ข่าว

สุดอาลัย “คำปุน ศรีใส” ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตอย่างสงบ สิริอายุ 91 ปี

คำปุน ศรีใส ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2561 สาขาทัศนศิลป์ ประเภทประยุกต์ศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) เสียชีวิตอย่างสงบ สิริอายุ 91 ปี

วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้แจ้งข่าวเศร้าว่า นางคำปุน ศรีใส ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) พุทธศักราช 2561 เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยวัย 91 ปี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

สำหรับพิธีกรรมทางศาสนา จะมีการสวดพระอภิธรรมศพ ณ บ้านคำปุน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 14-23 กรกฎาคม 2567 และจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 เวลา 16.00 น. ณ เมรุชั่วคราว วัดศรีอุบลรัตนาราม จังหวัดอุบลราชธานี

แม่คำปูน นักร้อง เสียชีวิตแล้วอย่างสงบ

นอกจากนี้ ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม นางนวลพรรณ ล่ำซำ ได้มีคำสั่งให้กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมโดยกลุ่มสวัสดิการศิลปินแห่งชาติ

  • มอบเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวของนางคำปุน ศรีใส จำนวน 20,000 บาท
  • มอบค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 150,000 บาท
  • มอบค่าเครื่องเคารพศพ 3,000 บาท

“คำประกาศเกียรติคุณ นางคำปุ่น ศรีใส ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ทอผ้า) พุทธศักราช 2561

นางคำปุ่น ศรีใส ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาและความรักในการทอผ้ามาตั้งแต่เยาว์วัยจากมารดา ซึ่งเป็นช่างทอผ้าที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่น นอกจากนี้ มารดายังได้ปลูกฝังศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา และน้อมนำเอาความสามารถในการทอผ้านี้ไปสร้างสรรค์เป็นสิ่งทอ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา อาทิ ผ้าสบง จีวร สังฆาฏิไหมพื้นบ้าน รัดประคดไหม เครื่องห่ม เครื่องปูลาด อาสนะ และธุงบูชา หล่อหลอมให้นางคำปุ่นเป็นช่างทอผ้าที่งดงามด้วยศรัทธา

สั่งสมประสบการณ์และภูมิปัญญาในการทอผ้ามาถ่ายทอดเป็นแบบอย่างให้แก่คนรุ่นหลัง ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความวิริยะ อุตสาหะ และความตั้งมั่นในการฝ่าฟันอุปสรรค แม้ในช่วงเวลาที่กระแสนิยมในผ้าทอพื้นเมืองได้ลดน้อยลงจนเกือบสูญหายไปพร้อมๆ กับจำนวนกี่ทอผ้า คงเหลือแต่โรงทอคำปุ่นเพียงแห่งเดียวในเมืองอุบลราชธานี ที่ยืนหยัดสืบสานมรดกภูมิปัญญาในการทอผ้ามาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยความรักอย่างลึกซึ้งต่อการทอผ้า นางคำปุ่นจึงสามารถถ่ายทอดความงดงามลงบนผืนผ้าชนิดต่างๆ เช่น ผ้าซิ่นทิว ผ้าซิ่นหมี่ ผ้าซิ่นหมี่คั่น ผ้าซิ่นหมี่ขิดค้ำเผ่า ผ้าซิ่นไหมควบ ผ้าหางกระรอก ผ้าโสร่งไหม และยังได้นำเอาเทคนิคการทอผ้ามัดหมี่แบบสามตะกอและสี่ตะกอมาใช้ทอผ้าเป็นครั้งแรก ถือได้ว่าเป็นเพียงผู้เดียวของจังหวัดอุบลราชธานีที่สามารถทอผ้าปูมหรือสมปักปูม ซึ่งต้องใช้ฝีมือชั้นสูง เพราะผ้านี้มีแบบแผนและลวดลายประณีตซับซ้อน ทั้งยังเพื่อรักษาแบบอย่างของผ้าที่ได้รับถ่ายทอดมา

ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์จึงได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปหัตถกรรม เครื่องถักทอ) ปีพุทธศักราช 2537

นอกจากนี้ยังฟื้นฟูผ้าซิ่นทิวมุกที่เกือบสูญหายไปแล้วให้กลับมาทอขึ้นใหม่ในปีพุทธศักราช 2543 อีกทั้งยังสร้างรายได้แก่ชุมชนในการคิดค้นและออกแบบผ้ากาบบัว กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนผ้าเมืองอุบลราชธานีให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในปีพุทธศักราช 2557 นอกจากจะทุ่มเทชีวิตให้กับการทอผ้าแล้ว นางคำปุ่น ศรีใสได้แสดงออกถึงความภาคภูมิใจ รักและหวงแหนในอัตลักษณ์ของบ้านเกิด

ด้วยการเป็นผู้นำในการแต่งกายของชาวเมืองอุบลฯ ฟื้นฟูการนุ่งซิ่นคั่น ซิ่นลายล่องตีนตวย ผ้าซิ่นหัวจกดาว ผ้าซิ่นทิวมุก ผ้าเบี่ยงขิด และผ้าพื้นเมืองแบบต่างๆ จนเกิดกระแสนิยมผ้าทอเมืองอุบลฯ นับเป็นคุณูปการ ยากจะหาผู้อื่นทัดเทียมได้

นางคำปุ่น ศรีใส จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ทอผ้า) พุทธศักราช 2561″

คำประกาศเกียรติคุณ นางคำปุน ศรีใส 2567

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : คำปุน ศรีใส, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button