ประวัติ ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย รับไม้ต่อเศรษฐา
รู้จักเส้นทางชีวิตกว่าจะมาเป็น ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย หลังนายเศรษฐา ทวีสินต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาสรัฐธรรมนูญ ผิดจริยธรรมรายแรง
ชัยเกษม นิติสิริ มีบทบาททั้งในวงการกฎหมายและการเมือง ด้วยความเชี่ยวชาญในด้านนิติศาสตร์และประสบการณ์ที่ยาวนานในการทำงานในกระบวนการยุติธรรม เขาได้สะสมความรู้และความสามารถจนได้รับการยกย่องและไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในหลายองค์กร
จุดเริ่มต้นเส้นทางการเมืองของ “ชัยเกษม นิติสิริ”
ชัยเกษม เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2491 ปัจจุบันอายุ 76 ปี ได้รับการศึกษาอย่างดีเยี่ยมตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ และมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่น 28 ก่อนที่จะจบการศึกษาปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 และได้รับทุนรัฐบาลและทุนจากมูลนิธิ Starr เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา
หลังจากนั้น เขาได้เริ่มต้นทำงานในสำนักงานอัยการสูงสุด โดยก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจากตำแหน่งอัยการผู้ช่วยจังหวัดสมุทรสาคร อัยการประจำกอง กองคดี และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเรื่อยมากระทั่งเคยดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดภูเก็ต เป็นอธิบดีอัยการฝ่ายคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เป็นอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอัยการสูงสุด เป็นอธิบดีอัยการฝ่ายปรึกษา พ.ศ. 2546 – 2550 ดำรงตำแหน่งรองอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุดและตำแหน่งสูงสุด คือ อัยการสูงสุด ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550
นอกจากนี้ เขายังได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง รวมถึง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
ปี พ.ศ. 2552 ชัยเกษมได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ในสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของชัยเกษมเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2554 เมื่อเขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 326 วัน นับเป็นการเปลี่ยนบทบาทจากผู้บังคับใช้กฎหมายมาสู่ผู้กำหนดนโยบาย
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่วงการการเมืองของชัยเกษมไม่ได้ปราศจากข้อวิพากษ์วิจารณ์ มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเขากับตระกูลชินวัตร โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2557 ชัยเกษมได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย น่าเสียดายที่การเลือกตั้งครั้งนั้นจะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ ช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง ชัยเกษมได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาลในการเจรจาหาทางออกทางการเมือง แต่ไม่สำเร็จ จนเกิดการรัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
บทบาทการเมืองในปัจจุบัน
ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2566 ชัยเกษมได้รับการเสนอชื่อเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายก ร่วมกับ แพทองธาร ชินวัตร และ เศรษฐา ทวีสิน แม้ว่าพรรคเพื่อไทยไม่ชนะการเลือกตั้ง โดยคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 2 แพ้พรรคเพื่อไทย แต่พรรคก็สามารถรวมเสียงตั้งรัฐบาลได้ และเสนอชื่อนายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี
ปัจจุบัน ชัยเกษมดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ต้องรอลุ้นว่าวันที่ 16 สิงหาคม 2567 นี้ ตำแหน่งของชัยเกษมจะเปลี่ยนมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่หรือไม่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง