เปิดสถิติอายุ ‘เหยื่ออาชญากรรมไซเบอร์’ ไม่ใช่กลุ่มคนชรา แต่เป็นวัยทำงาน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดสถิติ ‘เหยื่ออาชญากรรมไซเบอร์’ จำแนกตามช่วงอายุ เหลือเชื่อว่ากลุ่มผู้สูงอายุไม่ใช่ผู้ถูกหลอกมากที่สุด แต่แท้จริงกว่า 2 ใน 3 เป็นวัยทำงาน
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในห้วงวันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 30 มิถุนายน 2567 โดยพบว่า มีจำนวนการแจ้งความผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด 575,507 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 65,715 ล้านบาท เฉลี่ยความเสียหายวันละกว่า 80 ล้านบาท
จากสถิติดังกล่าว เหยื่อส่วนใหญ่ของคดีอาชญากรรมไซเบอร์ ร้อยละ 64 เป็นผู้หญิง และอีกร้อยละ 36 เป็นผู้ชาย ซี่งหากจำแนกออกเป็นช่วงอายุ ส่วนใหญ่เหยื่อมิจฉาชีพจะอยู่ในวัยทำงาน อายุระหว่าง 30 – 44 ปี คิดเป็นอัตราร้อยละ 41.51 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 22 – 29 ปี คิดเป็นร้อยละ 25.33 และกลุ่มอายุ 45 – 59 ปี อัตราร้อยละ 19.62 และสำหรับกลุ่มอายุอื่น ๆ เป็นอัตราดังนี้
- กลุ่มอายุ 11 – 14 ปี : ร้อยละ 0.12
- กลุ่มอายุ 15 – 17 ปี : ร้อยละ 0.78
- กลุ่มอายุ 18 – 21 ปี : ร้อยละ 6.22
- กลุ่มอายุ 22 – 29 ปี : ร้อยละ 25.33
- กลุ่มอายุ 30 – 44 ปี : ร้อยละ 41.51
- กลุ่มอายุ 45 – 59 ปี : ร้อยละ 19.62
- กลุ่มอายุ 60 ปี ขั้นไป : ร้อยละ 6.42
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนพี่น้องประชาชน นอกเหนือจากกลุ่มเด็กและเยาวชน และกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มักจะปรากฏเป็นข่าวว่าตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมไซเบอร์แล้ว เหยื่อของอาชญากรรมไซเบอร์ส่วนใหญ่ที่มีจำนวนสูงที่สุด มักจะเป็นกลุ่มวัยทำงาน ในช่วงอายุตั้งแต่ 22 – 59 ปี จึงจำเป็นจะต้องระมัดระวังตนเอง และคอยติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรูปแบบของการหลอกลวงทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ในขณะเดียวกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการปรับปรุงรูปแบบ และพัฒนาแนวทางในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ในอนาคต โดยจะได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ ที่สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมากต่อไป
สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่เว็บไซต์ thaipoliceonline หรือสายด่วน 1441 เท่านั้น โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ แต่อย่างใด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ดูหน้าไว้ “รวมดาวมิจฉาชีพ” ปลอมเป็นตำรวจ หลอกโอนเงินฉ่ำ ย้ำสีกากีจริง ไม่ทำ 3 ข้อนี้
- เกือบหมดตัว ป้าโดนมิจฉาชีพหลอกเป็นลูก สาวแบงก์หัวไว ช่วยอายัดบัญชีทัน
- ‘แซมมี่ เคาวเวลล์’ เสียท่า ถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอก สูญเงิน 1.2 ล้าน