เคาะแล้ว เว้นค่าธรรมเนียม ทำบัตรประชาชน-ทะเบียนบ้านใหม่ กรณีสูญหายจากน้ำท่วม
มหาดไทย ออกแนวทางช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ยกเว้นค่าธรรมเนียม 30 วัน ในการทำบัตรประชาชน และเอกสารทะเบียนราษฎรใหม่ สงวนเฉพาะกรณีสูญหายในพื้นที่อุทกภัย
สถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของภาคเหนือได้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ เอกสารสำคัญ อาทิ บัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ก็ชำรุดและสูญหายไปกับมวลน้ำด้วย ซึ่งส่งผลให้อาจเสียสิทธิ หรือถูกสวมสิทธิในการยื่นขอรับเงินช่วยเหลือจากภัยพิบัติ
ล่าสุด (18 กันยายน 2567) กระทรวงมหาดไทย ได้ออกแนวทางช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่บัตรประชาชน เอกสารทะเบียนราษฎรสูญหายในพื้นที่ภัยพิบัติ โดยจะสามารถยื่นขอมีบัตรใหม่โดยไม่ต้องใช้เอกสาร พร้อมยกเว้นค่าเป็นระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่มีประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และในกรณีมีเหตุจำเป็นให้ขยายระยะเวลาได้อีก 15 วัน รวมเป็น 30 วัน
อ้างอิงจากเว็บไซต์ รัฐบาลไทย ได้มีการเปิดเผยว่า น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 67 ได้อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,045.519 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 67 เป็นต้นมา สำหรับพื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือ พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินใน 57 จังหวัด
ขณะนี้ได้มีประชาชนแสดงข้อกังวลว่า กรณีที่เอกสารสำคัญเช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านที่ใช้ประกอบการขอรับเงินช่วยเหลือได้สูญหายไปพร้อมอุทกภัย อาจทำให้เสียสิทธิ หรือถูกสวมสิทธิ
ทางกรมทางปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้เตรียมการ ได้เตรียมการเพื่อช่วยเหลือและลดข้อกังวลต่อกรณีดังกล่าว ออกเป็นแนวทางปฏิบัติ ขั้นตอนการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ในพื้นที่ประสบสาธารณภัย โดยประชาชนที่ประสงค์ยื่นคำขอมีบัตรใหม่ ขอเปลี่ยนบัตร เช่น บัตรหมดอายุ บัตรหาย บัตรชำรุดในสาระสำคัญ สามารถยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขต ศาลาว่าการเมืองพัทยา และสำนักงานเทศบาลที่เปิดให้บริการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน ได้ทุกแห่ง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในการขอมีบัตรใหม่นั้น ผู้ที่เคยจัดทำบัตรด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบประวัติการทำบัตรประจำตัวประชาชนในฐานข้อมูลทะเบียนบัตรว่ามีลายพิมพ์นิ้วมือและภาพใบหน้าถูกต้องตรงกับเจ้าของรายการหรือไม่ เมื่อระบบแจ้งผลการตรวจสอบโดยไม่มีเหตุปฏิเสธการจัดทำบัตรของบุคคลดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้จัดทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ โดยไม่ต้องเรียกเอกสารหลักฐานอื่นใด
หากเป็นกรณีที่ระบบแจ้งผลการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือและภาพใบหน้าไม่ผ่านการเปรียบเทียบ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจเรียกเอกสารหลักฐานหรือสอบสวนเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือแล้วแต่กรณีเพิ่มเติมได้เท่าที่จำเป็น
ในการนี้ ทางกรมการปกครองได้ให้ยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่มีประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรณีมีเหตุจำเป็นให้ขยายระยะเวลาได้อีก 15 วัน รวมเป็น 30 วันได้
พร้อมกันนี้ กรมการปกครองยังได้มีแนวทางช่วยเหลือในส่วนของการขอคัดรับรองเอกสารทะเบียนราษฎร ในพื้นที่ประสบสาธารณภัย ให้สามารถติดต่อขอคัดรับรองรายการทางทะเบียนราษฎร ณ สำนักทะเบียนในเขตพื้นที่ ได้แก่ ทะเบียนคนเกิด, ทะเบียนคนตาย, รายการทะเบียนบ้าน, สำเนาทะเบียนบ้าน, รายการข้อมูลทะเบียนประวัติ, ทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยจะได้รับการยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่มีประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและกรณีมีเหตุจำเป็นให้ขยายระยะเวลาได้อีก 15 วัน รวมเป็น 30 วัน
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่ได้ผ่านความเห็นของ ครม. ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดเตรียมทำความเข้าใจในแนวปฏิบัติเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอลงไปถึงระดับหมู่บ้านเพื่อให้สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือแก่พี่น้องประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในกรอบเวลาที่กำหนด
หลักฐานสำหรับยื่นขอความช่วยเหลือจากภัยพิบัติ
สำหรับเอกสารหลักฐานที่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยต้องมีในการรับการช่วยเหลือ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน และ หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้
1. สำเนาทะเบียนบ้าน กรณีเป็นบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียนบ้าน
2. สัญญาเช่าบ้าน หรือหนังสือรับรองการเช่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีเป็นบ้านเช่า หรือ
3. กรณีเป็นที่อยู่อาศัยอื่น ๆ ให้กำนัน / ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น ร่วมกับผู้นำชุมชน ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงนามรับรองร่วมกันอย่างน้อย 2 ใน 3
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง