รู้จัก “ยิบอินซอย” ยักษ์ใหญ่ ผู้เทคโอเวอร์ “โรบินฮู้ด” เป็นใครมาจากไหน?
เปิดประวัติ “ยิบอินซอย” บริษัทกลุ่มธุรกิจตัวท็อปแห่งประเทศไทย เจ้าของใหม่ของแอปเดลิเวอรี “โรบินฮู้ด” เทคโอเวอร์ต่อจาก SCBX
หากใครติดตามข่าวธุรกิจ คงทราบกันว่ากลุ่มบริษัทชั้นนำ ยิบอินซอย (Yip In Tsoi) ได้ปิดดีลซื้อหุ้นธุรกิจเดลิเวอรี่ โรบินฮู้ด ต่อจาก SCBX จำนวนกว่า 2,000 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย ทว่าในแวดวงคนทั่วไปอาจไม่คุ้นชื่อยิบอินซอยว่าเป็นบริษัทแบบไหน ดำเนินธุรกิจอะไรมาบ้าง ทีมงานไทยเกอร์จึงขอพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักประวัติความเป็นมาขององค์กรยักษ์ใหญ่แห่งนี้กัน
จากธุรกิจเหมืองแร่ดีบุกสู่กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่
กลุ่มยิบอินซอย (Yip In Tsoi) เป็นบริษัทเก่าแก่ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2469 ซึ่งมีธุรกิจแรกเริ่มคือทำเหมืองแร่ดีบุกและค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ ณ อำเภอชุมทางทุ่งสง หาดใหญ่ และปีนัง หลังจากนั้นเริ่มจดทะเบียนด้วยทุน 150,000 บาทในปี 2473 และเปลี่ยนชื่อจาก Yip In Tsoi & Co เป็น Yip In Tsoi & Company Limited ด้วยผู้ถือหุ้น 7 คน ซึ่งมีนายยิบอินซอยเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหลัก จากนั้นย้ายสำนักงานมายังกรุงเทพมหานคร
ต่อมายิบอินซอยเริ่มแตกแขนงแนวทางธุรกิจเป็นการนำเข้าส่งออกผลิตภัณฑ์ระดับโลกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน Texaco, รถบรรทุก Isuzu ผลิตภัณฑ์ 3M ฯลฯ หรือแม้กระทั่งสินค้าระดับท้องถิ่นทั่วอย่างตะเกียง, เครื่องเขียน, กล้องถ่ายรูป และธุรกิจประกันภัย
กระทั่งปี 2489 ยิบอินซอยเริ่มบุกตลาดเกษตรด้วยการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากเยอรมณี ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ตราใบไม้” รวมถึงก่อตั้งบริษัทผลิตสีอุตสาหกรรม ก่อนเข้าสู่ธุรกิจการเงินและธนาคารเพื่อขยับขยายตลาดต่อไป
บุกตลาดเทคโนโลยี-การเงินเต็มสูบ
เวลาล่วงเลย 8 ปีผ่านไป กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่เริ่มเปิดแนวทางใหม่ในวงการธุรกิจเทคโนโลยีด้วยการนำนำเครื่องบวกเลขจักรกลเข้าตลาดไทย (เทคโนโลยีขั้นสูงเวลานั้น) ต่อมานายธวัช ยิบอินซอย ลูกชายรุ่นที่ 2 ได้มาสานต่อธุรกิจเทคโนโลยีดังกล่าวด้วยการพัฒนาและวิจัย เริ่มจัดจำหน่ายคอมพิวเตอร์เมนเฟรม พร้อมปรับปรุงเวอร์ชันคอมพิวเตอร์ Burroughs ให้พิมพ์ภาษาไทยได้ ซึ่งมีลูกค้าในธุรกิจการเงินตัวท็อปอย่างธนาคารกสิกรไทยและหน่วยงานรัฐบาลอีกด้วย
ต่อมาปี 2540 คุณมรกต ยิบอินซอย ทายาทรุ่นที่ 3 และคุณสุภัค ลายเลิศ ได้เข้ามาบริหารกลุ่มธุรกิจด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ประสิทธิภาพสูงเช่น เนทแอป (NetApp) และผลิตภัณฑ์ของ SUN microsystem เข้ามาสร้างตลาดกลุ่มใหม่ๆ ในยุคที่ระบบเปิด (Open system) เพื่อต่อสู้กับวิกฤติการเงินเอเชียในเวลานั้น
ปัจจุบันนอกจากธุรกิจดั้งเดิมข้างต้น บริการหลักของยิบอินซอยคือทำระบบ Total IT Solution ให้กับภาครัฐและเอกชน, เทคโนโลยีการเกษตร และเริ่มขยับขยายไปยังตลาดพลังงานสะอาด นาโนไบโอเทคโนโลยี และดิจิทัลเอไอ ทำให้เติบโตจนเป็นองค์กรใหญ่มีพนักงานถึง 1,900 คน และมีบริษัทในเครือถึง 9 แห่ง ครอบคลุม 4 ธุรกิจหลักภายใต้ศูนย์บริการกว่า 32 แห่งทั่วประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่
- IT Digital Solutions
- High Technology
- Trading & Manufacturing
- Insurance Broker
สาเหตุของการสานต่อ “โรบินฮู้ด”
มรกต ยิบอินซอย เผยข้อมูลการสานต่อธุรกิจส่งอาหาร” โรบินฮู้ด” ต่อจาก SCBX ว่า เดลิเวอรี่เจ้านี้ใส่ใจกับระบบ ECO System ทั้งในไรเดอร์ ลูกค้า และร้านค้าและอยู่เคียงข้างคนไทยมาตลอด เนื่องจากทางธนาคารแบกรับค่าใช้จ่ายส่งฟรีในช่วงแรกเริ่มธุรกิจ ทำให้ทางยิบอินซอยตัดสินใจร่วมกับพันธมิตรจับมือเสนอตัวซื้อและลงทุนเพื่อดูแลต่อไป
ผลประกอบการย้อนหลัง ยิบอินซอย
บริษัท ยิบอินซอย จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2473 พบมีรายชื่อคณะกรรมการ ได้แก่ นายเทียนชัย ลายเลิศ, นายสิทธิ์ อจลากุล, นางมรกต ยิบอินซอย, นายสุภัค ลายเลิศ, นายบดีพล จูตระกูล, นายยุพธัช ยิบอินซอย และนายอภิรักษ์ จูตระกูล ดำเนินธุรกิจประกอบธุรกิจค้าขายคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 220,000,000 บาท โดยมีผลประกอบการย้อนหลังดังนี้
- ปี 2564 รายได้ 5,012,350,463 บาท กำไร 166,339,422 บาท
- ปี 2565 รายได้ 5,107,425,978 บาท กำไร 11,999,302 บาท
- ปี 2566 รายได้ 5,963,583,905 บาท กำไร 129,211,079 บาท
สินทรัพย์รวม 5,240,066,390 บาท หนี้สินรวม 3,862,613,392 บาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- SCBX ขายหุ้น Robinhood ทั้งหมดให้ “ยิบอินซอย” สานฝันฟู้ดเดลิเวอรีไทย
- เศร้า โรบินฮู้ด ปิดกิจการ ไปอีกหนึ่งแอปส่งอาหารคุณภาพ
- SCB ประกาศเลื่อนปิดบริการ โรบินฮู้ด หลังมีคนขอเข้าซื้อกิจการเยอะ