สายมูเตรียมตัว แจก 5 พิกัดไหว้พระแม่ลักษมีในวันวาราลักษมีตรงกับวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 เพื่อเสริมสิริมงคลและโชคลาภให้ชีวิตรุ่งเรือง การงานราบรื่นในครึ่งปีหลัง 2567
ใกล้เข้าสู่วันวาราลักษ วรัทตัม วันสำคัญสำหรับการไหว้พระแม่ลักษมีในประเทศไทย ซึ่งพระแม่ลักษมีเป็นเทพีแห่งความมั่งคั่งและโชคลาภที่ชาวไทยนิยมเคารพบูชาอย่างมาก ผู้คนมากมายแสวงหาสถานที่สักการะเพื่อขอพรความเจริญรุ่งเรืองและความสำเร็จเพื่อเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต ในบทความนี้จะพาไปรู้จักกับ 5 สถานที่สำคัญตามรอยมูเตรียมรับพรในวันวาราลักษมี 16 สิงหาคม 2567
1. วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก) กรุงเทพฯ
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือที่รู้จักกันในนาม “วัดแขก” เป็นสถานที่สำคัญสำหรับชาวฮินดูในประเทศไทย ที่นี่มีศาลพระแม่ลักษมี เทวีแห่งโชคลาภ ความมั่งคั่งที่สวยงามและศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ย่านสีลม ผู้คนมักมาขอพรเรื่องโชคลาภและความมั่งคั่ง
สำหรับใครที่อยากจะไปไหว้พระแม่ลักษมีที่วัดแขก สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส (สถานีศาลาแดง) รถโดยสารประจำทาง หรือรถยนต์ส่วนตัว
เวลาทำการ
- วันจันทร์ – พฤหัสบดี เปิด 06.00 – 20.00 น.
- วันศุกร์ เปิด 06.00 – 21.00 น.
- วันเสาร์ – อาทิตย์ เปิด 06.00 – 20.30 น.
แผนที่
สถานที่ตั้งวัดแขก : Google Map
2. ตึกเกษรวิลเลจ (แยกราชประสงค์) กรุงเทพฯ
ตึกเกษรวิลเลจถือเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คยอดฮิตของเหล่าคนดังและสายมูที่นิยมมาขอพรพระแม่ลักษมี โดยเฉพาะในเรื่องของโชคลาภ การงาน และความรัก ใครที่อยากเสริมดวงรับทรัพย์ หรืออยากให้ธุรกิจราบรื่น ต้องห้ามพลาด
เวลาทำการ เปิดทำการทุกวัน เวลา 10.00 – 20.00 น.
แผนที่
สถานที่ตั้งตึกเกษรวิลเลจ : Google Map
3. วัดวิษณุ เขตสาทร กรุงเทพฯ
วัดวิษณุ ถือเป็นวัดฮินดูเก่าแก่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มีบรรยากาศเงียบสงบ เหมาะสำหรับการสวดมนต์และขอพรจากองค์เทพ ภายในวัดมีเทวรูปพระแม่ลักษมีที่สวยงามและศักดิ์สิทธิ์ ให้ทุกท่านได้สักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
เวลาทำการ
เปิดทำการทุกวัน 05.00 – 20.30 น.
แผนที่
สถานที่ตั้งวัดวิษณุ : Google Map
4. วัดเทพมณเฑียร เสาชิงช้า กรุงเทพฯ
วัดเทพมณเฑียร ถือเป็นวัดฮินดูที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดในกรุงเทพฯ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมงดงามตามแบบศิลปะอินเดียใต้ และที่สำคัญคือเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระแม่ลักษมี ที่มีความงดงามและศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง
เวลาทำการ
เปิดทำการทุกวัน 08.00 – 19.30 น.
แผนที่
สถานที่ตั้งวัดเทพมณเฑียร : Google Map
5. วัดไผ่เงินโชตนาราม กรุงเทพฯ
วัดไผ่เงินโชตนาราม ตั้งอยู่ฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในเรื่องของพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ แต่ในช่วงหลังมานี้ วัดไผ่เงินฯ กลายเป็นที่รู้จักในหมู่สายมูมากขึ้นจากความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระแม่ลักษมีที่ว่ากันว่าขอพรแล้วสมหวังดังใจปรารถนา
เวลาทำการ
เปิดทำการทุกวัน 06.00 – 24.00 น.
แผนที่
สถานที่ตั้งวัดไผ่เงินโชตนาราม : Google Map
รู้จัก “วันวาราลักษมี” 16 ส.ค. วันพิเศษสำหรับการบูชาพระแม่ลักษมี
วันวาราลักษมี (Varalakshmi Vratam) เป็นวันสำคัญในศาสนาฮินดูที่อุทิศให้กับการบูชาพระแม่ลักษมี โดยจะตรงกับวันศุกร์ก่อนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ตามปฏิทินฮินดู (ซึ่งมักจะตรงกับเดือนสิงหาคมหรือกันยายนในปฏิทินสากล) โดยครั้งนี้จะตรงกับวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567
ความสำคัญของวันวาราลักษมี
“วาราลักษมี วรัทตัม” ถือเป็นวันมงคลที่ชาวฮินดูเชื่อว่า พระแม่ลักษมี เทวีแห่งความมั่งคั่ง โชคลาภ และความสำเร็จ จะเสด็จลงมาประทานพรให้แก่ผู้ที่บูชาอย่างเต็มที่ ในวันนี้จึงมีพิธีกรรมและการสวดมนต์บูชาพระแม่ลักษมี เพื่อขอพรให้ชีวิตมีความสุข ความเจริญรุ่งเรือง และสมหวังในทุกสิ่งที่ปรารถนา ผู้ศรัทธามักจะทำพิธีพิเศษ เช่น การสวดมนต์ การถวายดอกไม้และอาหาร และการทำทาน
วิธีไหว้พระแม่ลักษมีให้ถูกต้อง
- แต่งกายสุภาพ โดยเฉพาะเสื้อผ้าสีแดงหรือสีทอง ซึ่งเป็นสีมงคลสำหรับพระแม่ลักษมี
- นำดอกบัว ผลไม้ (โดยเฉพาะกล้วย) และธูปเทียนมาถวาย
- สวดมนต์บทสรรเสริญพระแม่ลักษมี เช่น มนต์ “โอม ศรี มหาลักษมีย์ นมะ”
- ทำสมาธิและอธิษฐานขอพรด้วยจิตที่บริสุทธิ์
สิ่งที่ต้องเตรียมไหว้พระแม่ลักษมี
- ดอกบัวสีชมพู ถือเป็นดอกไม้โปรดของพระแม่ลักษมี ควรถวายจำนวน 8 หรือ 16 ดอก
- พวงมาลัย อาจเป็นพวงมาลัยดอกมะลิ หรือพวงมาลัยดอกดาวเรืองก็ได้
- ผลไม้ เลือกผลไม้ที่มีสีเหลืองหรือสีส้ม เช่น กล้วย ส้ม มะม่วง หรือสับปะรด
- ขนมหวาน โดยเฉพาะนมหรือขนมที่มีส่วนผสมของนมและมีสีชมพู
- ธูป ควรเป็นธูปหอมจำนวน 9 ดอก
- เทียน ใช้สำหรับจุดบูชา
ขั้นตอนการไหว้
- จุดธูปและเทียน
- สวดบูชาพระพิฆเนศก่อน เพื่อขจัดอุปสรรค
- สวดบูชาพระแม่ลักษมี (สามารถหาบทสวดได้จากอินเทอร์เน็ต หรือสอบถามจากเจ้าหน้าที่ประจำวัด)
- อธิษฐานขอพรด้วยใจที่ศรัทธาและตั้งมั่น
ข้อควรระวัง
- แต่งกายสุภาพ เรียบร้อย
- งดส่งเสียงดัง
- ควรถวายของที่เป็นมงคล และไม่ควรนำของถวายกลับบ้าน
บทสวดคาถาบูชา พระแม่ลักษมี
บทสวดคาถาบูชา พระแม่ลักษมีที่เป็นที่นิยม ได้แก่ โอม ชยะ ศรี ลักษมี มาตา (3 จบ)
บทสวดบูชาองค์พระแม่ลักษมี (ฉบับเต็ม)
นะโม ตัสสะ ภะคะ วะโต อะ ระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
นะโมเม องค์พระแม่ลักษ์มีผู้ศักดิ์สิทธิ์ ทีเปธูปะผานัง สักการะวันทนัง สุ
ปัพพยันนัง โภชนานัง สปริวารัง อุททังวรัง อาคัจฉันตุ ปริภัณฉันตุ สัพพุทติ หิตา
ยะ สุขายะ สันติ อุเทวานัง เตปีถุมเหอนุรักขันติ อาคัจฉายะ อาคัจฉา หิมานิมามา
“ขอเชิญองค์พระแม่ลักษมี ได้โปรครับเครื่องสังเวย อันพวกข้าพเจ้าได้จัดถวายสักการะแด่ท่าน ขอท่านได้โปรดรับอย่างมีความสุข เมื่อท่านได้เสวยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอได้โปรดกำจัดอุปสรรคทั้งหลาย ราชภัย โจรภัย อัคคีภัยและโรคาภัยต่างๆ รวมทั้งทุกขเวทนาต่างๆ ขออย่าได้แผ้วพาน และในทุกกรณีที่มีปัญหาประการใด ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ชนะ และได้รับผลสำเร็จตามที่ทำข้าพเจ้าปรารถนาทุกประการ”
การไหว้พระแม่ลักษมีในประเทศไทยสามารถทำได้หลายสถานที่ การรู้จักวันวาราลักษมียังช่วยให้ผู้ศรัทธาสามารถวางแผนการบูชาในช่วงเวลาที่พิเศษได้ การไหว้พระแม่ลักษมีด้วยความเคารพและศรัทธาอย่างแท้จริง ไม่เพียงแต่จะนำมาซึ่งความสุขใจ แต่ยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามอีกด้วย ไม่ว่าคุณจะเลือกไปสักการะที่ใด ขอให้ระลึกเสมอว่า การทำความดีและมีจิตใจที่บริสุทธิ์คือหนทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองที่แท้จริง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- วันวาราลักษมี วรัทตัม 2567 เจาะลึกพร 8 ประการ ร่วมพิธีสู่ชีวิตที่สมบูรณ์
- แฟน “กาย นวพล” เผยเคล็ดลับขอพรพระแม่ลักษมี ได้แฟนหล่อ-ลูกนักร้องดัง
- ตำนาน พระอลักษมี เทวีแห่งโชคร้าย แฝดพี่พระลักษมี
ภาพจาก Facebook : วัดไผ่เงินโชตนาราม