‘มหาดไทย’ สั่งตรวจสอบตู้กดน้ำในโรงเรียนทุกจังหวัด ป้องกันซ้ำรอย
ปลัดกระทรวงมหาดไทย จับมือไฟฟ้านครหลวง สั่งตรวจสอบตู้กดน้ำในโรงเรียนทุกจังหวัด ป้องกันซ้ำรอย หลังนักเรียนถูกไฟดูดเสียชีวิต
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากกรณีปรากฏข่าวเด็กนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งถูกกระแสไฟฟ้าชอร์ต เนื่องจากมีกระแสไฟฟ้ารั่วจากตู้กดน้ำดื่ม จนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครต้องการจะให้เกิด และถือเป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญ ซึ่งภายหลังเกิดเหตุดังกล่าว
กระทรวงมหาดไทยได้เร่งสั่งการด่วนให้ทุกจังหวัดประสานการไฟฟ้านครหลวง (MEA) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันอาชีวะ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมาตรฐานการติดตั้งตู้กดน้ำ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในโรงเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่เด็กนักเรียนในโรงเรียน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์คลิปวิดีโอ ลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก โดยเป็นภาพเหตุการณ์มีนักเรียนชายคนหนึ่งสวมชุดวอร์ม กางเกงดำ เสื้อสีฟ้า ถูกกระแสไฟฟ้าจากตู้ผลิตน้ำดื่มชอร์ตจนกระทั่งเสียชีวิตภายในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งของอำเภอกันตัง จ.ตรัง
โดยระบุข้อความว่า “คลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในงานกีฬาสีโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง เกิดเหตุเพราะคุณครูใช้ให้ไปปิดสวิตช์น้ำ” โดยภาพที่ทางผู้โพสต์นำมาเปิดเผยให้ดูนั้นพบว่าเป็นสายไฟที่มีตะปูตอกเข้าไปกลางสายไฟ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีประชาชนจำนวนมากเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การติดตั้งสายไฟของทีมช่าง ซึ่งการตอกตะปูเช่นนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟฟ้าชอร์ตได้
“จากเหตุการณ์ไฟดูดเด็กนักเรียนเสียชีวิตดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการให้ทุกจังหวัดประสานหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในพื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ จังหวัดนนทบุรี และสมุทรปราการ ดำเนินการออกตรวจสอบระบบไฟตู้น้ำโรงเรียนในเขตพื้นที่การดูแล ให้มีการติดตั้งระบบไฟฟ้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย
รวมถึงการติดตั้งสายดินที่ถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต หรือทรัพย์สินของประชาชน พร้อมได้สั่งการเร่งด่วนให้ทุกจังหวัด ประสานการไฟฟ้านครหลวง (MEA) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ทุกพื้นที่
รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการตรวจสอบตู้น้ำตามโรงเรียนต่างๆ โดยให้ดำเนินการตรวจสอบตู้กดน้ำ รวมถึงการติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าในบริเวณที่เด็กนักเรียน หรือบุคลากรทางการศึกษาใช้ประโยชน์ให้มีมาตรฐานความปลอดภัย” นายสุทธิพงษ์กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในตอนท้ายว่า ตู้กดน้ำเย็นในโรงเรียน เป็นอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานที่ควรติดตั้งเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนทุกคนอย่างเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน ซึ่งสถานที่ตั้งควรอยู่ห่างจากบริเวณที่มีฝุ่นละออง แหล่งระบายน้ำเสีย และแหล่งขยะมูลฝอย
ในส่วนการติดตั้งตู้กดน้ำเย็น ก็ต้องมีมาตรฐานในการติดตั้ง มีความมั่นคงแข็งแรง มีระบบป้องกันภัยจากกระแสไฟฟ้ารั่ว หรือลัดวงจร โดยการติดตั้งสายดินบริเวณพื้นที่ตั้งต้องไม่เป็นที่ที่มีน้ำขัง หรือสกปรก ต้องมีการระบายน้ำที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน และมีการทำความสะอาดบริเวณที่ตั้งของตู้ทำน้ำเย็นเป็นประจำทุกวัน แท็งก์น้ำต้องมีการปกปิด หรือมีฝาปิด เพื่อควบคุมป้องกันการปนเปื้อนจากแมลงและสัตว์พาหะนำโรค
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การตรวจเช็กสภาพอย่างเป็นประจำต่อเนื่อง มีปฏิทินในการตรวจเช็ก จากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ นั่นคือ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และทั้งนี้ หากบุคลากรในโรงเรียนหรือสถานศึกษา สังเกตได้ว่าอาจมีการรั่วของไฟฟ้าขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า ให้มาตรวจสอบทันที โดยมีสายด่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA 1129 หรือสายด่วนการไฟฟ้านครหลวง MEA 1130
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รร.ดังแจงเหตุ ไฟดูดนร. ดับคาตู้กดน้ำ ยืนยันตู้เก่าเตรียมรื้อถอน คาดน้ำรั่วใส่เบรกเกอร์
- สุ่มตรวจ ‘ตู้กดน้ำดื่ม’ ใน รร. อึ้ง เจอ ‘ตะปูตอกกลางสายไฟ’ กฟภ.อุตรดิตถ์ สั่งระงับใช้ชั่วคราว
- วิธีช่วยชีวิต ‘คนถูกไฟดูด’ อ.เจษฎา แนะ “อย่าถีบ” เด็ดขาด เสี่ยงตายเพิ่ม