ท่องเที่ยวอีเว้นท์

รู้จักวัน “สารทเดือนสิบ” งานบุญใหญ่กลางปี มีอยู่ทั่วทุกภาคในไทย

วันสารทไทย หรือ “วันสารทเดือนสิบ” ประเพณีสำคัญของคนไทย ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่มีอยู่ทั่วทุกภาค

วันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ ประเพณีทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 หรือวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งในปี 2567 ตรงกับวันที่ 2 ตุลาคมนี้ สำหรับประเพณีสารทเดือนสิบ หลายคนจะรู้จักกันอีกชื่อเทศกาลวัน ชิงเปรต” งานบุญใหญ่ชาวใต้ แต่ความเป็นจริงแล้วประเพณีวันสารทเดือนสิบ มีอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย บทความนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีนี้มาฝากรวมถึงประวัติความเป็นมาและความสำคัญ

Advertisements

ประเพณีสารทเดือนสิบ

ประเพณีนี้จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ โดยมีวัตถุประสงค์คล้ายกับวันสารทจีน ซึ่งจะตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี นอกจากการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ครอบครัวจะได้รวมตัวกันทำบุญในวันสารทไทย ประเพณีนี้ได้รับอิทธิพลจากคติของอินเดีย และเมื่อถูกนำมาใช้ในไทย ก็ได้มีการปรับให้สอดคล้องกับความเชื่อในสังคมเกษตรกรรม โดยเชื่อว่าการทำบุญให้บรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยให้ครอบครัวมีความสุข ฝนฟ้าเป็นไปตามฤดูกาล และผลผลิตอุดมสมบูรณ์ หากไม่เคารพนับถือ ก็อาจได้รับผลตรงข้ามนั่นเอง

โดยในแต่ละภาคจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • ภาคกลาง : วันสารทไทย
  • ภาคใต้ : งานบุญเดือนสิบ, ประเพณีชิงเปรต
  • ภาคอีสาน : งานทำบุญข้าวสาก
  • ภาคเหนือ : งานตานก๋วยสลาก

ภาคกลาง : วันสารทไทย

วันสารทไทย ชาวบ้านจะรวมตัวกันเพื่อทำ “กระยาสารท” ไปใส่บาตร และแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน ในวันสารท ชาวบ้านจะเตรียมอาหารไปทำบุญกรวดน้ำที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศล และฟังธรรมเทศนา บางท้องถิ่นจะทำขนมสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้วก็นำไปบูชาตามไร่นา โดยวางตามกิ่งไม้ต้นไม้ หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ

ขนมประจำวันสารทไทย

1. กระยาสารท ขนมประจำวันสารท มีความเชื่อว่า ถ้าไม่ได้ใส่บาตรขนมกระยาสารทในวันสารทไทยแล้ว ญาติผู้ล่วงลับก็จะไม่ได้ส่วนบุญส่วนกุศลที่กระทำในวันนั้น ขนมกระยาสารทมีส่วนประกอบ คือ ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา และน้ำตาล นำทั้งหมดมากวนเข้าด้วยกัน เมื่อสุกแล้วจึงนำมาปั้นเป็นก้อนกลม หรือจะตัดเป็นแผ่นก็ได้

Advertisements
ภาพจาก : Facebook นางรองบ้านเอ๋ง

2. ข้าวยาคู มีตำนานเล่ามาว่า มีชาวนาพี่น้อง 2 คน คนโตชื่อว่า มหาการ น้องชื่อ จุลการ มีไร่นากว้างใหญ่ ในฤดูที่ข้าวออกรวง คนน้องเห็นว่าควรจะนำข้าวนั้นมาทำอาหารถวายพระพุทธเจ้าผู้ทรงนามว่า วิปัสสี แต่พี่ชายไม่เห็นด้วย เพราะจะต้องเสียข้าวในนาจำนวนไม่น้อย น้องชายจึงแบ่งไร่นาและนำเมล็ดข้าวในสวนไร่นาของตนไปทำอาหารที่เรียกว่า ข้าวยาคู ไปถวายพระวิปัสสี และอธิษฐานขอให้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่งภายหลังจุลการได้เกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ สำหรับข้าวยาคูนี้ จุลการได้ข้าวสาลีที่กำลังท้องฉีกรวงข้าวอ่อนออกมา แล้วต้มในน้ำนมสด เจือด้วยเนยใส น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด

3. ข้าวมธุปายาส คือ ข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนม และน้ำผึ้ง มีตำนานเล่าว่า นางสุชาดา ลูกสาวเศรษฐี ปรุงขึ้นเป็นอาหารไปแก้บน และได้เห็นพระพุทธเจ้า เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นนิโครธ (ต้นไทร) ก็เข้าใจว่า พระองค์เป็นเทพยดา จึงนำอาหารนั้นไปถวาย พระโพธิสัตว์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

3. ข้าวทิพย์ หมายถึง อาหารอันโอชะ ที่มีเครื่องปรุงถึง 108 ชนิด (หากทำแบบโบราณ) แต่โดยหลัก ๆ ก็มี 9 อย่าง คือ น้ำนมข้าว เนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นม ถั่ว งา และข้าวเม่า ซึ่งการกวนแต่ละครั้งก็ต้องประกอบพิธีกรรมหลายอย่าง

ภาพจาก : Facebook คนใต้ใจเต็ม

ภาคใต้ : งานบุญเดือนสิบ, ประเพณีชิงเปรต

ชาวบ้านจะนำอาหารหวานคาว พร้อมขนมเดือนสิบไปทำบุญที่วัด พร้อมทั้งให้พระสงฆ์ได้บังสุกุลอัฐิส่งส่วนบุญส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และใส่บาตรอุทิศส่วนกุศลไปให้ หลังจากนั้น นำเครื่องเซ่นไหว้ตั้งที่ร้านเปรต (สถานที่ตั้งอาหารเป็นร้านสูงพอสมควร) เพื่อให้มากินเครื่องเซ่นไหว้ ต่อมา ชาวบ้านที่มาทำบุญ จะแย่งชิงสิ่งของที่ตั้งไว้ที่ร้านเปรต เพราะมีความเชื่อว่า ใครได้กินของเหลือจากที่เปรตกิน จะเป็นมงคลกับตัวเอง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำสืบต่อกันมานานตั้งแต่บรรพบุรุษเลยทีเดียว

ประเพณีชิงเปรต

ประเพณีจัดหมรับ (อ่านว่า หมับ แปลว่า สำรับ) การยกหมรับ และการชิงเปรต คำว่า จัดหมรับ ได้แก่ การจัดเสบียงอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุ โดยให้พระภิกษุจับสลากแล้วให้ศิษย์เก็บไว้ แล้วนำถวายพระภิกษุเป็นมื้อ ๆ การยกหมรับที่จัดเรียบร้อยแล้วไปวัด พร้อมทั้งภัตตาหารไปถวายพระภิกษุในช่วงเวลาเช้าก่อนเพล จะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โตก็ได้ บางแห่งแต่งตัวเป็นเปรตเข้าร่วมไปในขบวนด้วย

ภาพจาก : Facebook Unseen Tour Thailand

พิธีชิงเปรตหรือตั้งเปรตนั้น เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญ กล่าวคือ เมื่อจัดหมรับ ยกหมรับไปถวายพระภิกษุแล้ว จะเอาอาหารซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไปจัดตั้งไว้ให้เปรต ซึ่งจะขาดไม่ได้ก็คือขนม 5 อย่าง คือ ขนมพอง ,ขนมลา , ขนมกง หรืองบางทีก็ใช้ ขนมไข่ปลา , ขนมดีซำ และขนมบ้า ส่วนอาหารก็จะเป็นอาหารที่ผู้ล่วงลับไปแล้วชอบในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่

สถานที่ตั้งอาหารเป็นร้านสูงพอสมควร เรียกว่า ร้านเปรตหรือหลา (ศาลา) เปรตมีสายสิญจน์วงรอบ โดยให้ปลายสายสิญจน์อีกข้างหนึ่งโยงมาสำหรับพระภิกษุชักบังสุกุล ซึ่งชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ พอเก็บสายสิญจน์แล้ว ก็จะมีการแย่งอาหาร และขนมที่ตั้งเปรตไว้นั้นอย่างสนุกสนาน เรียกว่า ชิงเปรต

ภาคอีสาน : งานทำบุญข้าวสาก

ชาวอีสานถือเอาการถวายสลากภัต หรือบุญข้าวสากนี้เป็นประเพณีสืบต่อกันมา และเมื่อถึงวันทำบุญข้าวสาก นอกจากนำข้าวสากไปถวายพระภิกษุ และวางไว้บริเวณวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ชาวนาจะเอาอาหารไปเลี้ยงนางยักษ์ หรือผีเสื้อนาในบริเวณนาของตนเปลี่ยนเรียกนางยักษ์ว่า “ตาแฮก”

ก่อนจะถึงวันทำบุญ ชาวบ้านจะเตรียมอาหารที่ห่อด้วยใบตอง โดยแบ่งเป็น 2 ห่อ ห่อแรก คือ หมาก พลู และบุหรี่ ห่อที่สอง คือ อาหารคาวหวาน ประกอบด้วย ข้าวเหนียว เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และของหวานคือ กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง แตงโม สับปะรด ฟักทอง พอถึงวันทำบุญข้าวสาก ในช่วงเช้าจะมีการนำอาหารไปถวายพระสงฆ์ก่อนหนึ่งครั้ง

หลังจากนั้นเมื่อถึงเวลา 9-10 โมงเช้า พระสงฆ์จะตีกลอง ญาติโยมจึงนำอาหารมาถวาย โดยการถวายจะใช้วิธีจับสลาก เมื่อชาวบ้านมาพร้อมกันแล้ว ผู้ที่เป็นหัวหน้าจะกล่าวนำคำถวายสลากภัต แล้วนำไปให้พระเณรจับสลาก หากจับได้สลากของใคร ผู้เป็นเจ้าของสำรับกับข้าว และเครื่องปัจจัย ก็จะนำไปประเคนให้พระรูปนั้น ๆ จากนั้นจะเริ่มกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว และชาวบ้านจะนำอาหารไปเลี้ยง ตาแฮก ณ ที่นาของตนด้วย เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก

ภาคเหนือ : งานตานก๋วยสลาก

ภาคเหนือเรียกว่า ประเพณีตานก๋วยสลาก หรือประเพณีทานสลากภัต เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์โดยการจัดเตรียมก๋วย (หรือชะลอมขนาดเล็ก) ที่สานด้วยไม้ไผ่บรรจุอาหารแห้ง อาหารคาวหวาน เครื่องใช้ที่จำเป็น

ก๋วยสลากมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

1. ก๋วยน้อย สำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ทั้งญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหายหรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรัก และมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิต เช่น ช้าง ม้า วัว ควายและสุนัข เป็นต้น หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้า

2. ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดี เป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง

วันสารทไทย เป็นวันที่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศร่วมทำบุญให้แก่บรรพบุรุษหรือผู้ที่ล่วงลับ แม้จะมีชื่อเรียกและพิธีกรรมที่แตกต่างกัน แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน นอกจากนี้ยังเป็นวันที่ได้พบปะญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ มาร่วมทำบุญกันอย่างพร้อมหน้าอีกด้วย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจาก : wikipedia : ประเพณีสารทเดือนสิบ

somkiar

นักเขียนสายรีวิว ดีกรีแอดมินเพจ ชอบเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร เนิร์ดหนังและซีรีส์ตัวพ่อ เอนจอยการถ่ายรูปและงานนิทรรศการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button