อ.เจษฎา แนะวิธีปฐมพยาบาล ถอนพิษเห็ด ย้ำชัด เอาดินฝังกลบคน “ไม่ช่วยดูดพิษ”
อาจารย์เจษฎา ตอบชัด เอาดินฝังกลบคน “ไม่ช่วยดูดพิษเห็ด” ย้ำชัด อย่าทำตาม พร้อมแนะนำวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนนำตัวส่งแพทย์
จากกรณีที่มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชาวลาวคนหนึ่ง โพสต์ภาพวิธี “ถอนพิษจากการเบื่อเห็ด” จนกลายเป็นไวรัลโด่งดัง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งในภาพได้เผยให้เห็นวิธีการสลายพิษเห็ดป่า-เห็ดเมา โดยการเอาดินฝังกลบตัว
ล่าสุด (3 มิถุนายน 2567) อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ชี้แจงความจริงในประเด็นดังกล่าว โดยระบุชัดว่า การฝังคนทึ่ได้รับพิษจากเห็ด ไม่สามารถช่วยดูดพิษหรือถอนพิษได้ ซึ่งวิธีการปฐมพยาบาลที่ดีที่สุดคือ การช่วยเร่งขับสารพิษออกจากร่างกายของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้สายยางสวนล้างกระเพาะอาหาร หรือให้ผงถ่าน เพื่อประคับประคองให้พ้นขีดอันตราย ก่อนถึงมือหมอ
“การฝังคนทึ่ได้รับพิษจากเห็ด ไม่ได้ช่วยดูดพิษถอนพิษอะไรนะครับ เป็นความเชื่อพื้นบ้านที่ไม่ควรทำตาม (พวกสมุนไพรต่าง ๆ ที่เชื่อกันว่าแก้พิษได้ ก็มักจะไม่ได้ผลด้วย) จริง ๆ ควรรีบปฐมพยาบาล และส่งแพทย์โดยด่วนครับ ไม่งั้นอาจถึงตายได้
วิธีปฐมพยาบาล ผู้ได้รับพิษจากเห็ด “การรักษาผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ ที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาประคับประคองให้ผู้ป่วยพ้นขีดอันตราย การลดปริมาณสารพิษที่ผู้ป่วยได้รับ และเร่งขับสารพิษออกจากร่างกาย ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยยังไม่อาเจียน ควรกระตุ้นให้อาเจียน หรือใช้สายยางสวนล้างกระเพาะอาหาร ในกรณีที่ทำให้อาเจียนไม่ได้, ให้ผงถ่านแก่ผู้ป่วยทุกราย และถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการท้องร่วง ควรให้ยาระบายด้วย”
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงรับประทานเห็ดมีพิษ ทางทีมไทยเกอร์ได้รวบรวม 10 วิธีการสังเกต ‘เห็ดมีพิษ’ อ้างอิงจากเว็บไซต์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยรายละเอียดเป็นดังนี้
1. เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นปุ่มขรุขระ
2. เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก
3. เห็ดที่มีขนหรือหนามเล็ก ๆ บริเวณโคน
4. เห็ดที่มีกลิ่นรุนแรงเมื่อดอกแก่
5. เห็ดที่หมวกเห็ดมีสีน้ำตาล หรือสีสันฉูดฉาดเพื่อล่อเหยื่อ
6. เห็ดที่มีลักษณะสีขาวทั้งดอก
7. เห็ดที่เกิดใกล้กับมูลสัตว์
8. เห็ดที่หมวกเห็ดมีลักษณะเป็นรูป ๆ แทนที่จะเป็นช่อง ๆ คล้ายครีบปลา
9. เห็ดที่มีลักษณะคล้ายสมอง หรืออานม้า บางชนิดต้มแล้วกินได้ แต่บางชนิดมีพิษร้ายแรง
10. เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่เกิดบนมูลสัตว์ หรือใกล้กับมูลสัตว์
อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตเหล่านี้เป็นเพียงลักษณะเบื้องต้นและลักษณะส่วนใหญ่ที่พบของเห็ดพิษเท่านั้น หากพบเห็ดใกล้ที่เคียงลักษณะดังกล่าว แนะนำให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าเห็ดลักษณะแบบนี้อาจจะเป็นเห็ดที่มีพิษ ควรหลีกเลี่ยงในการรับประทาน
ข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘อ.เจษฎา’ เตือนอันตราย ‘รีฟีดดิ้ง ซินโดรม’ ภาวะหลังเลิกอดข้าว และกลับมากินใหม่
- รู้หรือไม่ “เพิ่มระยะรีโมตรถ ด้วยการกดจิ้มหัว” ทำได้จริง ‘อ.เจษฏา’ ชี้ เป็นเรื่องฟิสิกส์
- อ.เจษฎา เทียบภาพสลักโบราณกลางป่าบุรีรัมย์ คล้าย บรมพุทโธ เกาะชวา ยังระบุอายุไม่ได้