4 สมาชิกป่วยยกครัว หลังย้ายเข้าบ้านใหม่ หมอชี้ ‘เฟอร์นิเจอร์’ เป็นตัวนำโรค
ระวังเฟอร์นิเจอร์ใหม่ให้ดี ครอบครัวจีน 4 ชีวิต ป่วยหนักด้วยอาการคล้าย ๆ กัน หลังย้ายเข้าบ้านใหม่ได้ไม่นาน หมอพบ ‘สารฟอร์มัลดีไฮด์’ ปนเปื้อนมากับของใช้ในบ้าน แม้ดูไม่มีภัย แต่อันตรายเกินคาด
แค่ย้ายเข้าบ้านใหม่ ก็พังทั้งครอบครัว เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 เว็บไซต์ต่างประเทศ soha รายงานถึงเหตุการณ์อุทาหรณ์ที่เกิดขึ้นกับของครอบครัวนักธุรกิจชาวจีน วัย 52 ปี ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เขาได้ซื้ออพาร์ตเมนต์ ขนาดประมาณ 160 ตารางเมตร หลังจากรีโนเวทใหม่เรียบร้อย สมาชิกครอบครัวทั้ง 4 คน ได้แก่ นักธุรกิจหนุ่ม ภรรยา ลูกสาวคนโต และลูกชายคนเด็ก ก็ได้ย้ายเข้าไปอยู่ในช่วงวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา
เรื่องราวไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น หลังจากย้ายเข้าบ้านใหม่ได้ไม่นาน ลูกสาววัย 8 ขวบก็มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว รู้สึกไม่สบาย ตาแห้ง เจ็บคอ และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย และจากนั้นสมาชิกคนอื่น ๆ ก็มีอาการคล้าย ๆ กัน แต่ที่หนักสุดคือภรรยา เธอมีอาการเสียงหายต่อเนื่องนานถึง 2 สัปดาห์
เมื่อไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ผลการวินิจฉัยของแพทย์ระบุว่า ทุกคนได้รับพิษ ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ด้านนักธุรกิจหนุ่ม ฐานะเจ้าของบ้าน จึงแจ้งเรื่องไปยังบริษัทตกแต่งภายในให้ส่งคนมาตรวจสอบระดับฟอร์มาลดีไฮด์และสารอินทรีย์ระเหยง่ายทั้งหมด ในเฟอร์นิเจอร์ 36 ชิ้นที่ประดับในบ้าน
ผลปรากฏว่า มีเฟอร์นิเจอร์เพียง 5 ชิ้นเท่านั้นที่ได้มาตรฐาน โดยอีก 31 ชิ้นปะปนไปด้วยสารอันตราย และที่ดูจะร้ายแรงที่สุดก็คือ ตู้เก็บของในห้องของลูกชายวัย 5 ขวบ ซึ่งพบว่ามีความเข้มข้นของฟอร์มาลดีไฮด์สูงถึง 4.8 หรือสูงกว่ามาตรฐานถึง 60 เท่า
หลังพยายามเจรจากับบริษัทตกแต่งภายในหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ เบื้องต้นเจ้าของบ้านจึงรื้อเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดออก และกำลังส่งเรื่องเตรียมฟ้องร้องบริษัท
เหตุเพราะ ‘ฟอร์มาลดีไฮด์’ เป็นสารเคมีไม่มีสี ไวไฟ มีกลิ่นฉุน มักใช้ในวัสดุก่อสร้างและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในครัวเรือน เช่น ผลิตภัณฑ์ไม้อัด ผลิตภัณฑ์จำพวกกาวและสารยึดติด สารเคลือบผลิตภัณฑ์กระดาษ และวัสดุฉนวนบางชนิด และนอกจากนี้ ฟอร์มาลดีไฮด์ยังนิยมใช้เป็นยาฆ่าเชื้อรา และน้ำยาฆ่าเชื้อในโรงฆ่าสัตว์ รวมถึงฆ่าเชื้อห้องปฏิบัติการทางการแพทย์
เหลียง ฉี เฉิง แพทย์แผนกฉุกเฉินจากโรงพยาบาลชื่อดัง ได้ให้ความเห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนี้ว่า การสูดดมฟอร์มาลดีไฮด์ในปริมาณเล็กน้อยอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตาและจมูก ทำให้มีน้ำตาและน้ำมูกไหล แต่ในระยะยาวอาจทำให้เกิดพิษเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลอันตรายที่สุดต่อตับ ปอด และไต และในบางกรณีอาจรุนแรงจนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง
ไม่เพียงเท่านั้น อู๋ เจี้ยนคง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ ได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า กลิ่นรุนแรงของเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นกลิ่นของฟอร์มาลดีไฮด์ การสูดดมเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง อาทิ หลอดลมอักเสบ โดยในบางงานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า สารนี้เป็นตัวการที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูกและมะเร็งลำไส้ ถึงจะป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัยแต่ก็ไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า วิธีการป้องกันสารพิษเข้าสู่ร่างกายที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือ พยายามระบายอากาศภายในบ้านให้ได้มากที่สุด “หลังจากซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่หรือเพิ่งตกแต่งภายในเสร็จ อาจต้องปล่อยทิ้งสิ่งของเหล่านั้นไว้ในจุดที่มีอากาศปลอดโปร่งเป็นเวลาสองสามสัปดาห์ เพื่อให้กลิ่นระเหยออกไป” อีกทางหนึ่งคือ “อย่าซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่จำนวนมากพร้อมกัน”
สำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางจมูก ภูมิแพ้หลอดลม และโรคหอบหืด ควรทิ้งเวลาสัก 1 – 2 เดือนก่อนที่จะย้ายเข้าบ้านที่เพิ่งปรับปรุงใหม่ และควรเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ชนิดที่ปราศจากฟอร์มาลดีไฮด์ และไม่ทาสี เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารพิษนี้
ข้อมูลจาก soha
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง