บันเทิงภาพยนตร์

รวมรายชื่อ “ภาพยนตร์ไทย” ที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์

รวม 31 รายชื่อภาพยนตร์ไทยที่เคยถูกเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ตั้งแต่อดีตจนถึงผลงานล่าสุด หลานม่า

เป็นกระแสเอาใจช่วยสำหรับแฟน ๆ หนังไทย ที่คราวนี้มีเฮหลังจากภาพยนตร์เรื่อง หลานม่า ที่เดินสายฉายไปทั่วโลกได้กระแสตอบรับอย่างล้นหลาม ทั้งสื่อและนักวิจารณ์ รวมถึงเว็บไซต์มะเขือสดอย่าง rotten tomatoes ก็ได้รับคะแนนรีวิวสูงจากนักวิจารณ์ 100 คะแนน แถมฝั่งคนดูก็ได้เสียงไปอีก 96 คะแนน จนกลายเป็นหนังที่ถุกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลระดับโลกอย่าง ออสการ์ (Oscar) แต่รู้หรือไม่ หลานม่า ไม่ใช่ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ถูกเสนอชื่อ ในอดีตมีผลงานภาพยนตร์หลายเรื่องที่ถูกคัดเลือกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลกว่า 30 เรื่อง มาดูกันว่ามีภาพยนตร์ไทยเรื่องไหนบ้างที่เคยเข้าชิงออสการ์ในบทคามนี้

Advertisements

1. น้ำพุ

น้ำพุ เป็นภาพยนตร์ไทย ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2527 สร้างโดย ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ถ่ายทำด้วยระบบฟิล์ม 35 มม.สโคป บันทึกเสียงจริงซาวด์-ออน-ฟิล์ม กำกับการแสดงโดย ยุทธนา มุกดาสนิท สร้างจากเนื้อเรื่องมาจากหนังสือ เรื่องของน้ำพุ ของ สุวรรณี สุคนธา ซึ่งเป็นเรื่องราวชีวิตจริงของ วงศ์เมือง นันทขว้าง เป็นบุตรชายคนเดียวของ สุวรรณี สุคนธา ที่ติดยาเสพติด เป็นอุทธาหรณ์ ของการเลี้ยงบุตร และ อันตรายของยาเสพติด เป็นเรื่องราวของน้ำพุเป็นเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีปัญหาและเขาก็ได้ค้นหาสิ่งใหม่ๆให้ชีวิตของเค้าทั้งดีและไม่ดี แต่น้ำพุ ก็เลือกทางผิด แม่ของน้ำพุรู้ก็สายไปเสียแล้ว น้ำพุได้ติดยาอย่างหนักและในที่สุดยาเสพติดได้เอาชีวิตน้ำพุไป ออกเข้าฉายเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2527 ที่โรงภาพยนตร์เอเธนส์ น้ำพุ เคยได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 57 แต่ไม่ผ่านการคัดเรื่องในปีนั้น

2. คนเลี้ยงช้าง

คนเลี้ยงช้าง ภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2533 กำกับโดยหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลสุพรรณหงส์ ประจำปี พ.ศ. 2534 และได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ในการประกาศรางวัลครั้งที่ 62 แต่ทว่ามิได้ผ่านเข้าไปถึงรอบสุดท้าย

เพลงประกอบภาพยนตร์ ชื่อเพลง “พิทักษ์ป่า” ขับร้องโดยแอ๊ด คาราบาว ที่เป็นนักแสดงรับเชิญในเรื่อง และเพลง “สร้างไพร” แต่งและขับร้องโดยสุรชัย จันทิมาธร

Advertisements

3. น้องเมีย

น้องเมีย ภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2521 บทพระนิพนธ์ บทภาพยนตร์ กำกับการแสดงและลำดับภาพโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ถ่ายภาพโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นเรื่องของแสงและปราง คู่สามีภรรยาจากปากน้ำโพ ล่องเรือเข้ากรุงเทพฯเพื่อขายแตงโม/ขายทราย มีทับทิมน้องสาวของปรางขอติดเรือมาเที่ยวเมืองหลวงด้วย แต่เมื่อมาถึง ปรางกลับตัดสินใจทิ้งแสงเพื่อหางานที่ดีกว่า แสงคลั่งและขายข้าวของทุกอย่างแม้จะถูกกดราคาเพื่อเอาเงินมาใช้ตามหาปราง ทิ้งให้ทับทิมเลี้ยงดูลูกชายตามลำพัง โชคร้ายกระหน่ำซ้ำเติมทำให้แสงเริ่มท้อใจและเห็นความดีในตัวทับทิม ในขณะที่ปรางรู้ตัวว่าถูกหลอก จึงคิดกลับมาหาแสง

น้องเมีย เคยได้รับเลือกเป็นตัวแทนของประเทศไทย ในการเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ในการประกาศผลรางวัลครั้งที่ 62 ด้วย แต่มิได้ผ่านเข้าถึงรอบสุดท้าย

4. กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้

ภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2538 กำกับโดยบัณฑิต ฤทธิ์ถกล เรื่อราวของเด็ก ๆ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งได้หนีออกจากบ้าน และแอบเข้าไปเที่ยวเล่นในปราสาท ซึ่งมีแม่มดใจร้ายอยู่ เด็กๆถูกนางแม่มดใจร้ายสาปให้เป็นสัตว์ต่าง ๆ พอดีเจ้าชายเดินทางผ่านมา จึงใช้ดาบวิเศษช่วยเด็กๆ เหล่านั้น ให้พ้นคำสาปของแม่มด แม่มดได้เสกยักษ์ตาเดียวขึ้นมาจากหลุมตรงเข้าต่อสู้กับเจ้าชายอย่างดุเดือด” เรื่องที่เล่าเป็นนิทานที่ “ดำรง” เล่าให้ลูกทั้งสามฟังเสมอฯ แต่ชีวิตของเด็กทั้งสาม ได้พบเหตุการณ์ยิ่งกว่านิทาน เมื่อเด็กๆได้ถูกจับตัวไป

ภาพยนตร์เรื่องนี้เคยฉายชนกับ เสียดาย ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีกว่า จนเป็นกระแสในขณะนั้น ทำให้ภาพยนตร์ประสบกับความขาดทุน แต่ทว่าเสียงวิจารณ์ล้วนไปในทางที่ดี และยังได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลสุพรรณหงส์อีกด้วย และเคยได้รับเลือกเป็นตัวแทนของประเทศไทย ในการเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ในการประกาศผลรางวัลครั้งที่ 68 แต่ไม่ผ่านการเสนอชื่อ

5. เสียดาย 2

เสียดาย 2 งานในการกำกับโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นภาพยนตร์สะท้อนปัญหาสังคมเป็นภาคต่อจาก เสียดาย ในปี พ.ศ. 2537 ที่เป็นภาพยนตร์ในแนวสารคดีสะท้อนปัญหาสังคมเกี่ยวกับวัยรุ่นและยาเสพติด แต่ เสียดาย 2 นี้เป็นภาพยนตร์แบบดราม่าทั่วไป และเป็นเรื่องของผู้เป็นโรคเอดส์

ถือว่าเป็นผลงานการแสดงครั้งแรกของ มาริสา แอนนิต้า นางแบบสาวลูกครึ่งไทย-เนเธอร์แลนด์ และเป็นการแสดงอีกครั้งของ สรพงษ์ ชาตรี นักแสดงคู่บารมีของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้กำกับและผู้เขียนบท หลังจากแสดงมาแล้วครั้งหนึ่งจาก เสียดาย ในภาคแรก ได้รับรางวัลไปหลายรางวัลด้วยกัน โดยเฉพาะรางวัลตุ๊กตาทองๆ เช่น รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2539

เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ในการประกาศผลรางวัลครั้งที่ 70 แต่ไม่ผ่านการเสนอชื่อ

6. ท้าฟ้าลิขิต

ท้าฟ้าลิขิต เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตของ ออกไซด์ แปง ผู้กำกับชาวไทยสัญชาติฮ่องกง และเป็นผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ของ สัญญา คุณากร หลังจากเรื่องแรกคือ ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด ในปี พ.ศ. 2536 เมื่อภาพยนตร์เข้าฉายแล้วได้รับเสียงวิจารณ์ไปในทางที่ดีและทำให้ได้รับรางวัลถึง 5 รางวัลด้วยกัน เช่น รางวัลตุ๊กตาทองภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, รางวัลดารานำชายโดย สัญญา คุณากร ทั้งรางวัลตุ๊กตาทองและรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง

เรื่องราวของ เจี๊ยบ (สัญญา คุณากร) กับ ว่าน (ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์) แฟนสาวของเขากำลังจะไปทำบุญ แต่ระหว่างทางที่ไป ว่านเกิดถูกรถชน อาการสาหัสปางตาย หลวงพ่อ (สุภักดิ์ ปิติธรรม) บอกว่าเป็นกรรมเก่าของว่าน เจี๊ยบพยายามจะช่วยว่าน เขาได้พบกับหนังสือพิมพ์ประหลาดฉบับหนึ่งโดยบังเอิญ ซึ่งพาดหัวข่าวเรื่องราวในอนาคต ส่วนมากเป็นเรื่องราวของคนตายโดยฆ่าตัวตายหรืออุบัติเหตุ เจี๊ยบต้องวิ่งไปแก้สถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นด้วยตนเองเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้น

ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ในการประกาศผลรางวัลครั้งที่ 71 แต่ไม่ผ่านการคัดเลือก

7. เรื่องตลก 69

เรื่องตลก 69 (6ixtynin9) เป็นภาพยนตร์ไทยแนวตลก อาชญากรรม ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2542 ผลงานกำกับเรื่องที่สองของเป็นเอก รัตนเรือง มีนักแสดงนำที่รับบทเด่นในเรื่องเพียงคนเดียว คือ ลลิตา ปัญโญภาส ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ในประเทศไทย แต่ได้รับการยกย่องในต่างประเทศ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2542 ทั้งรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ และรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง

สำหรับ เรื่องตลก 69 ได้ถูกนำมารีเมคใหม่ในเวอร์ชั่นซีรีส์ทางแพลตฟอร์ม เน็ตฟลิก นำแสดงโดย ใหม่ ดาวิกา เรื่องนี้เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ในการประกาศผลรางวัลครั้งที่ 73 แต่ไม่ผ่านการคัดเลือก

8. 14 ตุลา สงครามประชาชน

14 ตุลา สงครามประชาชน ภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2544 กำกับโดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวประวัติของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 และจิระนันท์ พิตรปรีชา ภรรยา ที่ต้องหนีภัยจากการกวาดล้างของรัฐบาลไทย เข้าป่าไปร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนกระทั่งออกจากป่าในปี พ.ศ. 2524  โดยได้ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ลงมือเขียนบทภาพยนตร์ด้วยตนเอง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ ถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองในยุคนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเรื่องราวที่สร้างจากเรื่องจริงของชีวิตทั้งคู่

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย ประจำปี พุทธศักราช 2566 โดย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย ส่งเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ในการประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 74 แต่ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย

9. มนต์รักทรานซิสเตอร์

มนต์รักทรานซิสเตอร์ (Transistor Love Story) ภาพยนตร์ไทยโดยผู้กำกับเป็นเอก รัตนเรือง ที่สร้างจากวรรณกรรมขายดีของ วัฒน์ วรรลยางกูร โดยผนวกภาพยนตร์หลาย ๆ แนวรวมเข้าด้วยกันทั้งตลก โรแมนติก สืบสวน และเป็นภาพยนตร์เพลงอีกด้วย ซึ่งอุทิศให้กับผลงานเพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ เรื่องนี้ได้รับ การเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 75 สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม จากประเทศไทยในปี พ.ศ. 2545 ถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าชิงรางวัล Directors’ Fortnight ใน เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ซึ่งได้เข้าฉายในปี พ.ศ. 2545 รางวัล ได้แก่ เทศกาลภาพยนตร์เอเชีย-แปซิฟิก 2002

10. เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล

เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (อังกฤษ: Last Life in the Universe) เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่สี่ของเป็นเอก รัตนเรือง ที่มีการร่วมงานจากหลายชาติ ภาพยนตร์มีการใช้ภาษาถึง 3 ภาษาด้วยกัน ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น และอังกฤษ บทภาพยนตร์โดยนักเขียนรางวัลซีไรท์ ปราบดา หยุ่น ถ่ายภาพโดยคริสโตเฟอร์ ดอยล์ และนำแสดงโดยทาดาโนบุ อาซาโนะ, สินิทธา บุญยศักดิ์ และเฌอมาลย์ บุญยศักดิ์

เรื่องราวของ เคนจิ (ทาดาโนบุ อาซาโนะ) ชายหนุ่มชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในประเทศไทย เขาครุ่นคิดเรื่องฆ่าตัวตายอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งเขาพบเจอกับ น้อย หญิงสาวชาวไทย ในตอนที่น้องของเธอถูกรถชน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ที่บ้านพักของเขา พี่ชายของเขาที่หนีความผิดมาจากญี่ปุ่น ถูกเพื่อนยากูซ่าฆ่าตาย เพื่อนพี่ชายเขากำลังจะฆ่าเคนจิ แต่หลังไฟดับ เคนจิเป็นผู้เดียวที่รอดชีวิต เขาเจอน้อยอีกครั้ง ที่ห้องสมุด ที่ทำงานของเขา เมื่อน้อยเอากระเป๋าของเขามาคืน เคนจิไปพักที่บ้านน้อย และเรื่องราวต่าง ๆ ก็ดำเนินไป

เรื่องนี้เป็นตัวแทนเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 76 ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ประจำปี 2003 แต่ไม่ผ่านการเสนอชื่อ

11. โหมโรง

โหมโรง ภาพยนตร์ไทยในปี พ.ศ. 2547 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับดนตรีไทย เนื้อเรื่องได้แรงบันดาลใจมาจากประวัติของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) กำกับภาพยนตร์โดย อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์[1] อำนวยการผลิตโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ภาพยนตร์ทำรายได้ 52.72 ล้านบาท และได้รับรางวัลต่าง ๆ จากงานประกวดภาพยนตร์จำนวนมาก ในช่วงแรกที่ภาพยนตร์ฉายมีกระแสที่ไม่ค่อยดี ก่อนที่คนตั้งกระทู้ พันทิป.คอม จนภาพยนตร์เริ่มมีทิศทางที่ดี เป็นตัวแทนภาพยนตร์จากประเทศไทย ส่งประกวด รางวัลออสการ์ ครั้งที่ 77 สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ แต่ยังไม่ผ่านการเสนอชื่อเข้าชิง

12. มหา’ลัย เหมืองแร่

มหา’ลัย เหมืองแร่ เภาพยนตร์ไทยระดับงานคุณภาพจากค่าย จีทีเอช (GTH) ออกฉายในปี พ.ศ. 2548 เขียนบทและกำกับโดย จิระ มะลิกุล จากหนังสือรวมเรื่องสั้น ชุด เหมืองแร่ ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้งบประมาณสร้างสูงถึง 70 ล้านบาท แต่ถึงแม้จะล้มเหลวด้านรายได้ ฉาย 10 วันได้รายได้เพียง 19 ล้านบาท แต่ก็สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมถึง 3 สถาบันจากรางวัลสุพรรณหงส์ ชมรมวิจารณ์บันเทิง และคมชัดลึก อวอร์ด ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ให้ไปฉายในสาขา A Window on Asian Cinema เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปี เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ในวันที่ 6-14 ตุลาคม พ.ศ. 2548 และได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 78 สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม

13. อหิงสา จิ๊กโก๋ มีกรรม

อหิงสาจิ๊กโก๋มีกรรม หนังไทยเมื่อปี 2548 นำแสดงโดยนักแสดงจาก แก๊ง Goal Club อย่างโจ๊ก อัครินทร์, แจ๊ค บริวัตร, อ๊อฟ ปริญญา และยังมีคนอื่นๆ คือ จอนนี่ อันวา, แอ๊นท์ ธรัญญา, และปูน กิรเดช หนังหยิบเรื่อง เวรกรรม ความดี ความชั่ว พุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ เนื้อหาเข้มๆ แต่นำมาเล่าในรูปแบบที่ร่วมสมัยให้คนรุ่นใหม่ในตอนนั้นเข้าถึงได้ง่ายในสไตล์ของเรียว กิตติกร ความแปลก แหวกแนวแต่เต็มไปด้วยสาระของหนังเรื่องนี้ทำให้

อหิงสาจิ๊กโก๋มีกรรม เป็นตัวแทนหนังไทยในปีนั้นที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าประกวดเพื่อชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 79 สาขา ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม คัดเลือกโดยคณะกรรมการจากสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ

13. ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ประกาศอิสรภาพ

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 2 ประกาศอิสรภาพ ภาคสองในภาพยนตร์ชุด ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำแสดงโดย พล.ต.วันชนะ สวัสดี, นพชัย ชัยนาม, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์, นภัสกร มิตรเอม, อินทิรา เจริญปุระ, พ.ต.คมกริช อินทรสุวรรณ, ปราบต์ปฎล สุวรรณบาง, พล.ต.วินธัย สุวารี, สรพงษ์ ชาตรี เขียนบทภาพยนตร์และกำกับการแสดงโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

เป็นผลงานที่สร้างสถิติรายได้กว่า 230 ล้านบาท และได้รับเลือกจากสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ โดยการลงมติเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการเลือกตั้ง 6 คนที่สมาคมฯจัดตั้งขึ้นมาเห็นชอบให้ผลงานชิ้นนี้เป็นตัวแทนของประเทศในการส่งเข้าประกวดรางวัลออสการ์ หรือ อคาเดมี อวอร์ด สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ครั้งที่ 80

14. รักแห่งสยาม

รักแห่งสยาม เป็นภาพยนตร์ไทยแนวดราม่าโรแมนติก ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2550 กำกับโดย ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล นำแสดงโดย สินจัย เปล่งพานิช, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี, มาริโอ้ เมาเร่อ, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล, จิรายุ ละอองมณี และ นรินทร์โชติ วชิรธรนิยมกุล มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก และการค้นหาตัวตน ผ่านมุมมองของเด็กชายสองคน โดยมีสยามสแควร์เป็นสถานที่เชื่อมโยงเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งการถ่ายทำเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากสยามสแควร์เป็นสถานที่ซึ่งมีผู้คนพลุกพล่านเป็นอุปสรรคต่อการถ่ายทำ

รักแห่งสยาม สามารถคว้ารางวัลใหญ่ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก 5 สถาบันหลักคือ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์, รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง, สตาร์พิกส์อวอร์ด, คมชัดลึก อวอร์ด และสตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส รวมทั้งรางวัลอื่นอีกมาก และสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติลงมติส่ง รักแห่งสยาม เข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 81 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม มีคู่แข่ง 67 ประเทศ ทางคณะกรรมการให้ความเห็นว่า “หนังมีความลุ่มลึก เล่าเรื่องหลากหลายมิติ และยังตีแผ่ทัศนคติของคนไทยที่ยังไม่เปิดรับพฤติกรรมชายรักชาย”

15. ความจำสั้น แต่รักฉันยาว

ความจำสั้น แต่รักฉันยาว  ภาพยนตร์ไทยแนวโรแมนติก/ดราม่า เข้าฉายเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552 กำกับโดย ยงยุทธ ทองกองทุน โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์สั้นเรื่อง เวลา…รัก โดย ขนิษฐา ขวัญอยู่ ภาพยนตร์ทำรายได้ 49.1 ล้านบาท

ความจำสั้น แต่รักฉันยาว ใช้ชื่อเรื่องในต่างประเทศว่า “Best of Times” นำแสดงโดย เป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ กับ นินา ญารินดา บุนนาค ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 85 ในปี 2553 ประเภทภาพยนตร์ สาขาต่างประเทศ ร่วมกับภาพยนตร์ จากประเทศอื่นรวม 65 เรื่อง 65 ประเทศ

16. ลุงบุญมีระลึกชาติ

ลุงบุญมีระลึกชาติ เป็นภาพยนตร์ไทยนอกกระแส ออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ร่วมอำนวยการสร้าง เขียนบทและกำกับโดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งเป็นผลงานเรื่องที่ 6 ของเขา ภาพยนตร์ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 63 นับเป็นภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้

เรื่องนี้เข้าถูกคัดเลือกเสนอชื่อชิงรางวัลสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ ในเวทีออสการ์ ครั้งที่ 83

17. คนโขน

คนโขน ภาพยนตร์ไทย ปี 2554 กำกับโดย ศรัณยู วงศ์กระจ่างเป็นเรื่องราวความรักสามเส้าระหว่าง นักเต้น โขน คู่แข่งสามคน เด็กกำพร้าชื่อชาติ ซึ่งถูกเลี้ยงดูโดยเจ้านายหลังจากพ่อแม่ของเขาเสียชีวิต และได้รับการฝึกฝนให้เป็นนักเต้นโขน เขาได้เข้าไปพัวพันกับอาจารย์สอนเต้นรำชื่อรัมไบ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเลือกให้เป็นภาพยนตร์ไทยในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจากประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 84 แต่ไม่ได้เข้ารอบสุดท้าย

18. ฝนตกขึ้นฟ้า

ฝนตกขึ้นฟ้า ภาพยนตร์ลำดับที่แปดโดย เป็นเอก รัตนเรือง กำหนดออกฉายในประเทศไทยในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ดัดแปลงจากหนังสือชื่อเดียวกันของ วินทร์ เลียววาริณ เรื่องราวของมือปืนที่ถูกยิงที่หัวจนประสาทมองเห็นผิดปกติ มองเห็นภาพรอบตัวกลับหัว เขาพยายามกลับไปเป็นมือปืนอีกครั้ง พยายามค้นหาตัวตนของตนเอง พร้อมกับการมาของหญิงสาวที่ทำให้ชีวิตของเขายุ่งเหยิงขึ้นไปอีก

เป็นอีกหนึ่งผลงานของผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง ได้รับเลือกให้เป็นภาพยนตร์ไทยในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศในงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 85 แต่ไม่ได้เข้ารอบสุดท้าย

19. เคาท์ดาวน์

เคานต์ดาวน์ (Countdown) เป็นภาพยนตร์ไทยแนวระทึกขวัญ ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2555 เขียนบทและกำกับโดย นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผลิตโดยจอกว้างฟิล์ม และจัดจำหน่ายโดยจีทีเอช ว่าด้วยเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการจัดปาร์ตี้ในวันส่งท้ายปี และได้พบกับชายคนหนึ่งที่จะทำให้พวกเขาจำคืนนี้ไปจนวันตาย ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดย พชร จิราธิวัฒน์ ภัทรศยา เครือสุวรรณศิริ และ จรินทร์พร จุนเกียรติ ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยไปประกวดรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ครั้งที่ 86 ประจำปี 2014 แต่ไม่ได้เข้ารอบสุดท้าย

20. คิดถึงวิทยา

คิดถึงวิทยา เป็นภาพยนตร์ไทยแนวดราม่าโรแมนติก ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2557 กำกับโดย นิธิวัฒน์ ธราธร นำแสดงโดย สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว และ เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ภาพยนตร์นี้ทำรายได้ 101 ล้านบาท สืบเนื่องจากกระแสความนิยมของภาพยนตร์เรื่องคิดถึงวิทยา ทำให้ค่ายภาพยนตร์ Salman Khan Films และ Cine1 Studios ของประเทศอินเดีย ได้ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์จากทาง จีดีเอช ห้าห้าเก้า เพื่อนำบทภาพยนตร์ไปทำใหม่เป็นภาพยนตร์บอลลีวูดในชื่อเรื่อง Notebook

คิดถึงวิทยา เป็นตัวแทนหนังไทย เข้าประกวดรางวัลออสการ์ครั้งที่ 87 ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม แต่ไม่ได้เข้ารอบสุดท้าย

21. พี่ชาย

พี่ชาย My Hero (อังกฤษ: How To Win At Checkers (Every Time)) เป็นภาพยนตร์ไทย กำกับโดยผู้กำกับชาวเกาหลี-อเมริกัน จอช คิม นำแสดงโดย ถิร ชุติกุล, อิงครัต ดำรงค์ศักดิ์กุล, จิณณะ นวรัตน์ และ โทนี่ รากแก่น ภายใต้การควบคุมการผลิตของ อิเล็คทริค อีลล์ ฟิล์ม เป็นภาพยนตร์แนวชีวิต ประเภทการเปลี่ยนผ่านของวัย (coming of age) มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ของพี่ชายที่เป็นเกย์ กับน้องชายที่เป็นชายแท้ และการเกณฑ์ทหารในประเทศไทย และประเด็นเรื่องความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การขายบริการทางเพศของชายรักชาย พิษร้ายแรงของยาเสพติด ความรักต้องร่วมฝ่าฟันของชาวเกย์ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจน-คนรวย

ดัดแปลงมาจากหนังสือ Sightseeing เรื่องสั้น “Draft Day” คือเรื่องของการจับใบดำ-ใบแดง และ “At the Cafe Lovely” โดย รัฐวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์ ออกฉายรอบปฐมทัศน์เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ในโปรแกรมพาโนรามา Berlin International Film Festival 2015 (Panorama) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ไปคว้ารางวัล เบสต์อินเตอร์เนชันแนลฟีจเจอร์ Best International Feature ออเดียนอะวอร์ด ในเทศกาลฟิล์มเอาต์ซานดิเอโก

