ข่าว

ระเบียบ ศธ. การพานักเรียนไป ‘ทัศนศึกษา’ นอกโรงเรียน ย้ำให้ตรวจสภาพยานพาหนะ

เปิดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ “การพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา” ย้ำชัด ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก และจำเป็นต้องตรวจสอบยานพาหนะให้ดี

นับเป็นอีกเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นกับวงการการศึกษาไทย สำหรับกรณีรถบัสทัศนศึกษาของเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เกิดเหตุเพลิงไหม้อย่างรุนแรง เมื่อช่วงเที่ยวของวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งครูและนักเรียนรวม 23 ศพ

Advertisements

หลังเกิดเหตุนี้ขึ้น ประชาชนจำนวนมากต่างร่วมแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงความประมาทเลิ่นเล่อของโชเฟอร์คันดังกล่าว รวมถึงต่อว่าไปยังบริษัททัวร์ที่ได้ละเลยความปลอดภัยจนนำมาสู่โศกนาฏกรรมในครั้งนี้ และในขณะเดียวกันชาวโซเชียลก็กำลังตั้งคำถามว่า “ควรยกเลิกกิจกรรมทัศนศึกษาหรือไม่” เหตุเพราะอุบัติเหตุในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วหลายต่อหลายครั้ง โดยมองว่าการดีที่สุดในการยับยั้งเหตุคือการยกเลิกกิจกรรมนี้

ในทางกลับกันก็ยังคงมีชาวเน็ตอีกไม่น้อยที่คิดว่าการยกเลิกไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาเดียวที่มี เพราะหากพิจารณาจากข้อกฎหมาย และระเบียบเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทัศนศึกษา ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการระบุไว้จะเห็นได้ว่ามีการกำหนดชัดเจนถึงมาตรการการทำกิจกรรม ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยอย่างมาก และเหตุสลดที่เกิดขึ้นเหล่านั้นก็ล้วนเกิดจากการไม่ปฏิบัติระเบียบดังกล่าว

ธนกรฝากถึงคมนาคม ตรวจรถบัส หลังเหตุเพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษา
ภาพจาก : AP

กางข้อกฏหมาย “การพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา”

ในทางกฏหมายมีการประกาศ “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา พ.ศ.2562” และ “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการพานักเรียน และนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563” ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบไว้ ดังนี้

1. ประเภทของการจัดกิจกรรมทัศนศึกษา มี 3 รูปแบบ คือ การพาไปนอกสถานศึกษา (ไม่พักแรม), การพาไปนอกสถานศึกษา (พักแรม) และ การพาไปนอกราชอาณาจักร

“การพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา ให้เป็นไปตามความสมัครใจของนักเรียนและนักศึกษา โดยความยินยอมของผู้ปกครอง”

Advertisements

2. บุคคลที่มีอำนาจอนุญาตการจัดกิจกรรมทัศนศึกษา แบ่งตามแต่ละประเภทดังนี้

กรณีสถานศึกษาของรัฐ

  • การพาไปนอกสถานศึกษา (ไม่พักแรม) ให้เป็นอำนาจของหัวหน้าสถานศึกษา ซึ่งหมายถึง ผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ในลักษณะเดียวกันทั้งของรัฐและเอกชน ที่มีอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา
  • การพาไปนอกสถานศึกษา (พักแรม) ให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้มีอำนาจเหนือสถานศึกษาขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง หรือผู้ได้รับมอบหมายแล้วแต่กรณี
  • การพาไปนอกราชอาณาจักร ให้เป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้ได้รับมอบหมาย

“สถานศึกษาส่งคำขออนุญาต พร้อมโครงการที่จะพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษาต่อผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 15 วัน หากไม่สามารถยื่นคำขอได้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นด้วย เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงออกเดินทางได้”

สำหรับศึกษาเอกสารประกอบการยื่นคำขออนุญาตต้องประกอบด้วย ชื่อโครงการ หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ขั้นตอนการดำเนินงาน ระยะเวลาและสถานที่ดำเนินการ กิจกรรม รายชื่อหน่วยงานและผู้รับผิดชอบโครงการ รายชื่อผู้ควบคุมและผู้ช่วยผู้ควบคุมในการเดินทาง รายชื่อนักเรียน และ นักศึกษาที่จะเดินทางไปนอกสถานศึกษา

แผนที่สังเขปแสดงเส้นทางการเดินทาง แผนที่ แสดงตั้ง ของสถานศึกษาที่ที่ไปนอกสถานศึกษาหรือสถานที่พักแรม เอกสารการตรวจสภาพรถ เอกสารใบขับขี่ และใบรับรองแพทย์พนักงานขับรถ และกรมธรรม์ประกันภัยหมู่ของสถานศึกษา เพื่อการตรวจสอบและ ติดตามผลการดำเนินงาน ทุกระยะและแผนสำรองกรณีเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

กรณีสถานศึกษาของเอกชน (ประเภทโรงเรียนในระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน)

  • หัวหน้าสถานศึกษา เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตการพาไปนอกสถานศึกษา (ไม่พักแรม)
  • ผู้รับใบอนุญาต เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตการพาไปนอกสถานศึกษา (พักแรม)
  • ผู้รับใบอนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารโรงเรียน เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตการพาไปนอกราชอาณาจักร

“ให้สถานศึกษาเอกชนประเภทโรงเรียนในระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน รายงานการพิจารณาอนุญาตต่อผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ”

ในกรณีที่ผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเห็นว่า การพิจารณาอนุญาตอาจมีภยันตรายหรือเหตุการณ์อันกระทบต่อสวัสดิภาพของนักเรียนหรือการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียน หรือสถานที่ที่จะเดินทางไปนอกสถานศึกษาหรือสถานที่พักแรมมีสภาพขัดต่อสุขลักษณะหรืออนามัย หรือมีเหตุอื่นอันอาจเป็นภยันตรายต่อนักเรียน ให้ผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนมีอำนาจสั่งให้ระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการพิจารณาอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร

3. การพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษาทุกประเภท มีข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินทางและการพักแรมเป็นอันดับแรก
  • ต้องได้รับอนุญาตก่อน
  • ให้หัวหน้าสถานศึกษาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานศึกษา จำนวน 1 คนเป็นผู้ควบคุม และจะต้องมีครูหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานศึกษา จำนวน 1 คน ต่อนักเรียนไม่เกิน 30 คน เป็นผู้ช่วยผู้ควบคุม ทั้งนี้ กรณีที่มีนักเรียนและนักศึกษาเป็นหญิงไปด้วย ให้มีครูสตรีควบคุมไปด้วยตามความเหมาะสม
  • ให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้พิจารณาเลือกเส้นทางที่จะเดินทาง ยานพาหนะที่จะใช้ในการเดินทางซึ่งต้องอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงพนักงานขับรถหรือควบคุมยานพาหนะที่มีความรู้ความชำนาญด้วย
  • ในการเดินทาง ให้พิจารณาขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคำแนะนำหรือขอความร่วมมืออื่นๆ เท่าที่จำเป็น รวมถึงจัดให้มีป้ายข้อความที่ระบุโครงการ กิจกรรม และสถานศึกษา แสดงให้เห็นเด่นชัดติดที่ด้านข้างรถ และมีหมายเลขกำกับติดที่ด้านหน้าและด้านหลังรถในตำแหน่งที่เห็นชัดเจน ทั้งนี้ กรณีการพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษาโดยใช้รถโดยสารไม่ต่ำกว่า 40 ที่นั่ง จำนวน 3 คัน ขึ้นไป ควรจัดให้มีรถนำขบวน สำหรับการใช้รถโดยสารต่ำกว่า 40 ที่นั่ง จำนวน 3 คันขึ้นไป ให้หัวหน้าสถานศึกษาพิจารณาตามความเหมาะสม
  • จัดให้มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นประจำรถหรือยานพาหนะ และดูแลนักเรียนและนักศึกษาที่มีโรคประจำตัวเป็นพิเศษ
  • เพื่อการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของนักเรียนและนักศึกษาในการพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา ให้สถานศึกษาจัดให้มีการประกันภัยการเดินทางแก่นักเรียนและนักศึกษา เว้นแต่สถานศึกษาได้จัดให้มีการประกันภัยที่คุ้มครองกรณีดังกล่าวแก่นักเรียนและนักศึกษาอยู่ก่อนแล้ว

4. หน้าที่ของผู้ควบคุม (หัวหน้าสถานศึกษาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานศึกษา) และผู้ช่วยควบคุม (ครูหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานศึกษา) ในการพานักเรียน-นักศึกษาไปทัศนศึกษา

  • ดำเนินการให้นักเรียนและนักศึกษาอยู่ในระเบียบวินัยเพื่อให้การเดินทางเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย
  • ไม่เสพสุรา สิ่งเสพติด ของมึนเมาหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และเล่นการพนันทุกชนิด
  • จัดให้มีช่องทางหรือระบบการติดต่อสื่อสารและหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการประสานงานทุกระยะ
  • ดูแลนักเรียนและนักศึกษาให้ได้รับความปลอดภัยตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการเดินทาง และในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจะต้องให้ความช่วยเหลือ
  • เมื่อปรากฏว่ามีกรณีเกิดอุบัติเหตุที่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของนักเรียนและนักศึกษา ให้ผู้ควบคุมและผู้ช่วยผู้ควบคุมดูแลนักเรียนและนักศึกษาดำเนินการรายงานต่อหัวหน้าสถานศึกษาทราบโดยเร็ว และเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปให้รายงานเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนั้น “ผู้ควบคุมและผู้ช่วยผู้ควบคุมต้องกำกับดูแลพนักงานขับรถหรือควบคุมยานพาหนะ” ให้ปฏิบัติดังนี้

  • ควบคุมยานพาหนะให้เป็นไปตามลำดับหมายเลข ตามเส้นทางที่กำหนดในแผนการเดินทาง ทั้งนี้ การใช้ความเร็วของรถหรือยานพาหนะให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยจราจรอย่างเคร่งครัด
  • ตรวจสอบสภาพรถหรือยานพาหนะและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดี และพร้อมที่จะใช้การได้ตลอดเวลา
  • ขับรถหรือควบคุมยานพาหนะด้วยความระมัดระวัง ไม่ขับรถหรือควบคุมยานพาหนะในลักษณะประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
  • ไม่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถหรือควบคุมยานพาหนะ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยพนักงานขับรถหรือควบคุมยานพาหนะไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น
  • ไม่ขับรถหรือควบคุมยานพาหนะในขณะที่มีอาการมึนเมาหรือเสพสุราหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทระหว่างการขับรถหรือควบคุมยานพาหนะ

สำหรับ “การพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา (พักแรม)” ให้ผู้ควบคุมปฏิบัติ ดังนี้

  • เมื่อเดินทางถึงสถานที่จัดกิจกรรมต้องจัดให้มีการปฐมนิเทศ เพื่อแจ้งกฎระเบียบข้อปฏิบัติในการใช้สถานที่ และการปฏิบัติตนขณะอยู่ในบริเวณที่จัดกิจกรรมและที่พักแรม
  • จัดสถานที่พักแยกชาย – หญิง ให้เป็นส่วนสัด
  • จัดให้มีระบบดูแลรักษาความปลอดภัยตลอดช่วงเวลาจัดกิจกรรม
  • จัดเจ้าหน้าที่หรือบุคคลผู้มีความรู้ในการด้านการรักษาพยาบาลเพื่อดูแลนักเรียนนักศึกษาระหว่างกระทำกิจกรรม รวมทั้งจัดรถรับ – ส่ง กรณีมีเหตุฉุกเฉิน ทั้งนี้ กรณีมีเหตุฉุกเฉิน ให้รีบรายงานด้วยวาจาต่อผู้อนุญาตโดยด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปให้รายงานเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งหนึ่งโดยเร็ว

5. เมื่อกลับจากการพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษาแล้วให้รายงานให้ผู้อนุญาตทราบ

รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้
ภาพจาก : AP

อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 2 ตุลาคม 2567 เบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้ แจ้งข้อกล่าวหากับ ‘นายสมาน’ โชเฟอร์รถบัสคันดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 5 ข้อหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 43 (4) ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน, พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 157 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 43 (4)

พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 78 ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล และไม่หยุดรถให้การช่วยเหลือ และ พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 160 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 จนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button