สรุปดราม่าประท้วง “บังกลาเทศ” โควต้าข้าราชการ ชนวนเหตุนองเลือด
บังกลาเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ ประชาชนชุมนุมประท้วงต่อต้านคำพิพากษาโควตาตำแหน่งข้าราชการ ซึ่งเป็นชนวนเหตุให้เกิดการประท้วงนองเลือดทั่วประเทศ มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 115 คน บาดเจ็บอีกนับพันคน ซึ่งสื่อท้องถิ่นคาดว่ายอดจริงน่าจะเยอะกว่านี้
ยกเลิกโควต้า ชนวนเหตุแห่งความขัดแย้ง
โควตาตำแหน่งข้าราชการนี้มีมาตั้งแต่ปี 1971 โดยสงวนไว้ 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานทั้งหมดสำหรับญาติของทหารผ่านศึกที่ร่วมรบในสงครามประกาศอิสรภาพจากปากีสถาน โควต้านี้ถูกยกเลิกไปในปี 2018 โดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ชีค ฮาสินา แต่ศาลชั้นต้นพิพากษากลับนำกลับมาใช้อีกครั้งเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2024 ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่มองว่าระบบนี้ไม่เป็นธรรม กีดกันโอกาสของคนรุ่นใหม่
การประท้วงเริ่มต้นจากกลุ่มนักศึกษา ก่อนจะขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ยกเลิกระบบโควตาและให้มีการปฏิรูปการจ้างงานภาครัฐอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ทว่ารัฐบาลนายฮาสินา ซึ่งครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2009 ตอบโต้สถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้นด้วยการใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิวและปิดกั้นการสื่อสาร ยิ่งเป็นการสุมไฟให้ผู้ประท้วงเดือดดาล ชุมนุมต่อเนื่อง
มีรายงานการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำลายทรัพย์สินของทางราชการในหลายพื้นที่ มีการวางเพลิงอาคารรัฐบาล ด่านตรวจของตำรวจ ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินของเมืองหลวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอ้างว่าเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ นอกจากนี้ ยังพบรถยนต์ที่ถูกเผาในหลายพื้นที่ของกรุงธากา
แกนนำการประท้วงบางคนถูกจับกุม ขณะที่บางส่วนเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะ การประกาศเคอร์ฟิว ทำให้มีผู้ถูกทางการควบคุมตัวจำนวนมาก ครอบครัวของผู้ถูกจับกุมบางรายอ้างว่า ตำรวจปล่อยตัวเขาไว้บนถนนในกรุงธากาในตอนเที่ยงคืน โดยปิดตาเขาไว้ ขณะที่บางคนจบลงที่โรงพยาบาล เพราะถูกทรมาน “ทั้งทางร่างกายและจิตใจ”
คำตัดสินของศาลฎีกาและท่าทีของรัฐบาล
ล่าสุดเพื่องับเหตุบานปลาย ศาลฎีกาได้พิพากษาตัดสินให้ยกเลิกโควตาตำแหน่งข้าราชการส่วนใหญ่ โดยจะคงไว้เพียง 5% สำหรับญาติทหารผ่านศึก และอีก 2% สำหรับชนกลุ่มน้อยและผู้พิการ นาย อานีซุล ฮักรั ฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมาย แสดงความเห็นด้วยกับคำตัดสินนี้ แต่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย เนื่องจากกลุ่มผู้ประท้วงบางส่วนยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้องอื่นๆ และมีการชุมนุมประท้วงต่อเนื่อง
เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของบังกลาเทศ โดยเฉพาะอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความล้มเหลวกับการรับมือกับสถานการณ์ชุมนุม นอกจากนี้ ยังมีข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลใช้ระบบโควต้าเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง ใช้ตำแหน่งเหล่านี้มอบให้เป็นรางวัลตอบแทนแก่ผู้ให้ผลประโยชน์ แทนที่จะตกเป็นขอลูกหลานของทหารผ่านศึกจริงๆ มีการทุจริตคอร์รัปชันในวงกว้าง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจ
ทั่วโลกยังคงต้องจับอนาคตที่ยังไม่แน่นอน เพราะแม้ศาลฎีกาจะมีคำตัดสินออกมาแล้ว แต่สถานการณ์ในบังกลาเทศยังคงตึงเครียดและไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงง่ายๆ การประท้วงยังคงดำเนินต่อไป และรัฐบาลยังคงเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากจากการปะทะ
กระทรวงการต่างประเทศไทย ระบุว่า ยังไม่มีรายงานคนไทยหรือนักศึกษาไทยได้รับบาดเจ็บจากเหตุประท้วง แต่ร้องขอให้คนไทยในกรุงธากาหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพิจารณางดการเดินทางออกนอกที่พำนักโดยไม่จำเป็นในช่วงนี้ นอกจากนี้ยังขอให้คนไทยที่มีแผนจะเดินทางไปบังกลาเทศพิจารณาเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะสงบ
ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาได้ยกระดับคําแนะนําการเดินทางไปยังบังกลาเทศเป็นระดับสี่ ซึ่งเตือนให้ประชาชนไม่เดินทางไปเยือน เนื่องจาก “ความไม่สงบ” ท่ามกลางการประท้วงอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงการต่างประเทศยังกล่าวอีกว่าอนุญาตให้พนักงานรัฐบาลสหรัฐฯ และสมาชิกในครอบครัวในบังกลาเทศออกเดินทางโดยสมัครใจ