เป็นตัวแทนหนังไทย เพื่อไปชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 88 ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม และออกฉายในประเทศไทย 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

22. อาปัติ

อาปัติ หรือชื่อเดิม อาบัติ เป็นภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญ ที่มีดราม่าเรื่องชื่อตั้งแต่ช่วงเข้าฉาย เขียนบทและกำกับโดย ขนิษฐา ขวัญอยู่ ผลิตโดยบาแรมยู และจัดจำหน่ายโดยสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558 นอกจากนี้อาปัติยังได้รับการคัดเลือกในฐานะภาพยนตร์ของประเทศไทยให้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 89 แต่ไม่ผ่านการคัดเลือก

23. ดาวคะนอง

ภาพยนตร์ เล่าเรื่องภาวะที่เกี่ยวข้องกันอย่างหลวม ๆ ระหว่างตัวละครหลากหลายกลุ่ม ได้แก่ ผู้กำกับภาพยนตร์หญิงและผู้เป็นแรงบันดาลใจของเธอ ซึ่งเคยเป็นอดีตนักศึกษา นักกิจกรรมในทศวรรษ 2510, บริกรสาวผู้เปลี่ยนงานอยู่เป็นประจำ และนักแสดงชาย หญิงคู่หนึ่ง เป็นภาพยนตร์ไทย กำกับโดยอโนชา สุวิชากรพงศ์ นำแสดงโดยวิศรา วิจิตรวาทการ, อารักษ์ อมรศุภศิริ, อภิญญา สกุลเจริญสุข, เพ็ญพักตร์ ศิริกุล, รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อัจฉรา สุวรรณ์ เริ่มฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่โลการ์โน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ดาวคะนอง ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 26 มากที่สุด และได้รับรางวัลในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ลำดับภาพยอดเยี่ยมอีกทั้งยังเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมครั้งที่ 90

24. มะลิลา

มะลิลา เป็นภาพยนตร์ไทยอิสระแนวโรแมนติก-ดราม่า ร่วมเขียนบทและกำกับโดย อนุชา บุญยวรรธนะ นำแสดงโดยศุกลวัฒน์ คณารศ และอนุชิต สพันธุ์พงษ์ กำหนดออกฉายในโรงภาพยนตร์อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศ อาทิ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน 2017 เป็นต้น

ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้เป็นหนึ่งในหนังไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม และได้รับเลือกให้ไปนำเสนอเพื่อหาผู้ร่วมทุนสร้างในงาน THAI FILM PITCHING PROJECT ที่จัดขึ้นในเทศกาลหนังเมืองคานส์ และถูกเสนอชื่อให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ของประเทศไทย เพื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 91 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม

25. แสงกระสือ

เป็นภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญเหนือธรรมชาติปี 2562 กำกับโดย สิทธิศิริ มงคลศิริ ได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยให้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยมจากงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 92 แต่ไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง นำเสนอเรื่องราวรักสามเศร้าในยุค 2480 ที่นำเสนอเรื่องราวตำนานผีกระสือ ที่อยู่คู่ตำนานพื้นบ้านไทยมาตีความใหม่

27. ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ

ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไร..ไม่ให้เหลือเธอ ภาพยนตร์ไทยแนวโรแมนติก-ดราม่า ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2562 เขียนบท อำนวยการสร้าง และกำกับโดยนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ นำแสดงโดยชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง, ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์, ษริกา สารทศิลป์ศุภา, อาภาศิริ จันทรัศมี, ถิรวัฒน์ โงสว่าง และพัดชา กิจชัยเจริญ ผลิตโดยเวรี่ แซด พิคเจอร์ส และแฮปปี้ เอนดิ้ง ฟิล์ม จัดจำหน่ายโดยจีดีเอช ห้าห้าเก้า

เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ จีน (ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) ที่ต้องการเคลียร์บ้านเพื่อรีโนเวต แต่ก็มาเจอบางอย่างที่เป็นของเอ็ม แฟนเก่าของเธอ (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) โดยทำรายได้ 57 ล้านบาท และส่งชื่อเช้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 93 ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม

28. ร่างทรง

ร่างทรง (The Medium) ภาพยนตร์ไทยแนวระทึกขวัญ–สยองขวัญ ร่วมทุนผลิตโดยจีดีเอช จากประเทศไทย และ โชว์บอกซ์ จากประเทศเกาหลีใต้ กำกับโดย บรรจง ปิสัญธนะกูล และอำนวยการสร้างโดย นา ฮง-จิน เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติพูช็อน ครั้งที่ 25

ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best of Bucheon) ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติพูช็อน ครั้งที่ 25 พร้อมทั้งเป็นภาพยนตร์ทำเงินลำดับที่ 15 ของบอกซ์ออฟฟิศเกาหลีใต้ประจำปี พ.ศ. 2564 ด้วยยอดรายได้ 7.35 ล้านเหรียญสหรัฐ และยอดผู้ชม 831,126 คน นอกจากนี้สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติได้เสนอชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวแทนจากประเทศไทย เข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 94 สาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยมแต่ไม่ได้ถูกรับเลือกให้เข้าชิง โดยกำลังพัฒนาภาคต่อของอย่าง“MINK” (มิ้ง) อยู่ในขณะนี้

29. วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ

วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ (One for the Road) ภาพยนตร์แนวดราม่าที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2565 ได้ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ กำกับและอำนวยการสร้างโดย หว่อง ก๊า ไหว่ นำแสดงโดย ธนภพ ลีรัตนขจร และ ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ ว่าด้วยเรื่องของเพื่อนสนิทที่ไม่ได้เจอกันนานและตัดสินใจออกเดินทางด้วยรถยนต์ด้วยกันเพื่อตามหาเพื่อนเก่าเพื่อคืนของสำคัญและบอกลากันก่อนจากไป

ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ 2021 เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564 และได้รับรางวัล World Dramatic Special Jury Award และได้รับคัดเลือกจากสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 95 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ

30. เพื่อน(ไม่)สนิท

เพื่อน(ไม่)สนิท (อังกฤษ: Not Friends) เป็นภาพยนตร์แนวตลกดราม่าเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวของวัยรุ่น ความฝัน และหนังสั้นสร้างโดย เฮาส์ตันฟิล์มแบงค็อก จัดจำหน่ายโดย จีดีเอช ห้าห้าเก้า กำกับภาพยนตร์โดย อัตตา เหมวดี อำนวยการสร้างโดยวรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ และนัฐวุฒิ พูนพิริยะ จากภาพยนตร์ฉลาดเกมส์โกง นำแสดงโดย อันโทนี่ บุยเซอเรท์, พิสิฐพล เอกพงศ์พิสิฐ, ธิติยา จิระพรศิลป์, ธนกร ติยานนท์ และ ณัฐทิชา จันทรวารีเลขา เข้าฉายวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เพื่อน(ไม่)สนิท ยังได้รับเลือกจากสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติเป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 96 ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม

31. หลานม่า

หลานม่า  How to Make Millions Before Grandma Dies; LAHN MAH, The Chinese Family) ภาพยนตร์ไทยแนวดรามาที่ออกฉายใน พ.ศ. 2567 สร้างโดยจอกว้างฟิล์ม จัดจำหน่ายโดยจีดีเอช กำกับภาพยนตร์โดย พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์

รื่องราวที่มีเค้าแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงในครอบครัวสังคมไทยผ่านตัวละครของ เอ็ม (พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) ที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ กลับมาใช้ชีวิตร่วมกับ อาม่าเหม้งจู (อุษา เสมคำ) ผู้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของครอบครัว เบื้องหน้าที่ดูเหมือนหลานมาดูแลอาม่าในบั้นปลายชีวิต แต่แท้จริงแล้วเอ็มมีจุดประสงค์บางอย่างซ่อนอยู่ หลังได้รู้ว่า มุ่ย (ต้นตะวัน ตันติเวชกุล) ได้รับมรดกก้อนใหญ่เป็นบ้านราคาสิบล้านบาทจากอากง เอ็มจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อให้อาม่าไว้ใจ แต่กำแพงที่อาม่าตั้งไว้ ทำให้เอ็มได้เริ่มเรียนรู้การใช้ชีวิตไปทีละน้อย จนอะไรบางอย่างถูกอาม่าเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

เป็นผลงานภาพยนตร์ไทยเรื่องล่าสุดที่สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เลือกเป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 97 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

somkiar

นักเขียนสายรีวิว ดีกรีแอดมินเพจ ชอบเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร เนิร์ดหนังและซีรีส์ตัวพ่อ เอนจอยการถ่ายรูปและงานนิทรรศการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button