วิธีแก้อาการ “ไฮเปอร์เวนติเลชัน” ภาวะหายใจเร็ว จากความเครียดสะสม
ทำความรู้จัก “ภาวะหายใจเกิน” หรือ Hyperventilation Syndrome มักเกิดกับคนที่มีความเครียดสะสม เป็นสาเหตุให้ระบบหายใจเสียสมดุล แต่สามารถบรรเทาอาการได้ง่าย ๆ เพียงไม่ตื่นตระหนก และพยายามควบคุมลมหายใจให้กลับมาปกติ
ภาวะหายใจเกิน (Hyperventilation Syndrome) หรือ อาการหายใจเร็วเกินไป คือ ภาวะที่ผู้ป่วยหายใจเร็วและลึกกว่าปกติ อาจมีอาการร่วมกับหอบ ทำให้ความเป็นกรดด่างในระบบหายใจเสียสมดุล นำไปสู่ความผิดปกติของสารเคมีในเลือด ส่งผลให้เส้นเลือดหดตัว ระดับแคลเซียมในร่างกายลดต่ำลง
หากมีอาการดังกล่าวต่อเนื่องสักพัก จะส่งผลให้ร่างกายขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากเกินไป และรับก๊าซออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดมากกว่าปกติ ทำให้มีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น ปวดหัว เหงื่อออก ท้องอืด เรอมากว่าปกติ หากอาการทวีความรุนแรงขึ้น อาจส่งผลต่อทัศนวิสัยในการมองเห็น และทำให้หมดสติชั่วคราวได้
ระยะเวลาของ “ภาวะลมหายใจเกิน”
Hyperventilation มักเป็นภาวะที่เกิดขึ้นต่อเนื่องประมาณ 20-30 นาที โดยสังเกตได้จากอาการ ดังต่อไปนี้
1. หายใจเร็วผิดปกติ รู้สึกหายใจลำบาก จนต้องนั่งลง หรือขยับร่างกายเพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น
2. หัวใจเต้นแรง และเร็วกว่าปกติ หรือเกิดอาการใจสั่น อาจปรากฏร่วมกับอาการหน้ามืดร่วมด้วย
3. มีปัญหาในการทรงตัว หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น จนรู้สึกเบลอ ประคองตนเองไม่ค่อยไหว ควรหาที่นั่งหยุดพัก เพราะภาวะหายใจเกิน อาจทำให้เดสียการทรงตัว หรือวูบหมดสติชั่วคราวได้
4. มีอาการเหน็บชาตามร่างกาย เช่น บริเวณมือ เท้า หรือรอบ ๆ ปาก หากมีอาการร้ายแรงขึ้น อาจทำให้เกิดอาการเกร็ง หรือมือจีบได้
5. หากมีอาการมากขึ้น อาจทำให้รู้สึกแน่นหน้าอกร่วมด้วย
โดยทั่วไปอาการของภาวะหายใจเกิน มักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และไม่มีอันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตาม หากไปพบแพทย์ควรได้รับการซักประวัติอย่างถูกต้อง โดยวินิจฉัยร่วมกับโรคส่วนตัวของผู้ป่วยด้วย เพราะอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับภาวะนี้อาจนำไปสู่อาการที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหอบ และโรคปอด
สาเหตุของภาวะหายใจเกิน
ก่อนที่จะมีอาการ Hyperventilation Syndrome เกิดขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีความเครียด และความวิตกกังวล หรือความกดดันทางจิตใจค่อนข้างมาก บางคนเรียกอาการนี้ว่า โรคหอบอารมณ์
อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มักพบในผู้ป่วยเพศหญิงอายุ 15 – 30 ปี ที่มีความอ่อนไหวทางอารมณ์ และผู้ที่ป่วยเป็นโรคแพนิคจะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนกลุ่มอื่น โดยการเกิดอาการครั้งแรกมักมีสาเหตุจากความเครียดสะสม แต่หากเคยมีอาการแล้ว อาจทำให้เกิดภาวะกายใจเร็วผิดปกติได้ง่ายขึ้น
วิธีดูแลเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการหายใจเร็ว
เมื่อเกิดภาวะหายใจเกิน จนรู้สึกหายใจขัดข้อง สิ่งแรกที่ควรทำคือประคองสติ ไม่ตื่นตระหนก และพยายามควบคุมลมหายใจให้กลับมาเป็นปกติ โดยเริ่มหายใจเข้า-ออกช้า ๆ ทางปาก เมื่อหายใจเข้าให้กลั้นไว้ประมาณ 10 วินาที แล้วค่อยหายใจออก
หากยังหายใจไม่สะดวกให้ใช้ถุง หรืออุ้งมือประคองบริเวณปากเพื่อช่วยหายใจ โดยมีข้อควรระวังสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหายใจ เช่น โรคหืด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่ควรหายใจด้วยถุงกระดาษ ให้ใช้วิธีหายใจ โดยกำหนดลมหายใจไปที่ท้องแทนการใช้หน้าอก
หากใช้ 2 วิธีข้างต้นไม่ีถนัด ให้ลองสลับมาใช้วิธีหายใจผ่านรูจมูก ด้วยการปิดปากขณะหายใจ และปิดรูจมูกข้างหนึ่ง เพื่อสลับหายใจผ่านจมูกทีละข้าง ทำซ้ำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าระบบหายใจจะกลับสู่ปกติ
ทั้งนี้ เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว แต่ยังเกิดภาวะหายใจเกินเกิดขึ้นซ้ำ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา รวมถึงใช้วิธีออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และเกิดอาการได้ยากขึ้น เช่น เดินเร็ว หรือวิ่งเบา ๆ พร้อมหายใจเข้า-ออกผ่านจมูกเป็นหลัก อาจช่วยให้ผู้ป่วยจากภาวะ Hyperventilation มีอาการที่ดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักของ Hyperventilation Syndrome มาจากปัจจัยทางอารมณ์ ทั้งความเครียด ความกดดัน และความรู้สึกวิตกกังวล การรักษาสภาพจิตใจ และฝึกทักษะในการควบคุมอารมณ์ เพื่อให้รู้เท่าทันความเครียดก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยแก้ปัญหาอาการเหล่านี้อย่างถูกต้องได้
หากมีความเครียดมากเกินไป ควรเริ่มจากหาทางออกที่ผู้ป่วยสบายใจ เช่น การทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น หรือผ่อนคลายลง สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถจัดการกับภาวะทางจิตใจของตนเองได้ สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยา เพื่อรับฟังคำแนะนำที่ถูกต้องได้เช่นกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมอเตือน กินกล้วยทุกวัน เสี่ยงหมดสติ หัวใจวายเฉียบพลัน
- เคล็ดลับ Water fasting คืออะไร วิธีอดอาหารเพื่อให้เซลล์กินตัวเอง
- น้ำมะพร้าว ดื่มตอนไหนดีที่สุด สุดยอดเครื่องดื่มที่มีดีกว่าที่หลายคนคิด
อ้างอิง : POBPAD