แบนเกาหลีใต้ทำพิษ นทท.ไทย บินเที่ยวเกาหลีใต้ลดฮวบ 21.1%
สื่อต่างประเทศแห่เล่นข่าว ชาวไทยแบนเกาหลีใต้ อัตรานักท่องเที่ยวไทยบินไปเกาหลีใต้ลดฮวบสูงถึง 21.1% หลังคนไทยประสบปัญหาถูกเลือก ติดตม. อย่างไร้เหตุผล
ประเทศไทยเคยเป็นประเทศอันดับ 1 ที่มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเยือนประเทศเกาหลีใต้มากที่สุด เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในปีนี้กลับตกลงมาอยู่อันดับสาม ตามหลังเวียดนามและฟิลิปปินส์
ข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี เผยให้เห็นว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน มีนักท่องเที่ยวไทยเพียง 119,000 คน เดินทางไปเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลง 21.1% หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และในทางตรงกันข้ามก็มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 86.9%
นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น 470% และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 86% รวมประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน อาทิ ฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นมากถึง 76 เปอร์เซ็นต์, อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 51 เปอร์เซ็นต์, มาเลเซียเพิ่มขึ้น 35 เปอร์เซ็นต์, เวียดนามเพิ่มขึ้น 29 เปอร์เซ็นต์ และสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อนำไปเทียบกับอัตรานักท่องเที่ยวในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด อัตราการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวไทยมีเพียง 59 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019 ช้ากว่าอัตราการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมที่ 88 เปอร์เซ็นต์
สำหรับในปี 2019 ไทยเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีนักท่องเที่ยวไปเกาหลีใต้มากที่สุด โดยมีผู้เดินทาง 572,000 คน แซงหน้าเวียดนามที่มีจำนวน 554,000 คน และฟิลิปปินส์ที่มีผู้เดินทางจำนวน 504,000 คน แต่ปีนี้ไทยตกลงมาอยู่อันดับสาม
ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมกล่าวว่า สาเหตุที่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยลดลงเกิดจากทัศนคติเชิงลบของเกาหลีใต้ ที่ฉายชัดออกมาผ่านการปฏิเสธการเข้าประเทศเกาหลีใต้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การที่คนไทยจำนวนติดตม. และถูกส่งตัวกลับ หรือการไม่ผ่าน K-ETA
การนำระบบ K-ETA (Korea Electronic Travel Authorisation) ซึ่งกำหนดให้นักเดินทาง จาก 112 ประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่าต้องลงทะเบียน และขออนุมัติการเข้าประเทศทางออนไลน์ ก่อนออกเดินทางไปยังเกาหลีใต้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญของอัตรานักท่องเที่ยวที่ลดลง เพราะแม้ว่าจะมีการยกเว้น K-ETA ชั่วคราวให้กับ 22 ประเทศ รวมถึงญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ แต่ไทยกลับไม่ได้รวมอยู่ด้วย
จำนวนผู้ที่ถูกปฏิเสธ K-ETA จำนวนมากและขาดคำอธิบายที่ชัดเจน สำหรับเหตุผลที่ถูกปฏิเสธเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนไทย อีกทั้งแม้นักเดินทางบางคนจะได้รับอนุมัติ K-ETA แล้ว แต่ก็ยังถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศเมื่อเดินทางมาถึงเกาหลีใต้ ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น
เรื่องราวการถูกปฏิเสธการเข้าเมืองเหล่านี้ได้กลายเป็นประเด็นร้อนในโซเชียลมีเดียของไทย ซึ่งมีส่วนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง
อย่างไรก็ดี ข้อกำหนดการเข้าประเทศที่เข้มงวดขึ้นสำหรับคนไทยเหล่านี้ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยเป็นแหล่งผู้อพยพผิดกฎหมายชั้นนำของเกาหลีใต้
เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวซึ่งมีเป้าหมายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ล้านคนต่อปี กังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้เข้าชมที่ลดลงจากประเทศที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เดินทางมาเกาหลีใต้
“การลดลงของนักท่องเที่ยวไทยสามารถอธิบายได้ด้วยปัญหา K-ETA เท่านั้น” เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวกล่าว “แม้ว่าเราจะขอให้มีการยกเว้น K-ETA ชั่วคราวในปีนี้ ซึ่งกำหนดให้เป็นปีแห่งการเยือนเกาหลี แต่กระทรวงยุติธรรมยังคงยืนกรานในจุดยืนของตน”
เกาหลีใต้และไทยได้กำหนดให้ปี 2566-2567 เป็น “ปีแห่งการเยือนเกาหลี-ไทยซึ่งกันและกัน” โดยหวังว่าจะกระชับความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมเน้นย้ำว่ามาตรการดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อป้องกันการเข้าเมืองผิดกฎหมายและไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อคนไทยแต่อย่างใด
ข้อมูลจาก South China Morning Post
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดรายชื่อ ‘ดาราติดตม.เกาหลี’ มีใครบ้าง พร้อมสรุปเหตุการณ์ระทึกในห้องเย็น
- ตำนานบทใหม่ “ป้าเพ็ญ ผีน้อย” โดนตม. รวบคาไลฟ์ ภาพตัดโผล่นั่งข้างลูกกรง
- คดีพลิกไหม? สาวเล่า ติด ตม.เกาหลี เพจดังแฉ เคยโพสต์กลุ่มผีน้อย