถี่สูง ขัดข้องเป็นระยะ
ข้อมูลและภาพจาก https://www.facebook.com/100064556625409/posts/929309219230957/?app=fbl และ https://thaiastro.nectec.or.th/…/geomagnetic-storm-scale/”
ทั้งนี้ ก็เป็นอันเข้าใจตรงกันว่า ‘พายุแม่เหล็กโลก’ ที่จะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 10 ตุลาคมนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบที่น่าเป็นกังวลต่อชาวโลกแต่อย่างใด รวมถึงไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยเช่นกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อ.เจษฎา เตือน “พายุโซนร้อนซูลิก” จ่อไทย ต้องเฝ้าระวังเส้นทางใกล้ชิด
- อ.เจษฎ์ ยืนยัน พายุไต้หวันไม่ถล่มไทย แต่ฝนหนักมาแน่ 30 ก.ย.- 2 ต.ค.
- อาจารย์เจษฎ์ ตอบชัด พระอาทิตย์ 7 ดวงซ้อนกัน ไม่ใช่ “Sun Dog” เป็นภาพสะท้อนจากสิ่งนี้