ไขปริศนา โครงกระดูกหายไปจากซากเรือไททานิค 100 ปีแห่งความลับ
กว่าหนึ่งศตวรรษแล้วที่เรือไททานิค อัปปางลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก แตผู้คนยังสนใจปริศนา ตำนานลึกลับของเรือที่เคยได้ฉายาไม่มีวันจมจวบจนปัจจุบัน มีการสำรวจซากเรืออยู่บ่อยครั้ง รวมถึงล่าสุด เรือดำน้ำไททัน (Titan) ที่พยายามดำลงไปสำรวจซากเรือเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา จนเกิดโศกนาฏกรรม เซ่น 5 ศพ
หนึ่งในคำถามที่หลายคนสงสัยคือ ทำไมถึงไม่พบโครงกระดูกใด ๆ อยู่ในซากเรือเลย ทั้งที่คาดว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 1,517 คน หลังจากที่เรือไททานิคชนภูเขาน้ำแข็งในปี 1912 หลายชีวิตจมลงไปกับเรือ ไม่น่าจะถูกกระแสน้ำพัดพาไปได้
คำตอบของปริศนานี้อยู่ที่ “ความลึก” ของซากเรือ ไททานิกจมอยู่ลึกถึง 3,800 เมตรใต้ทะเล ที่ความลึกขนาดนี้ สภาพแวดล้อมของทะเลมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับบริเวณผิวน้ำ
โรเบิร์ต บัลลาร์ด นักสำรวจใต้ทะเลลึก ผู้ค้นพบซากเรือไททานิคเป็นคนแรกในปี 1985 อธิบายว่า ณ ความลึกขนาดนี้ น้ำทะเลมีความดันสูงมาก อุณหภูมิต่ำยะเยือก อีกทั้งยังมีความอิ่มตัวของแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของกระดูกต่ำ ทำให้กระดูกถูกละลายไปตามกาลเวลา
ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งมีชีวิตในทะเลได้ย่อยสลายเนื้อเยื่อของผู้เสียชีวิตจนหมด โครงกระดูกที่เหลือก็จะค่อย ๆ สลายไปในน้ำทะเลลึก จนไม่หลงเหลือร่องรอยใด ๆ
อย่างไรก็ตาม ยังมีหลักฐานของผู้โดยสารที่เคยอยู่บนเรือหลงเหลืออยู่ นั่นคือ “รองเท้า” เนื่องจากหนังที่ผ่านการฟอกมีคุณสมบัติทนต่อการกัดกร่อนของน้ำทะเล จึงยังไม่ย่อยสลายหมด หลงเหลือเป็นสิ่งสุดท้ายที่บ่งบอกถึงผู้คนที่เคยอยู่บนเรือในวันแห่งโศกนาฏกรรมนั้น
ย้อนตำนาน “ไททานิค” เรือไม่มีวันจม แต่จมตั้งแต่ออกเดินเรือครั้งแรก
อาร์เอ็มเอส ไททานิค (RMS Titanic) เรือโดยสารสุดหรูที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยในยุคนั้น ถือเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะปล่อยลงน้ำในปี ค.ศ. 1911 ด้วยความยาวกว่า 269 เมตร สูงเท่ากับตึก 11 ชั้น ไททานิคได้รับการขนานนามว่าเป็น “เรือที่ไม่มีวันจม” ด้วยการออกแบบที่แข็งแกร่งและระบบรักษาความปลอดภัยที่ทันสมัยที่สุด
การเดินทางครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ไททานิคออกเดินทางจากเซาแทมป์ตัน ประเทศอังกฤษ มุ่งหน้าสู่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือรวมกว่า 2,200 ชีวิต การเดินทางครั้งนี้เต็มไปด้วยความหรูหรา สิ่งอำนวยความสะดวก ความบันเทิง มีทั้งห้องอาหาร สระว่ายน้ำ ห้องสมุด และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อรองรับลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นคนรวยมีอันจะกิน
ในคืนวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1912 ไททานิคได้ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งกลางมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ แม้ลูกเรือจะพยายามหักหลบ แต่ก็ไม่ทันการณ์ น้ำทะเลไหลทะลักเข้าท่วมตัวเรืออย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เรือแตกออกเป็นสองท่อน แล้วจมลงสู่ก้นมหาสมุทรในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง 40 นาที
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้โศกนาฏกรรมสูญเสียคนจำนวนมาก เพราะเรือชูชีพมีไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด ลูกเรือไม่เคยฝึกซ้อมอพยพหนีภัยมาก่อน เมื่อเกิดเหตุภัยภิบัติจริง จึงความโกลาหลวุ่นวายมาก ผู้โดยสารจำนวนมากไม่รู้ขั้นตอนอพยพ ต้องเผชิญกับความหนาวเย็นของน้ำทะเลและเสียชีวิตในที่สุด
เหตุการณ์เรือไททานิคอับปางถือเป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมทางทะเลครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน มีผู้รอดชีวิตเพียง 705 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กจากชั้นโดยสารสูงสุด
ต่อมามีการกำหนดให้เรือโดยสารทุกชนิดต้องมีเรือชูชีพเพียงพอสำหรับผู้โดยสารทั้งหมด และต้องมีการฝึกซ้อมอพยพหนีภัยอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง International Ice Patrol เพื่อตรวจตราและแจ้งเตือนเกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอยอีก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดภาพ ‘ซากเรือไททานิค’ ปัจจุบัน หลังจมสู่ก้นมหาสมุทร ครบรอบ 111 ปี
- 4 เรื่องบังเอิญ เรือดำน้ำไททัน-ไททานิค หลายอย่างเหมือนกันมาก!
- ไขความจริง ‘เรือไททานิค’ ย้อนประวัติ สาเหตุโศกนาฏกรรม เรือล่มที่โลกจำ