ข่าว

แค่อ้วน ‘อ.เจษฎา’ แจงปม ปลานิลคางดำ ลูกผสมพันธุ์ ปลาหมอคางดำ

ประชาชนผวา พบ ‘ปลานิลคางดำ’ ลูกผสม ‘ปลาหมอคางดำ’ ด้านอาจารย์เจษฎา ช่วยไขปม แท้จริงไม่ได้กลายพันธุ์ แต่เป็นแค่ปลาหมอคางที่อวบอ้วน

จากกรณีที่มีข่าวคราวออกมาว่า ประชาชนพบ ปลานิลคางดำ หรือลูกผสมระหว่าง ‘ปลาหมอคางดำ’ กับ ‘ปลานิล’ แพร่กระจายในแหล่งน้ำ จนเป็นเหตุให้หลาย ๆ คนผวาหนัก ก่อนจะไปนำไปสู่การร้องให้หน่วยงานเข้ามาตรวจสอบ

ล่าสุด (31 กรกฎาคม 2567) อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ขยายความจริงในประเด็นดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ยืนยันว่า ปลาตัวการที่หลายคนเป็นกังวลอยู่นั้น ไม่ได้เกิดจากการกลายพันธุ์ของปลานิล เป็นปลานิลคางดำแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงปลาหมอคางดำที่กินเยอะจนตัวอวบอ้วนขึ้นเท่านั้น จนอาจดูคล้ายปลานิล ย้ำ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะปลาหมอคางดำสามารถเติบโตได้ถึงเฉลี่ย 8 นิ้ว

ปลาหมอคางดำ ไม่ได้กลายพันธุ์
ภาพจาก: กรมประมง

โพสต์ดังกล่าวระบุข้อความไว้ว่า “มันคือ “ปลาหมอคางดำที่อ้วน” แค่นั้นแหละครับ .. ไม่ใช่ปลานิลที่กลายพันธุ์ เช้าวันนี้มีพาดหัวข่าว กันหลายสำนักข่าวเลย ว่าเจอ “ปลานิลคางดำ” ปลานิลกลายพันธุ์มาจากปลาหมอคางดำ หรือเป็นลูกผสมระหว่างปลานิลกับปลาหมอคางดำ !? ซึ่งผมว่า มันไม่ใช่ปลากลายพันธุ์หรือปลาลูกผสมอะไรหรอกครับ เพราะดูตามในรูป ในคลิปข่าวแล้ว ก็ปลาหมอคางดำนั่นแหละครับ … แค่มันกินจนอ้วนใหญ่ จนคนไม่คุ้นตากัน เพราะคิดว่ามันจะต้องผอมเรียวยาวเท่านั้น

จากข้อมูลของที่แอฟริกา ปลาหมอคางดำนั้น ถ้าเติบโตดี อาหารดี จะยาวเฉลี่ย 8 นิ้วนะครับ และสถิติตัวยาวสุดนี่ ถึงขนาด11 นิ้วเลยครับ (และเป็นปลาอาหารชนิดหนึ่ง ของคนในท้องถิ่นครับ)

การจำแนกความแตกต่างระหว่าง “ปลาหมอคางดำ” ออกจาก “ปลาหมอเทศ” และ “ปลานิล” ให้ดูที่ลักษณะจำเพาะของมัน อย่าดูแต่ความอ้วนผอมครับ

โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระ ด้านความหลากหลายของสัตว์น้ำ เคยโพสต์ข้อมูลไว้ว่า ปลาหมอคางดำ หรือ blackchin tilapia (หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron) จะมีลักษณะเด่นคือ ใต้คาง มักมีแต้มดำ หางเว้าเล็กน้อย และไม่มีลายใดๆ

ในขณะที่ ปลาหมอเทศ หรือ Mozambique tilapia (ชื่อวิทยาศาสตร์ Oreochromis mossambicus) จะมีแก้ม ในตัวผู้มักมีแต้มขาว หางมน มีขอบแดงเสมอ

ส่วนปลานิล หรือ Nile tilapia (ชื่อวิทยาศาสตร์ O. niloticus) จะมีแก้มและตัวสีคล้ายๆ กัน หางมน และมีลายเส้นคล้ำขวางเสมอ

ถ้าพิจารณาดูจากปลาต้องสงสัยในคลิปข่าวแล้ว ก็จะเห็นว่า ไม่ได้มีลักษณะ “ลายเส้นคล้ำขวาง (ตามลำตัว และหาง)” แบบปลานิล ที่จะให้คิดว่าเป็นปลานิลกลายพันธุ์มาคล้ายปลาหมอคางดำ หรือเกิดลูกผสมกัน แต่มีรูปร่างหน้าตาสีสันไปทางเดียวกับปลาหมอคางดำตามปกติ เพียงแต่ตัวอ้วนกว่าเท่านั้นครับ !

ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ปลานิลและปลาหมอเทศนั้น (สกุล Oreochromis) เป็นปลาคนละสกุล กับปลาหมอคางดำ (สกุล Sarotherodon) เลยครับ การที่อยู่ ๆ ในเวลาไม่กี่ปีนี้ มันจะกลายพันธุ์มาคล้ายกันได้นั้น ก็เป็นไปไม่ได้เลย ส่วนการเกิดลูกผสมข้ามสกุล ระหว่างปลานิลกับปลาหมอคางดำนั้น เคยโพสต์อธิบายอย่างละเอียดแล้ว ว่ามีการทดลองทำได้จริงในระดับงานวิจัย แต่ทำลูกผสม F1 สำเร็จได้ในปริมาณที่น้อยมากๆ และไม่มีรายงานว่าเกิดขึ้นในธรรมชาติครับ”

อย่างไรก็ดี ประชาชนคงจะคลายกังวลได้ในเบื้องต้นแล้วว่า การจะเกิดลูกผสมได้นั้นยังไม่เคยเกิดขึ้นในธรรมชาติ อีกทั้งอัตราการเกิดขึ้นจากการดัดแต่งพันธกรรมก็ยังน้อยมากด้วย ดังนั้นปัญหาหลักข้อเดียวที่น่าหวั่นที่สุดในตอนนี้ก็คือ การกำจัดปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ออกไปจากแหล่งน้ำ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button